ประวิตร ประสงค์ให้บีอาร์เอ็นร่วมโต๊ะเจรจา

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.11.21
กรุงเทพฯ
181121-TH-MY-prawit-talks-800.jpg นายฮาจิ โมฮาเหม็ด บิน ซาบู รัฐมนตรีว่าการะทรวงกลาโหม ประเทศมาเลเซีย ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศที่กระทรวงกลาโหม ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561
ภาพโดย กระทรวงกลาโหม

ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายฮาจิ โมฮาเหม็ด บิน ซาบู (Haji Mohamad bin Sabu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศมาเลเซีย ได้ร่วมถกปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพลเอกประวิตรแสดงความประสงค์อยากให้ขบวนการบีอาร์เอ็นเข้าร่วมโต๊ะเจรจาด้วย

พล.อ.ประวิตร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่กระทรวงกลาโหมว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้พบปะกับนายฮาจิ โมฮัมเหม็ด บิน ซาบู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซีย ซึ่งเพิ่งได้รับตำแหน่งใหม่ในรัฐบาลใหม่ของมาเลเซียและได้เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวานนี้ ได้มีการหารือในหลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทางประเทศมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุข ได้ประสานงานให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทุกกลุ่มเข้ามาพูดคุยแล้ว ยกเว้นกลุ่มบีอาร์เอ็น (ปีกทหาร) ที่ยังไม่ได้เข้าร่วม

“ตอนนี้มีความคืบหน้าไปเยอะแล้ว ทางผู้ประสานงานเขาดำเนินการให้เราอย่างดี เหลือเพียงกลุ่มที่จะเข้าร่วมการเจรจายังเข้ามาไม่หมด เหลือกลุ่มบีอาร์เอ็น ยังไม่เข้ามาอย่างเดียว สายการเมืองก็มาแล้ว เราอยากให้มาให้หมดเพื่อจะคุยกัน” พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว โดยอ้างถึงปีกทหารของขบวนการบีอาร์เอ็น

“มาเลเซียให้ความร่วมมือเราดีมาก... 4 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ปัญหาในภาคใต้โดยภาพรวมดีขึ้น เหตุการณ์ความไม่สงบน้อยลง การบาดเจ็บน้อยลง ทุกอย่างน้อยลง” พล.อ.ประวิตรกล่าวเพิ่มเติม

มาเลเซีย ได้ตกลงใจเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยและฝ่ายกลุ่มแบ่งแยกดินแดน มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556 จนกระทั่งฝ่ายขบวนการได้รวมกลุ่มเป็นองค์กรร่ม “มาราปาตานี” ในปี 2558 โดยมีนายสุกรี ฮารี สมาชิกบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าการเจรจาขององค์กรมาราปาตานี โดยมีสมาชิกจากกลุ่มต่างๆ อีก 6 คน เป็นแกนนำ ได้แก่ สมาชิกจากขบวนการบีอาร์เอ็นอีกสองราย กลุ่มบีไอพีพี กลุ่มจีเอ็มไอพี กลุ่มพูโล-เอ็มพีเค และกลุ่มพูโล-ดีเอสเอสพี

อย่างไรก็ตาม สำนักประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็นกลับออกมาแถลงทางยูทูบว่า บีอาร์เอ็น ต้องการให้ไทยเจรจากับทางขบวนการโดยตรง และให้มีตัวแทนนานาชาติสังเกตุการณ์ แต่ไม่ได้กล่าวถึง ตัวแทนบีอาร์เอ็น ที่อยู่ในมาราปาตานี

ด้านนายฮาจิ โมฮาเหม็ด บิน ซาบู กล่าวตอบว่า ยินดีให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดน และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเห็นด้วยในข้อเสนอที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศตามที่ฝ่ายไทยเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาบุคคลสองสัญชาติ และปัญหาความมั่นคงด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ของการท่องเที่ยว การค้าขายตามแนวชายแดน และสันติสุขร่วมกันของประชาชนทั้งสองประเทศ

โดยในช่วงสายของวันเดียวกัน นายฮาจิ โมฮาเหม็ด บิน ซาบู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซีย เข้าพบพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองได้หารือกันในเรื่องความร่วมมือกันทางทหารและความมั่นคง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซียระบุว่า มาเลเซียพร้อมสนับสนุนความร่วมมือทุกรูปแบบโดยครอบคลุมทุกมิติเพื่อทำงานร่วมกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสองประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ทั้งในระดับผู้นำและประชาชนสองประเทศเดินทางไปมาหาสู่อย่างสม่ำเสมอ

พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือว่า ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและมาเลเซียมีความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้ฝ่ายมาเลเซียเร่งรัดการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างชายแดนของทั้งสองประเทศอย่างไร้รอยต่อ ทั้งด้านถนน สะพาน ด่านศุลกากร เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

“นายกรัฐมนตรียังกล่าวชื่นชมมาเลเซียที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ ด้านการอำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลยืนยันเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสันติวิธี” พล.ท.วีรชน ระบุ

มาเลเซียสัญญาช่วยไทยแก้ปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดน

เมื่อปลายเดือนตุลาคม นี้ นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และได้ให้สัญญาต่อนายกรัฐมนตรีไทยว่า จะช่วยแก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดน เพราะไทยมีบุญคุณ เคยช่วยมาเลเซียยุติบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่เป็นภัยคุกคามมาเลเซีย เมื่อสามสิบปีก่อน

นอกจากนั้น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ และนายอับดุล ราฮิม นูร์ หัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยฯ ฝ่ายมาเลเซียคนใหม่ ได้พูดคุยกันในกรุงเทพ โดยพล.อ.อุดมชัย กล่าวว่า ประเทศไทยเปิดกว้างพร้อมคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐบาลทุกกลุ่ม

สำนักข่าวเบอร์นามา ได้รายงานในขณะนั้นว่า นายอับดุล ราฮิม ได้เปิดเผยว่า เขาตั้งใจที่จะสื่อสารกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทั้งในระดับกลางและระดับนิยมความรุนแรง โดยได้มีการพูดคุยกับกลุ่มก่อการทั้งสองระดับแล้วด้วย ในช่วงสามเดือนแรกของการเริ่มงานในฐานะผู้อำนวยความสะดวก

ในเรื่องนี้ นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์อิสระด้านสถานการณ์ชายแดนใต้ กล่าวว่า การเจรจานั้นจะไม่มีความหมาย หากว่าระดับแกนนำของบีอาร์เอ็นไม่ร่วมเจรจาด้วย โดยนางสาวรุ่งรวี กล่าวว่า บีอาร์เอ็นพร้อมที่จะร่วมเจรจา หากไทยอนุญาตให้มีนานาชาติร่วมสังเกตการณ์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง