ผู้เชี่ยวชาญไม่คาดหวังในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

อิมราน วิตตาชิ และ เคท เบดดัลล์
2015.11.18
Share on WhatsApp
Share on WhatsApp
TH-MY-peacetalk-1000 คณะผุ้แทนเจรจาของมาราปาตานี (MARA Patani – Majis Syura Patani) นำโดย นายอาวัง ญาบัติ (กลาง) แกนนำบีอาร์เอ็น ในงานแถลงข่าว ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 27 ส.ค. 2558
เอเอฟพี

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลทหารของไทยในการรื้อฟื้นกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข กับกลุ่มผู้เห็นต่างในภาคใต้ ดูเหมือนคงจะไม่เป็นผลสำเร็จ เมื่อผู้เห็นต่างกลุ่มสำคัญได้ละทิ้งความพยายามในการพูดคุยลับ อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเปิดการพูดคุยอย่างเป็นทางการขึ้นอีกครั้ง บรรดานักวิเคราะห์กล่าว

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ผู้เห็นต่างคิดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรนักจากการพูดคุยกับรัฐบาลทหาร โดยขาดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโอนอำนาจทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจให้

“สำหรับในขณะนี้ ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการพูดคุย ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพียงแต่ลมปากเท่านั้น” แมตต์ วีลเลอร์ นักวิเคราะห์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ และทำการวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก บอกแก่เบนาร์นิวส์เมื่อวันอังคาร

“ลักษณะเด่นของคสช. คือ ความเป็นเอกภาพและชาตินิยม” เขากล่าวในอีเมลฉบับหนึ่ง โดยใช้อักษรย่อของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นชื่อทางการของรัฐบาลทหารไทย “คสช. ไม่มีแนวโน้มที่จะยอมตามในสิ่งที่เห็นว่า จะนำไปสู่การสูญเสียอำนาจอธิปไตยของประเทศ”

แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ที่มีกำลังและอาวุธมากที่สุด “ตระหนักถึงข้อนี้ดี ดังนั้น จึงกังขาความจริงใจของรัฐบาลไทย” วีลเลอร์เสริม “เพราะฉะนั้น จึงไม่มีฝ่ายใดเผยให้เห็นถึงความพร้อมที่จะทำการพูดคุยประนีประนอม"

ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งกับผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ชายแดนทางตอนใต้ของไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในพื้นที่นั้นนับถือศาสนาอิสลามและพูดภาษามาเลย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า  6,000 คน

ไม่มีอะไรมาเสนอ

นับแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทางการไทย และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประชุมกันอย่างลับ ๆ และไม่เป็นทางการ โดยมีมาเลเซียเป็นตัวกลาง การประชุมเหล่านั้นมุ่งที่การเปิดการพูดคุยเพื่อสันติขึ้นใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ชะงักไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งในขณะนั้น รัฐบาลพลเรือนยังอยู่ในอำนาจ

กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและกลุ่มย่อยต่าง ๆ ได้จัดตั้งองค์กรร่มขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า กลุ่มมารา ปาตานี เพื่อเจรจากับรัฐบาลไทย ในการปรากฏตัวของผู้ร่วมเจรจาขององค์กรมาราปาตานี 7 คน นั้น มีผู้แทนจำนวนสามคนจากบีอาร์เอ็นรวมอยู่ด้วย เมื่อทำการแถลงข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม

นับแต่นั้นมา บีอาร์เอ็นได้ถอนตัวออกจากกระบวนการเพื่อสันติ ตามคำกล่าวของวีลเลอร์ และซาคารี อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่ง เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ แม้ว่าทางกลุ่มเองจะยังไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนก็ตาม

“กลุ่มนี้เพียงแต่บอกว่า ไม่มีการเสนออะไรให้แก่เรา ซึ่งจะทำให้เราเต็มใจอยากเข้าร่วมการเจรจา” อาบูซา อาจารย์ประจำ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน ดี.ซี. บอกแก่เบนาร์นิวส์ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

เขามองว่าความหวังที่จะเกิดการพูดคุยสันติสุขขึ้นนั้นริบหรี่ลงเรื่อย ๆ แม้จะชี้ว่า บรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ รวมทั้งรัฐบาลไทยและมาเลเซีย และผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มเล็ก ๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย คงจะดำเนินการพูดคุยต่อไป

“รัฐบาลแถลงมาตลอดว่า มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำการพูดคุย และอยากเริ่มการพูดคุยอีกครั้ง แต่ในข้อเสนอกลับไม่มีอะไรที่จะทำให้ผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มต่าง ๆ เข้าสู่โต๊ะเจรจา” เขากล่าว

“ผมไม่คิดว่ารัฐบาลจริงจังกับสิ่งที่พูด หากสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องการคือ ให้ผู้ก่อความไม่สงบเข้าสู่โต๊ะเจรจา และยอมแพ้ ไม่มีอะไรที่รัฐบาลพร้อมที่จะเจรจาในขณะนี้” อาบูซาเสริม

