มาราปาตานี: ยืนยันมีสมาชิกบีอาร์เอ็นร่วมการเจรจาสันติสุข

มารียัม อัฮหมัด ราซลาน ราชิด และนานี ยูโซฟ
2017.09.18
ปัตตานี กัวลาลัมเปอร์ และ วอชิงตันดีซี
170918-TH-bomb-1000.jpg เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบสถานที่ที่ถูกวางระเบิดกลางฝน หน้าห้างบิ๊กซี จังหวัดปัตตานี วันที่ 9 พฤษภาคม 2560
เอเอฟพี

โฆษกของกลุ่มมาราปาตานียืนยัน ในวันจันทร์นี้ (18 กันยายน 2560) ถึงคำกล่าวที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทย มีในวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า สมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นส่วนหนึ่งในผู้ร่วมการเจรจาสันติสุขกับรัฐบาลไทย และการเจรจายังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะถูกทอนให้สั้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายอาบูฮาฟิซ ได้กล่าวสนับสนุนคำกล่าวของ พลเอกอักษรา เกิดผล เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า สมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นส่วนหนึ่งในผู้ร่วมการเจรจาสันติสุขกับรัฐบาลไทย และการเจรจายังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะถูกทอนให้สั้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

"อาวัง ยะบะ เป็นประธาน ของมาราปาตานี เขาไม่ได้อยู่ในทีมการพูดคุย สุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าทีมเจรจา ขณะที่ อาหมัด ชูโว ยังอยู่ในทีมเจรจา ทุกคนล้วนเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น" นายอาบูฮาฟิซ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

"ไม่อยากแสดงความเห็น ในรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ เพราะบุคคลผู้นั้น [สมาชิกบีอาร์เอ็น] ไม่มีอำนาจในการออกความเห็นในนามกลุ่มบีอาร์เอ็น แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นสมาชิกของบีอาร์เอ็น เขาอาจจะพูดในความเห็นส่วนตัว" อาบูฮาฟิซ กล่าวอีกว่า สมาชิกสามในเจ็ดคนของ กลุ่มมาราปาตานี ที่อยู่ในทีมการเจรจาทางเทคนิค เป็นสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็น

โดยในวันเดียวกันก่อนหน้านี้ นายอาบูฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษก มาราปาตานี ได้ส่งแถลงการณ์ผ่านสื่อมวลชน ว่าการเจรจากับทหารของไทยถึงเรื่องการจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยจะเดินหน้าต่อไปในปลายเดือนนี้ ส่วนเหตุล่าช้าลงเพราะปัญหาทางเทคนิคในรายละเอียดบางประการ ซึ่งมาราปาตานี มีความพร้อมที่จะให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ นายอาบูฮาฟิซ ยังได้กล่าวถึงสื่อมวลชนไทยบางรายที่ได้เสนอรายงานเกี่ยวกับการเจรจาของทีมเทคนิคร่วมไทย-มาราปาตานีล้มลงว่า เป็นการสรุปความเกินความเป็นจริง

“ผมอยากจะย้ำอีกครั้งในที่นี้ว่า กระบวนการเจรจาสันติภาพยังคงดำเนินต่อไป และทั้งสองฝ่ายเห็นพร้อมกันว่าจะมีการพบปะกันอีกครั้งในตอนสิ้นเดือนนี้ เรื่องนี้ มีการตั้งใจขยายความเกินจริง เพื่อดิสเครดิตกระบวนการพูดคุย” อาบูฮาฟิซ กล่าวในแถลงการณ์ที่ออกมาเป็นภาษามลายูและภาษาอังกฤษ

“ในตอนนี้ ยังมีรายละเอียดบางประการเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะจากฝั่งไทยที่ยังไม่ได้ขัดเกลาให้น่าพอใจ ยังต้องมีการพูดคุยเพิ่มเติมและทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น หมายถึงการจัดตั้งพื้นที่จะล่าช้าลงเล็กน้อย”

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกันว่า ทั้งสองฝ่าย พร้อมในการร่วมมือในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย แต่ยังมีรายละเอียดการเตรียมความพร้อมในการรับหลักการพื้นที่ปลอดภัย ที่จะนำสู่การพิจารณาในคณะพูดคุยฯ ชุดใหญ่ต่อไป

“เขา (มาราปาตานี) พร้อมร่วมมือในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย แต่ยังมีรายละเอียดขั้นตอนในการรับหลักการพื้นที่ปลอดภัย” พลเอกอักษรา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

พลเอกอักษรากล่าวว่า การปรุะชุม เมื่อวันที่ 11-12 กันยายนนี้ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียนั้น เพื่อการเลือกพื้นที่ในหนึ่งอำเภอขึ้นมา เพื่อจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัย หลังจากที่ทางมาราปาตานีได้เสนอรายชื่ออำเภอที่มีความเป็นไปได้มาให้ทางฝ่ายไทยในก่อนหน้านี้ พลเอกอักษรา ยังได้ยืนยันว่า สมาชิกบีอาร์เอ็นสามราย ที่ประกอบด้วยนายอาวัง ยะบะ นายสุกรี ฮารี และนายอาหมัด ชูโว นั้น “เป็นตัวจริง”

“ที่ว่าไม่ใช่ตัวจริงนั้น ไม่ถูกต้อง ที่พูดคุยอยู่ ก็คือ บีอาร์เอ็นหลัก... ส่วนที่ว่า คุยผิดคน แล้วยังมีเหตุรุนแรงนั้น ไม่ถูกต้อง ไม่เกี่ยวเนื่องกัน”

ในเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขและมาราปาตานี ได้มีความเห็นชอบร่วมกันในหลักการว่า จะจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยในอำเภอใดอำเภอหนึ่ง ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นพื้นที่ทดสอบความไว้วางใจระหว่างกัน อันเป็นหนึ่งขั้นตอนการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรงและการก่อความไม่สงบ

โดยเหตุการณ์รุนแรงล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม ผู้ก่อความไม่สงบถูกยิงเสียชีวิตหนึ่งราย ในการปะทะกับเจ้าหน้าที่ โดยผู้ก่อความไม่สงบได้จับพนักงานเต๊นท์รถยนต์สี่รายเป็นตัวประกัน และยิงเสียชีวิตไปหนึ่งราย หลังคนร้ายทั้ง 7 คน เข้าปล้นรถยนต์จากเต๊นท์รถมือสอง ในอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เพื่อไปประกอบเป็นคาร์บอมบ์ และในเดือนพฤษภาคม มีเหตุการณ์วางระเบิดสองลูกซ้อน หน้าห้างบิ๊กซี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 80 ราย

สำหรับนายอาบูดอเลาะ สาแล ชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี กลับมองว่า ทั้งสองฝ่ายต่างมีเป้าหมายในการเจรจาของตนเองที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้

"ทุกครั้งที่มีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายที่อ้างว่าเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ล้มไม่เป็นท่าทุกครั้ง เพราะทั้งสองฝ่าย ต่างมีธงของตัวเอง อีกทั้ง ทั้งสองฝ่ายที่ร่วมเจรจาไม่มีอำนาจตัดสินใจ มันจึงทำให้เวทีพูดคุยตลอดที่ผ่านมาล้มทุกครั้ง" นายอาบูดอเลาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง