ประเทศไทย: ตัวแทนพูดคุยสันติสุขมาเลเซีย เริ่มต้นเจรจาเบื้องต้นกับกลุ่มผู้เห็นต่าง

ฮาดี อัซมี และมารียัม อัฮหมัด
2018.12.27
กัวลาลัมเปอร์ และปัตตานี
181227-TH-violence-800.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุระเบิด ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตสามนาย ในจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559
เอเอฟพี

ผู้อำนวยความสะดวกคนล่าสุดฝ่ายมาเลเซีย ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขของพื้นที่ชายแดนใต้ของประเทศไทย ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันพฤหัสบดีว่า ตนได้ติดต่อกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ยังไม่ได้ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยฯ นี้ และเริ่มต้น “กระบวนการสนทนา” กับกลุ่มดังกล่าวแล้ว

อับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย เปิดเผยให้ทราบพร้อมทั้งยืนยันว่า ในวันที่ 4 มกราคม ศกหน้า ตนจะเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อเข้าพบหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทย หนึ่งในผู้ที่ประสงค์จะคุยกับทุกกลุ่มอย่างแท้จริง และให้มีตัวแทนจากทุกกลุ่มเข้าร่วมคุย รวมถึงตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น ให้มาร่วมโต๊ะเจรจา

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีการติดต่อกับกลุ่มดังกล่าวของบีอาร์เอ็นหรือไม่ อับดุล ราฮิม นูร์ ตอบว่า “มีครับ” และกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเพียงการสนทนาเบื้องต้นเท่านั้น

“คำศัพท์อย่างเป็นทางการคือ ‘กระบวนการสนทนา’ เพราะไม่ใช่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือการเจรจาต่อรอง แต่เป็นการสนทนา” อับดุล ราฮิม นูร์กล่าวทางโทรศัพท์

นอกจากนี้ อับดุล ราฮิม นูร์ ยังตอบคำถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการเข้าพบ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย ในสัปดาห์หน้าว่า จะเป็น “ขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหวังกันว่าจะลงเอยด้วยสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างคู่กรณีทั้งสอง”

อับดุล ราฮิม นูร์ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในเดือนสิงหาคม เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก ในการพูดคุยระหว่างรัฐบาลทหารของไทยกับกลุ่มมาราปาตานี โดยมีมาเลเซียเป็นสื่อกลาง กลุ่มดังกล่าวเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายกลุ่มในกระบวนการพูดคุยฯ นี้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยุติความขัดแย้งข้ามทศวรรษ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่

บีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธที่ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุด มีตัวแทนอยู่ในกลุ่มเจรจาก็จริง แต่ผู้นำของกลุ่ม ซึ่งถือว่า มีอำนาจที่สุดและควบคุมกลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่ ไม่ยอมเข้าร่วมโต๊ะเจรจาที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2558

และต่อคำถามที่ว่า ตัวแทนของกลุ่มมาราปาตานีจะเข้าร่วมการเจรจาที่จะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ในกรุงเทพฯ หรือไม่ นายอาบู ฮาฟิส อัล-ฮากิม โฆษกของกลุ่ม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “เราไม่เกี่ยวข้องด้วย”

การพูดคุยระหว่างกลุ่มมาราปาตานีกับรัฐบาลไทย “ยังคงไม่เดินหน้า” เขากล่าว เป็นนัยถึงการพูดคุยที่ชะงักไปตั้งแต่ต้นปี 2561

เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อกับอับดุล ราฮิม นูร์ และอาบู ฮาฟิส อัลฮากิม ในวันพฤหัสบดีนี้ หลังจากที่ได้รับสำเนากำหนดการทำงานของคณะพูดคุยฯ จากสำนักงานเลขาธิการของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทย ในชายแดนภาคใต้ โดยระบุถึงการประชุมพบปะ ในวันที่ 4 มกราคมและกำหนดการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