เจรจาต่อหรือถอนตัว

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. บีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งที่มีความยาวสี่หน้า โดยแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงกับกระบวนการใหม่เพื่อสันติสุขนั้น

“แถลงการณ์ที่ออกโดยแผนกสารสนเทศของกลุ่มบีอาร์เอ็น มีความชัดเจนว่า ขณะนี้กลุ่มไม่ได้กำลังเข้าร่วมในกระบวนการเพื่อสันติ” วีลเลอร์กล่าว

ยังมีสมาชิกสามราย ในองค์กรมาราปาตานี อ้างว่าตนเองเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นนั้น เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากบีอาร์เอ็นหรือว่าเป็นตัวแทนที่จะเข้ามาสอดส่ององค์กรมาราปาตานีอย่างใกล้ชิดกันแน่

สมาชิกในกลุ่มมารา ปาตานี ผู้ที่ระบุว่าตัวเองเป็นสมาชิกของบีอาร์เอ็น ปฏิเสธที่จะตอบคำถามของเบนาร์นิวส์ ที่ว่าบีอาร์เอ็นได้ถอนตัวจากกระบวนการสันติสุขไปแล้วหรือไม่

อาจมีการถกกันภายในกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ อาบูซากล่าว

“มีคนในบีอาร์เอ็นหลายคนที่บอกว่า การพูดคุยสันติสุขเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่ก็มีบางคนที่บอกว่า การพูดคุยสันติสุขจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะมาเลเซียและไทยจะทำให้มันเกิดขึ้น ดังนั้น ไหน ๆ ก็ไหน ๆ เราก็น่าจะเข้าร่วมด้วย”

ในมาเลเซีย ประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม การพูดคุยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองฝ่าย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวไทยเชื้อสายมลายู ที่นับถือศาสนาอิสลาม ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มาเลเซียได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกในความพยายามพูดคุยเพื่อสันติดังกล่าว

มีสมาชิกของกลุ่มผู้เห็นต่างจำนวนหนึ่งที่เข้ามาร่วมในองค์กรมาราปาตานี คือ กลุ่ม Gerakan Mujahideen Islami Patani (จีเอ็มไอพี), Barisan Islam Pembebasan Patani (บีไอพีพี) และองค์กรปลดปล่อยปาตานี (พูโล) กำลังหวังที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมืองจากการพูดคุยเหล่านั้น อาบูซากล่าว      

“กลุ่มย่อยๆเหล่านี้ มีกำลังพลจำนวนเล็กน้อยมาก ดังนั้นจึงกำลังหวังผลประโยชน์บางอย่าง จากการพูดคุยสันติสุขเหล่านี้ ทั้งที่ไม่มีอะไรจะเสนอให้” เขากล่าว

หลังจากนั้น บีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ โดย พ.อ. กัสตูรี มาห์โกตา โฆษกของกลุ่มมารา ปาตานี ผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มพูโล บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า กระบวนการเพื่อสันติมีความคืบหน้าตามแผนที่ได้วางไว้

“มารา ปาตานี จะดำเนินการเจรจาต่อไป และจะทำให้แน่ใจว่า จะเป็นการพูดคุยอย่างทางการในอนาคตอันใกล้นี้” เขากล่าว และเสริมต่อไปว่า “โดยส่วนตัวแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นภายในบีอาร์เอ็น นั่นคือ การที่มีทั้งคนที่เห็นด้วย และ ต่อต้านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติ ถือเป็นเรื่องปกติ”

การสนับสนุนจากคนในท้องที่

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยกล่าวว่า การพูดคุยจะมีความคืบหน้าในเร็ว ๆ นี้

เมื่อเดือนตุลาคม พล.ท. นักรบ บุญบัวทอง เลขาธิการ คณะพูดคุยสันติสุขของไทย บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า จะเปิดให้มีการพูดคุยสันติสุขอย่างเป็นทางการในเดือนนี้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ. อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข กล่าวว่า การพูดคุยนอกรอบในครั้งหน้า จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม

ผศ. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง และสนับสนุนกระบวนสันติภาพ มีฐานอยู่ในจังหวัดปัตตานี ไม่เห็นด้วยกับการประเมินสถานการณ์ที่ว่า ความพยายามพูดคุยเพื่อสันติกำลังสะดุดหยุดลง

“นับแต่ที่มีการปรากฏตัวของกลุ่มมารา ปาตานี กลุ่มนี้แสดงภาพลักษณ์ที่ชัดเจน และคนในท้องที่ต่างก็เข้าใจเป้าหมาย และวิธีการของกลุ่ม ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับการพูดคุยต่อไป” ผศ. ศรีสมภพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ในเรื่องความจริงใจของรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย เราเห็นได้ว่ามีเอกสารที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้มีการพูดคุยสันติสุขเกิดขึ้น และมีโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนสันติภาพ” เขาเสริม

ภิมุข รักขนาม, ฮาตา วาฮารี และนาซือเราะ มีส่วนร่วมในรายงานชิ้นนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง