ไทย-ออสเตรเลีย ลงนามร่วมเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.11.13
กรุงเทพฯ
201113-TH-OZ-bilateral-ties-1000.jpg พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ผู้นำกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ผ่านระบบทางไกล จากทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563
รัฐบาลไทย/เอเอฟพี

ในวันศุกร์นี้ ประเทศไทยและออสเตรเลียมีการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีอายุเกือบ 60 ปี โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย ได้ร่วมพิธีลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับออสเตรเลีย 'Joint Declaration on the Strategic Partnership between the Kingdom of Thailand and Australia' ผ่านระบบการประชุมทางไกล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังพัฒนาในภูมิภาค โดยผ่านความร่วมมือเชิงกลยุทธ์นี้ เชื่อว่าการลงนามครั้งนี้ จะยกระดับการพัฒนาด้านความมั่นคง การทหาร เศรษฐกิจ และในด้านอื่น ๆ

พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมพิธีลงนามครั้งนี้ผ่านระบบประชุมทางไกล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่า การลงนามครั้งนี้จะช่วยให้การทำงานร่วมกันมีเป้าหมาย และผ่านวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งทำงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

“ผมยินดีและสนับสนุนการยกระดับความสัมพันธ์ไทยและออสเตรเลียให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อไปสู่มิติใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ จะเป็นเอกสารที่ทันสมัยและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการผลักดันให้ความสัมพันธ์ และความร่วมมือของไทยและออสเตรเลียนั้น มีพลวัตมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวระหว่างการประชุม

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ความร่วมมือนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่จะช่วยสนับสนุนสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ไทยและออสเตรเลียนั้น ยึดมั่นในหลักการของความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาค การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การส่งเสริมการค้าเสรี และการเคารพกฎหมาย และกติการะหว่างประเทศ นอกจากนี้สายสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองประเทศที่ดำเนินผ่านการค้าการลงทุน การศึกษา และการท่องเที่ยว ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นมาโดยตลอด

“ผมยินดีที่ไทยและออสเตรเลียจะกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แนบแน่นและลึกซึ้งกันยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งในด้านความมั่นคง การทหาร เศรษฐกิจ ตลอดจนสาขาที่สำคัญต่อการเติบโตและความสัมพันธ์อย่างยั่งยืน อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การศึกษา สาธารณสุข การเกษตรและสิ่งแวดล้อม”

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า หลังการลงนามในปฏิญญาร่วมฯ หน่วยงานต่าง ๆ ของไทยและออสเตรเลียจะร่วมกันพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Plan of Action) เพื่อเป็นกรอบแผนงานในการส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ด้าน นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ ระบุว่า พร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อพัฒนาศักยภาพของทั้งสองประเทศในหลาย ๆ ด้าน

“ในมุมมองของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคผ่านความร่วมมือเชิงกลยุทธ์นี้ ทั้งสองประเทศจะเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ รวมถึงการป้องกันและความปลอดภัยของกิจการไซเบอร์, การต่อต้านการฟอกเงิน และการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยและออสเตรเลียจะเติบโตมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ทั้งสองประเทศฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19" มอร์ริสันกล่าว "โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย” นายสกอตต์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ สื่อออสเตรเลียรายงานว่า ออสเตรเลียมุ่งหน้าสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย

โดย ออสเตรเลียมีแผนที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย และกำหนดหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ตอนเหนือของประเทศตน

ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อออสเตรเลียต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการส่งออกสินค้าอย่างต่อเนื่องกับประเทศจีน

สื่อของรัฐบาลจีนยังรายงานว่า จีนไม่อนุญาตให้นำเข้า น้ำตาล ข้าวบาร์เลย์ ถ่านหิน และไม้ของออสเตรเลีย อีกต่อไป

ซึ่งได้สร้างความตื่นตัวและวิตกกังวลอย่างมาก ในกลุ่มผู้ผลิตไวน์ของออสเตรเลีย เพราะเกรงว่าหนึ่งในผลิตผลที่สำคัญที่สุดของออสเตรเลียนี้ จะเผชิญปัญหาในการส่งออก ออสเตรเลียน แอสโซซิเอทส์ เพรส ระบุ

นายสกอตต์ ระบุเพิ่มเติมว่า การลงนามครั้งประวัติศาสตร์นี้ เป็นการสานต่อความร่วมมือที่ตนเอง และพล.อ.ประยุทธ์ เคยลงนามร่วมกันไปแล้วในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2562 โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในสิบประเทศคู่ค้าสำคัญของออเสเตรเลีย โดยเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันจะช่วยในการฟื้นฟูทั้งสองประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้

ขณะเดียวกันในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ปี 2563 พรุ่งนี้ ซึ่งมีประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพนั้น การลงนามความร่วมมือก็จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงกระชับความร่วมมือระหว่างกันในประเทศลุ่มน้ำโขงด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง