มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพรับรองประเทศจีนและไทยในการฝึกซ้อมทางทะเล

ืทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2018.10.18
กัวลาลัมเปอร์
181018-MY-training-620.jpg ทหารเรือยืนรักษาการณ์ระหว่างพิธีต้อนรับ และตั้งชื่อเรือของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายพาณิชย์นาวีของมาเลเซีย ที่ท่าเรือแคลง นอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2558
เอพี

ในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ ทหารไทยจะเข้าร่วมการซ้อมรบทางทะเลกับกองกำลังของมาเลเซียและจีนในช่องแคบมะละกานอกชายฝั่งมาเลเซีย เป็นเวลา 10 วัน นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศทั้งสามจะฝึกซ้อมร่วมกัน ณ บริเวณประตูสู่มหาสมุทรอินเดีย

จีนและมาเลเซียเริ่มต้นโครงการ “สันติภาพและมิตรภาพ” ในรูปการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะเมื่อปี 2557 และในปีถัดมา ได้ขยายไปเป็นการฝึกซ้อมทางทะเลโดยมีกองทหารจากประเทศทั้งสองเข้าร่วม

เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยกล่าวว่า ไทยได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมหลังจากที่มีการเจรจาทางทหารกับมาเลเซียในเดือนกันยายน ทางกรุงเทพฯ จะส่งทหาร 53 นายและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ 3 นายจากกองทัพเรือเข้าร่วมการฝึกซ้อมครั้งนี้ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันเสาร์

รศ.ไล ยิว หมิง นักวิเคราะห์ด้านทะเลจีนใต้ที่มหาวิทยาลัยมาเลเซีย วิทยาเขตซาบาห์กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “การซ้อมรบแบบไตรภาคีครั้งนี้เป็นครั้งแรกระหว่างจีนกับประเทศในกลุ่มอาเซียน” และ  “เราไม่ควรมองดูการฝึกซ้อมทางทหารแบบไตรภาคีของจีนจากมุมมองใหม่ แต่ควรคาดว่าเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่”

จีนได้ประกาศว่าจะส่งทหารจำนวน 692 นาย พร้อมด้วยเรือรบ 3 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ เครื่องบิน 3 ลำ และยานพาหนะอีก 4 คันเข้าร่วมในการซ้อมรบ

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนแถลงไว้ว่า “การฝึกซ้อมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสาธิตให้ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้นว่า กองทัพของประเทศทั้งสามมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ พร้อมทั้งเพื่อยกระดับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในทางปฏิบัติ รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถที่จะร่วมกันรับมือกับภัยคุกคามนานาชนิดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง”

“แต่ไม่มีเป้าหมายที่ประเทศใดโดยเฉพาะ”

ช่องแคบมะละกาไม่ได้ตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ แต่เป็นจุดสกัดกั้นระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้กับมหาสมุทรอินเดีย

แต่ทั้งนี้ มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ ยังไม่ประกาศให้ทราบถึงจำนวนทหาร หรือเรือรบที่จะส่งเข้าร่วมในการฝึกซ้อมที่กำหนดแผนไว้สำหรับท่าเรือดิกสันและแคลงใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์

เจ้าหน้าที่ทางการทหารของมาเลเซียกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ทางจีนจะเป็นฝ่ายออกคำประกาศเกี่ยวกับการฝึกซ้อมครั้งนี้แต่ผู้เดียว

ประชันต์ ปรเมศวรัน นักวิชาการจากศูนย์นักวิชาการนานาชาติวูดโรว์ วิลสันที่กรุงวอชิงตันให้ความเห็นว่า การซ้อมรบแบบไตรภาคีนี้ช่วยให้จีนสร้างสานความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

นายประชันต์กล่าวกับเบนาร์นิวส์ต่อไปว่า “จีนมีความพยายามที่จะต่อยอดความสัมพันธ์เพื่อเพิ่มความมั่นคงกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลานาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จีนมีต่อเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมถึงในทะเลจีนใต้ด้วย แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องถูกมองว่าเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพดังกล่าวนั้นก็ตาม”

และเสริมว่า “การเชิญประเทศไทยให้เข้าร่วมไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ – จีนพยายามกระชับความสัมพันธ์เพื่อเพิ่มความมั่นคงกับประเทศไทยมาตลอดช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการซ้อมรบใหม่ ๆ และนั่นถือเป็นชัยชนะที่น่าประทับใจกว่า เพราะประเทศไทยเป็นพันธมิตรร่วมสนธิสัญญากับสหรัฐฯ”

เบนาร์นิวส์

 

ปฏิกิริยาจากอินโดนีเซีย

การซ้อมรบครั้งนี้หาได้รอดพ้นจากสายตาของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านเจ้าของเกาะสุมาตราที่เป็นกรอบด้านหนึ่งของช่องแคบมะละกา

“นี่เป็นกิจกรรมที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการในน่านน้ำของตนเป็นประจำอยู่แล้ว” นายอาร์มานาธา นาเซียร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ “เราจะคอยจับตาดูอย่างต่อเนื่อง”

ในเดือนพฤษภาคม อินโดนีเซียและอินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของจีนในเอเชีย ได้ประกาศแผนที่จะจัดตั้งท่าเรือที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลตรงปากทางเข้าช่องแคบมะละกา นายอาร์มานาธากล่าวว่าเขาไม่มีข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับท่าเรือดังกล่าวแต่อย่างใด

นายอนิล วัธวะ นักการทูตชาวอินเดีย ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวว่า การซ้อมรบครั้งนี้ไม่ใช่ภัยคุกคามต่อประเทศอินเดีย แต่เป็นสัญญาณว่ามาเลเซียและไทยยินดีที่จะดำเนินการร่วมกับจีนเพื่อส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคนี้

นายอนิลยังกล่าวกับเบนาร์นิวส์ต่อไปว่า “นอกจากนี้ การซ้อมรบในช่องแคบมะละกายังมีนัยที่สำคัญอีกด้วย เพราะบริเวณนี้เป็นจุดสกัดกั้นที่สำคัญของเส้นทางเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิฟิก”

จีนจะเป็นเจ้าภาพต้อนรับกองทัพเรืออาเซียน

การซ้อมรบครั้งนี้ จะเริ่มต้นขึ้นสองวันก่อนที่จีนจะเป็นเจ้าภาพรับรอง ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในการร่วมซ้อมรบทางทะเลที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ท่ามกลางข้อขัดแย้งเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

การซ้อมรบจะใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 22 ถึง 29 ตุลาคม โดยจะปฏิบัติตามแผนซ้อมรบแบบจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์เมื่อเดือนสิงหาคม

ทั้งฝ่ายจีนและกลุ่มประเทศในภูมิภาคเห็นชอบร่วมกันว่าการฝึกซ้อมครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นที่จ้านเจียง ในทะเลจีนใต้

ทะเลในบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจคู่แข่ง คือสหรัฐฯ และจีน ทั้งยังเป็นกรณีพิพาทเรื่องดินแดนที่คุกรุ่นเป็นแรมปีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศกับปักกิ่ง จีนได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนโฉมแนวปะการัง 7 แห่งที่เป็นข้อพิพาทในทะเลที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ เพื่อให้เป็นเกาะเทียมที่รองรับฐานยิงขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานพร้อมทางวิ่งเครื่องบินเรียบร้อยแล้ว

แซม ยูซา ในกัวลาลัมเปอร์ อะหมัด ไซอัมสุดิน ในจาการ์ตา ภิมุข รักขนาม ในกรุงเทพฯ และ ไจชรี บาลาสุบรามาเนียน ในนิวเดลี มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง