ไทย-ฟิลิปปินส์ขยายความร่วมมือต่อต้านภัยก่อการร้าย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.03.23
กรุงเทพฯ
TH-PH-cooperate-620 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (คนกลาง) นายกรัฐมนตรีไทย ขณะพูดกับนายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 21 มีนาคม 2560
เอเอฟพี

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และ นายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้มีความเห็นร่วมกันในการกระชับความร่วมมือระหว่างกันในการต่อสู้กับภัยคุกคามการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ในระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในระหว่างวันที่ 20 มีนาคม ถึงวันที่ 22 มีนาคม นี้

ผู้นำทั้งสองประเทศได้แสดงความชื่มต่อความสัมพันธ์ทางการทูต นับตั้งแต่การลงนามสนธิสัญญามิตรภาพระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ.1949 เป็นต้นมา และเห็นพ้องกันว่า ไทยและฟิลิปปินส์มีศักยภาพที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง ในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และร่วมมือกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาคมอาเซียน รวมถึงร่วมมือกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องของภูมิภาคและระหว่างประเทศ

ในส่วนของความมั่นคงนั้น ต่างเผชิญกับภัยคุกคามที่คล้ายคลึงกันของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน กลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มผู้ก่อการร้าย หรือกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ

“ผู้นำทั้งสองฝ่ายแสดงความกังวลต่อประเด็นท้าทายด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นจากการเผยแพร่ของการก่อการร้าย และแนวคิดสุดโต่ง รวมทั้งอาชญากรรมข้ามชาติ อาทิ การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ โจรสลัด และความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยเห็นพ้องว่าความร่วมมือในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้” เนื้อหาในแถลงการณ์ร่วมที่กระทรวงการต่างประเทศไทยได้นำมาเผยแพร่กล่าว

“ในการนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล และข่าวกรองระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงของทั้งสองฝ่ายทั้งในกรอบทวิภาคี อาเซียน และองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขภัยคุกคามดังกล่าว”

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของพลเอกประวิตร สงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทั้งสองประเทศเผชิญภัยคุกคามที่คล้ายคลึงกัน

“ฟิลิปปินส์ มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดน เรื่องของกลุ่มหัวรุนแรงอะไรต่างๆ คล้ายคลึงกัน แต่เข้าใจว่าของฟิลิปปินส์จะเข้มข้นกว่าเรา ที่มินดาเนาและขบวนการอาบูไซยาฟ ค่อนข้างจะรุนแรงกว่าของเรา มีเงื่อนไขปัจจัยจากภายในประเทศ ขบวนการอาบูไซยาฟ เขาได้เข้าไปร่วมรบกับไอซิส (ISIS) และกลับเข้ามาเคลื่อนไหวในลักษณะที่รุนแรงขึ้น มีความเชื่อมโยงกับขบวนการต่างๆ ในภูมิภาคอยู่” ดร.ปณิธาน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

ดร.ปณิธาน กล่าวว่าสำหรับประเทศไทยนั้น ยังไม่ได้มีปัญหาเรื่องการก่อการร้ายสากลถึงระดับที่ต้องกังวล แต่มีการเคลื่อนไหวผ่านเมืองไทยเป็นระยะๆ

“เราเองมีการก่อการร้ายสากลเข้ามาเมืองไทยเป็นระยะๆ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และปฎิบัติการร่วมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ” ดร.ปณิธาน กล่าว

แหล่งข่าวที่เป็นผู้สังเกตการณ์ในเรื่องความมั่นคงกล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ไม่มีกลุ่มอุดมการณ์ไอเอสจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางผ่านประเทศไทย แต่ในสองสามปีก่อนหน้านั้น มีสมาชิกกลุ่มไอเอสเดินทางหรือพยายามเดินทางผ่านประเทศไทย 7 ถึง 8 ราย

“หนึ่งในจำนวนนั้นที่เดินทางผ่านไปยังซีเรีย คือ นายมูฮัมหมัด เวนดิ (Muhammad Wanndy) ชาวมาเลเซีย ซึ่งได้กลายเป็นนักรบคนสำคัญที่ซีเรีย” แหล่งข่าวผู้สังเกตการณ์กล่าว โดยขอสงวนนาม

ด้าน ดร.ปณิธาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มไอเอสได้พยายามเผยแพร่อุดมการณ์รัฐอิสลาม ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ

“ขบวนการไอเอส มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตลอด การโฆษณายังมีอยู่ การระบุถึงปัญหาภาคใต้ก็มีอยู่บ้าง แต่ว่าโดยทั่วไปยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรที่น่าเป็นกังวล และในส่วนของคนฟิลิปปินส์ที่อยู่ในเมืองไทยเอง ก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนว่าเชื่อมโยงกับขบวนการที่อยู่ที่อื่น เราก็ยังไม่มีอะไรที่น่ากังวล แต่ต้องจับตาใกล้ชิดเท่านั้นเอง ขบวนการเขามีการเชื่อมโยงทางการสื่อสาร” ดร.ปณิธานกล่าว

สำหรับความร่วมมือของประเทศไทยกับฟิลิปปินส์นั้น ทั้งสองฝ่ายได้มีข้อสรุปต่อร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างกระทรวงกลาโหมไทย และกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนปี 2560 ในระหว่างการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียน ที่ฟิลิปปินส์ และผู้นำทั้งสองได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการทหาร ครั้งที่ 1 ในปี 2560

“มีการประชุมก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เรื่องต่างๆ เข้าสู่ระบบในหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น แล้วจะทำให้การทำงานเป็นทางการขึ้น ก็น่าจะส่งผลดีทำให้ความร่วมมือใกล้ชิดขึ้น เราก็ยังไม่ได้ทำงานลักษณะนี้กับฟิลิปปินส์เท่าไหร่นัก เพราะว่าในอดีตเราไปมุ่งเน้นเรื่องอื่นเป็นหลัก แต่การก่อการร้ายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมา เราก็ปรับความร่วมมือกับฟิลิปปินส์มากขึ้น” ดร.ปณิธาน กล่าว

ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ จะครบรอบ 68 ปี ในเดือนมิถุนายน 2560 นี้ ผู้นำทั้งสองให้ความสำคัญกับการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ ในการเป็นกลไกเพื่อหารือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย และกับการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในช่วงเวลาที่สะดวกสำหรับทั้งสองฝ่าย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง