มาเลเซียและอินโดนีเซีย ยินยอมให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้อพยพเรือ
2015.05.21
ในการพลิกผันครั้งใหญ่ของนโยบาย เมื่อวันพุธ มาเลเซียและอินโดนีเซียยินยอมที่จะให้ผู้อพยพราว 7,000 คน ที่ลอยเรืออยู่กลางทะเล ขึ้นฝั่งประเทศของตนได้ โดยกล่าวว่าจะยอมให้ที่พักพิงโดยมีเงื่อนไขแก่ผู้อพยพเหล่านี้ เป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปี
ประกาศดังกล่าวมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่ชาวประมงทางภาคตะวันตกของอินโดนีเซีย ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพอีก 433 คน จากเรือไม้ลำหนึ่งที่ลอยลำอยู่ในช่องแคบมะละกาเป็นเวลาหกวัน เนื่องจากถูกกองทัพเรือของไทย และมาเลเซีย ผลักดันออกไปหลายครั้ง
ต่อมา สหรัฐอเมริกาและแกมเบียได้เสนอให้ความช่วยเหลือในการตั้งถิ่นฐานใหม่แก่ชาวมุสลิมโรฮีนจา ที่หลบหนีจากการถูกกดขี่ในประเทศเมียนมา
"สหรัฐฯ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือบรรดาประเทศในภูมิภาคนี้ ที่รับภาระ และช่วยชีวิตผู้อพยพในวันนี้” มารี ฮาร์ฟ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ บอกในระหว่างการบรรยายสรุปในกรุงวอชิงตัน
แกมเบีย ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ประกาศว่าเต็มใจที่จะรับผู้ลี้ภัยโรฮีนจา ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี
"รัฐบาลแกมเบีย เห็นสภาพที่ถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมต่อชาวโรฮีนจาในเมียนมา และรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะชาวโรฮีนจาที่ถูกเรียกว่า ‘มนุษย์เรือ’ ซึ่งขณะนี้กำลังลอยเคว้งคว้างอยู่ในทะเล นอกชายฝั่งของมาเลเซียและอินโดนีเซีย” รัฐบาลแกมเบียกล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง
"ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน และยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะชาวมุสลิมด้วยกัน เป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยบรรเทาความยากลำบาก และทุกข์ทรมานอันเหลือจะกล่าว ซึ่งเพื่อนมนุษย์ด้วยกันกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้”
ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ฟิลิปปินส์กล่าวว่า ฟิลิปปินส์เตรียมพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศที่ลอยเรืออยู่กลางทะเล เนื่องจากไทยเริ่มมาตรการกวดขันการลักลอบอพยพผิดกฎหมาย เมื่อต้นเดือนมานี้
พลิกผันนโยบาย
หลังการประชุมเมื่อวันพุธในเมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย มาเลเซียและอินโดนีเซียประกาศพลิกผันนโยบาย
หลังจากที่ผู้อพยพราว 2,300 คน ได้ขึ้นฝั่งของมาเลเซียและอินโดนีเซียเมื่อต้นเดือนนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สองประเทศนี้ได้เริ่มผลักดันผู้อพยพที่อยู่ในเรือ จนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
“อินโดนีเซียและมาเลเซีย ยินยอมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป แก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ที่ยังค้างอยู่กลางทะเลจำนวน 7,000 คนนี้” นาย อนิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย กล่าว หลังการประชุมนั้น โดยอ่านจากแถลงการณ์ร่วมฉบับหนึ่ง
“เรายังยินยอมที่จะให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้อพยพเหล่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าประชาคมระหว่างประเทศ จะดำเนินการตั้งถิ่นฐานใหม่ และส่งผู้อพยพเหล่านี้กลับประเทศเดิม ให้เสร็จภายในหนึ่งปี” เขาเสริม
แต่ไทย ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวด้วย ไม่ได้ตกลงที่จะรับผู้อพยพชาวบังกลาเทศ และชาวมุสลิมโรฮีนจา จำนวนใดก็ตามจากหลายพันคน ที่ยังคงลอยเรืออยู่ในน่านน้ำในภูมิภาค
ในกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยปฏิเสธว่า กองทัพเรือไม่ได้ผลักดันเรือบรรทุกผู้อพยพออกไป แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้บอกว่าจะยอมให้ผู้อพยพเหล่านี้ขึ้นฝั่ง
“ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ [จะ] ไม่ผลักดันผู้อพยพที่ลอยลำอยู่ในน่านน้ำอาณาเขตของไทย” กระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ รัฐบาลไทยกล่าวว่าจะให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้อพยพจำนวน 313 คน ที่ถูกกักตัวไว้ในภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม
“เมื่อพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับชาวโรฮีนจา ประเทศไทยเป็นประเทศกลางทาง ซึ่งไม่ใช่ประเทศปลายทางที่ชาวโรฮีนจาต้องการจะเดินทางเข้ามา” พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก บอกแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธ
“หากประเทศใดที่มีความพร้อม และเห็นใจชาวโรฮีนจาจริง ก็น่าจะรับไปดูแล”
เมียนมาจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด
เมื่อวันพุธ เมียนมาก็เป็นอีกประเทศที่พลิกผันนโยบายทางการทูต โดยกล่าวว่าจะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสุดยอด ในหัวข้อการค้ามนุษย์และวิกฤตผู้อพยพในภูมิภาค ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 29 พฤษภาคม
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมียนมาไม่แน่ใจว่าจะส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวหรือไม่ และยังปฏิเสธคำกล่าวอ้างของนานาประเทศที่ว่า อาณาเขตของเมียนมาเป็นจุดต้นทางสำหรับการอพยพของชาวโรฮีนจา
“เราทั้งหมดต้องนั่งลง และพิจารณาว่าจะจัดการกับปัญหานี้ด้วยกันอย่างไร” นายตัน จ่อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา กล่าวในกรุงเทพฯ ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
ขณะเดียวกัน เมื่อเช้าวันพุธ เกิดเหตุขึ้นอีกในทะเลหลวง เมื่อชาวประมงจากจังหวัดอาเจะห์ ทางตะวันตกของอินโดนีเซีย ช่วยเหลือผู้อพยพอีก 433 คน จากเรือลำหนึ่งในช่องแคบมะละกา
มูฮัมหมัด ซาลิม วัย 23 ปี ชายชาวโรฮีนจาคนหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม หลังจากที่เรือลำนั้นเข้าสู่น่านน้ำไทยใกล้กับเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เรือดังกล่าวได้รับเสบียงเพิ่มและถูกคุ้มกันให้กลับออกสู่ทะเล
ต่อมา เรือลำนั้นถูกพบเห็นโดยกองทัพเรือของมาเลเซีย และถูกไล่ออกไป
“พวกเขาพูดว่า ถ้าไม่ออกไปภายใน 10 นาที เราจะยิงพวกคุณ” ซาลิมกล่าว
เนอร์ดิน ฮาซัน และ ภิมุข รักขนาม ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในรายงานชิ้นนี้