วาระการประชุมยังแจ้งให้ทราบด้วยว่า การประชุมในวันที่ 4 มกราคม จะเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการแนะนำตัวและพูดคุยกรอบการทำงานร่วมกัน ระหว่าง “ผู้อำนวยความสะดวก” ของประเทศมาเลเซียและคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขเต็มคณะฝ่ายไทย

ส่วนงานอื่น ๆ ที่ระบุไว้ในวาระการประชุมประกอบด้วย การประชุมที่ค่ายเสนาณรงค์ ในชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 8 มกราคม ตามด้วยงานแถลงข่าววันถัดไป โดยคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดปัตตานี โดยจะมีกลุ่มภาคประชาสังคมท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย

วาระการประชุมไม่ได้ระบุว่า ผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียจะไปร่วมงานอื่น ๆ ตามกำหนดการด้วยหรือไม่

จากนั้น ในวันที่ 11 มกราคม คณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทยจะจัดงานแถลงข่าวแนะนำคณะพูดคุยฯ ชี้แจงแนวทางการทำงาน และรับฟังความคิดเห็น ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ในกรุงเทพฯ

มหาเธร์: ‘เราต้องรับฟังมุมมองจากทุกกลุ่ม

อับดุล ราฮิม นูร์ และผู้ประสานงานฝ่ายไทย ซึ่งเข้ารับตำแหน่งแทน พล.อ.อักษรา เกิดผล ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย เมื่อเดือนตุลาคม มีโอกาสพบปะกันเป็นครั้งแรกในระหว่างที่ นายมหาเธร์ โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากที่เข้ากุมอำนาจเป็นวาระที่สองด้วยการนำพรรคฝ่ายค้านชิงชัยชนะอย่างน่าทึ่งในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือนพฤษภาคม

ระหว่างการเยือนประเทศไทยเมื่อสองเดือนก่อน มหาเธร์ ได้ปฏิญาณว่ารัฐบาลของตนจะ “ช่วยเหลือทุกวิถีทางเพื่อยุติความรุนแรงนี้” ซึ่งหมายถึงข้อพิพาทในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

และระหว่างการเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นครั้งที่สองในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้นำมาเลเซียได้แถลงข่าวที่ มหาวิทยาลัยรังสิตว่า การแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลา

นายกฯ มหาเธร์ กล่าว โดยสำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซียรายงาน ว่า “การหาคำตอบให้ปัญหาชายแดนใต้ของไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความขัดแย้งมีความเกี่ยวข้องกับหลายกลุ่ม”

“เราต้องรับฟังมุมมองจากทุกกลุ่ม นอกไปจากการรับรู้ในสิ่งที่พวกเขาสนใจ”

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแสดงข้อคิดเห็นล่าสุดนี้ในช่วงสองสัปดาห์หลังจากที่ พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ได้กล่าวว่า ตนขอให้นายอับดุล ราฮิม นูร์ เชิญประธานสภาการปกครองของบีอาร์เอ็นคือ ดูนเลาะ แวมะนอ (นามแฝงว่า อับดุลเลาะห์ วันมะนอ) มาร่วมโต๊ะเจรจาด้วย

“ขณะนี้ กำลังฟอร์มทีมพูดคุยทีมใหม่ทั้งหมด โดยแนวทางที่จะดำเนินการ คือ คณะพุดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างกลุ่มต่างๆ และ มาราปาตานี เราอยากคุยกับตัวแทนของทุกกลุ่มอย่างแท้จริง และต้องมีตัวแทนจากทุกกลุ่มเข้าร่วม” พล.อ.อุดมชัยกล่าวกับเบนาร์นิวส์ในเวลานั้น โดยเอ่ยชื่อองค์กรที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จังหวัดชายแดนใต้ของไทย ประกอบด้วยประชาชนชาวมุสลิมที่ใช้ภาษามลายูเป็นส่วนใหญ่ มีอาณาเขตจรดกับประเทศมาเลเซีย และครอบคลุมจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา รวมทั้ง 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ประชาชนจำนวนเกือบ 7,000 คน ต้องสูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ดังกล่าว นับตั้งแต่สถานการณ์ความไม่สงบที่ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อ 14 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง