นายกรัฐมนตรีเปิดนิคมอุตสาหกรรมยางพาราในจังหวัดสงขลา
2015.12.28

ในวันจันทร์ (28 ธ.ค. 2558) นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเมืองยางพารา ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อสร้างความพร้อมให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ
การเดินทางมาเยี่ยมโครงการของนายกรัฐมนตรีในวันนี้นั้น เกิดขึ้นหลังจากมีความก้าวหน้าของโครงการ มีการจัดตั้งศูนย์บริการการลงทุน เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางส่งเสริมการลงทุน และ บริการผู้ประกอบอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ยางเสร็จเรียบร้อย
จากนี้ โครงการกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพาราจะรองรับการพัฒนา และสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมถึงแก้ปัญหาราคายางให้มีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้วัตถุดิบจากยางพาราในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ปรับเปลี่ยนบทบาทของไทยจากผู้ผลิตวัตถุดิบมาสู่การส่งเสริมให้เกิดการใช้ในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่ง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าว ภายในงานเปิดโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ว่า การดำเนินงานพัฒนานิคมฯ ดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มียางพาราเป็นวัตถุดิบในการรองรับภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เร่งรัดดำเนินแผนงานนิคมยางพาราในรายละเอียดที่เป็นระบบอย่างชัดเจนที่จะต้องแล้วเสร็จภายในปี 2560 โดยเน้นให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับผลประโยชน์อย่างสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมอาชีพ และ สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนอย่างแท้จริง”
"การลงทุนในครั้งนี้ จะต้องเน้นการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสถียรภาพราคายางในท้องถิ่น รวมถึงเป็นโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาให้รัฐบาลในระยะยาวที่ไม่ต้องเข้ามาอุดหนุนราคายางพารา เมื่อเกิดภาวะราคาตกต่ำ” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “นิคมอุตสาหกรรมยางพารา Rubber City อยู่ในพื้นที่เฟส 2/2 และเฟส 3 บนพื้นที่ 755ไร่ ของนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้จังหวัดสงขลา รูปแบบการก่อสร้างนิคมฯ ทั้งในทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโดยจะนำนวัตกรรมทางด้านยางพารามาใช้ในการก่อสร้าง”
นายวีรพงศ์กล่าวต่อไปว่า การใช้นวัตกรรมยางพาราในการก่อสร้างนั้น เพื่อเป็นต้นแบบและตัวอย่างในการนำยางพารามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้ง เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราของประเทศถือว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ของรัฐบาล ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่าการลงทุนในนิคมฯ ปกติ นอกจากนี้ จะออกข้อเสนอพิเศษในการขายหรือเช่าในช่วงต้นปี
รัฐบาลทยอยมอบเงินชดเชยชาวสวนยาง
เกษตรกรชาวสวนยางในหลายจังหวัดในภาคใต้ เริ่มทยอยได้รับเงินชดเชย เป็นของขวัญวันปีใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะราคายางตกต่ำ และเพื่อเป็นเงินทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สำหรับเจ้าของสวนยาง รวมทั้ง ช่วยเหลือค่าครองชีพคนงานรับจ้างกรีดยาง
ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 12,750 ล้านบาท ให้ชาวสวนยาง และ คนงานกรีดยางราว 850,000 ครอบครัว ไม่เกินครอบครัวละ 15 ไร่
โดยที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบเงินชดเชยรายได้ ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง
ที่จังหวัดยะลา ที่ห้องประชุมศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มี นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธาน เพื่อมอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ชุดแรก จำนวน 241 ราย
ในจังหวัดปัตตานี นายวีพงศ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เป็นประธาน ในการจ่ายเงินชดเชยแก่ชาวสวนยาง
นายวีรพงศ์ ได้กล่าวว่า โครงการนี้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางผู้มีเอกสารสิทธิ์ ประกอบด้วยเจ้าของสวนยาง หรือผู้เช่า และคนกรีดยาง ในสัดส่วนร้อยละ 60:40 อัตราไร่ละ 1,500 บาท จำนวน 850,000 ครัวเรือน ที่มีสวนยางเปิดกรีดไม่เกิน 15 ไร่ กรณีครัวเรือนที่มีสวนยางเปิดกรีดเกิน 15 ไร่ขึ้นไป ให้การช่วยเหลือไม่เกิน 15 ไร่ เท่านั้น
“โดยเกษตรกรที่เป็นเจ้าของ หรือผู้เช่าสวนยาง จะได้รับเงินชดเชย 900 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ แบ่งเป็นการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต 700 บาทต่อไร่ และสนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพการผลิต 200 บาทต่อไร่ สำหรับคนกรีดยางจะได้รับเงินชดเชย 600 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15ไร่ เพื่อช่วยค่าครองชีพคนกรีดยาง” นายวีรพงศ์ กล่าว