ชาวสวนยางสามจังหวัดชายแดนใต้ลงทะเบียนขอรับเงินชดเชย

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.11.02
TH-Rubber-800 นางสือนะ อาแด ชาวสวนยาง กำลังกรีดยาง ในสวนยางในพื้นที่ จังหวัดยะลา วันที่ 2 พ.ย. 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (2 พ.ย. 2558) นี้ ชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เดินทางไปลงทะเบียนใช้สิทธิ์รับเงินช่วยเหลือชดเชยรายได้ พร้อมทั้งสอบถามความชัดเจนของโครงการ หลังจากรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะอนุมัติเงินจำนวน 13,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคายางตกต่ำมาเป็นเวลานับปี

ทางกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมค่าชดเชย โดยเฉลี่ยไร่ละ 1,500 บาท โดยแบ่งเป็นค่าสนับสนุนวัสดุการเกษตร 700 บาทต่อไร่  งบการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการผลิต 200 บาทต่อไร่ และช่วยค่าครองชีพคนกรีดยาง 600 บาทต่อไร่ รวมจำนวน 1,500 บาท ต่อไร่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวในวันนี้ว่า จะนำเรื่องเข้าขอความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 3 พ.ย. นี้ เพื่ออนุมัติงบ 1.3 หมื่นล้านบาท ในการช่วยเกษตรกร โดยแบ่งเป็นเงินช่วยเจ้าของสวนยาง 900 บาท และผู้กรีดยาง 600 บาท สำหรับพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ 8.5 แสนราย คนกรีดยาง 3 แสนราย

ในส่วนเกษตรกรสวนยางไม่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 1 แสน 5 หมื่นรายนั้น กำลังหาแนวทางช่วยเหลือที่ไม่ขัดกฎหมาย โดยมอบให้ไปการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไปตั้งคณะทำงานดูเงื่อนไขหลักการต่างๆ อาจจัดเป็นงบสวัสดิการช่วยเหลือ จากเงินค่าธรรมเนียมค่าส่งออกยาง หรือเงินเซส

สำหรับมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอ ครม. พิจารณา เน้นการชดเชยต้นทุนเกษตรกร โดยจะแบ่งปันให้คนกรีดยางในสัดส่วน 40/60 โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร เจ้าของสวนยาง และคนกรีดยาง โดยเกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ 8.5 แสนครัวเรือน รวมคนกรีดยางอีก 4 แสนครัวเรือน เป็น 1.2 ล้านครัวเรือน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทเศษ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า

ส่วนการช่วยเหลือระยะกลางและระยะยาวนั้น จะมีการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรในการเปลี่ยนอาชีพ

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แสดงความเคลื่อนไหว ตามแหล่งข้อมูลของสำนักตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันนี้ (2 พ.ย. 2558) ราคาประมูลราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 38.81 บาทต่อกิโลกรัม และ ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 อยู่ที่ 39.90 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมีราคาต่ำมาก ราคายางโดยเฉลี่ยที่เกษตรกรสวนยางจะสามารถดำรงชีพได้ โดยไม่เดือดร้อนมากทั่วไป จะอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม

ยางพารา มักปลูกกันมากที่สุดในภาคใต้ ทั้งภาค แต่เมื่อ 5-6 ปีมานี้ มีการปลูกนอกพื้นที่กันมาก ไม่เว้นแม้แต่ภาคอีสาน และภาคเหนือของประเทศไทย

ชาวสวนยาง อยากให้รัฐชดเชยถึงมือเกษตรกรตัวจริง

ในปลายปีที่แล้ว 2557 รัฐบาลได้มีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ชาวสวนยางเป็นเงิน 1,000 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย ส่วนลูกจ้างกรีดยางไม่ได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบสิทธิ์ระดับตำบลและระดับอำเภอ

นายสือมะ เจะเลาะ ชาวสวนยาง ในจังหวัดยะลา กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลตรวจสอบเกษตรกรและแรงงานกรีดยาง ว่าเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยตัวจริง อย่าให้เหมือนโครงการที่ผ่านมา

“เงินช่วยเหลือที่รัฐบาลจะมอบให้กับชาวสวนยาง ขอให้มีการตรวจสอบด้วย อย่าให้เหมือนกับอย่างโครงการที่ผ่านมา ที่ไม่ได้มีการตรวจสอบ ทำให้ชาวบ้านที่เป็นชาวสวนยางจริงๆ เดือดร้อนจริงๆ ได้เงินชดเชยจริงๆ เพียงไม่กี่ราย” นายสือมะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ส่วนนายอาแซ วาโล๊ะ ชาวสวนยาง ในจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ในโครงการชดเชยครั้งที่แล้ว ตนเองไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการที่แล้ว เพราะว่าไม่มีเส้นสายกับเจ้าหน้าที่ ที่เป็นผู้คัดกรองผู้มีสิทธิ์ในการรับเงินช่วยเหลือ

“โครงการที่แล้ว ผมและครอบครัวไม่ได้รับ รู้สึกเสียใจ เพราะต้องเป็นคนมีเส้นสายเท่านั้นที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ถ้าไม่มีก็หมายความว่าไม่มีทางได้ โครงการนี้ ผมขอให้รัฐบาลมีการตรวจสอบโครงการด้วยให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ ได้รับเงินบ้าง” นายอาแซกล่าว

นางสือนะ อาแด ชาวสวนยาง จังหวัดยะลา กล่าวว่า เกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบจากราคายางที่ตกต่ำอย่างรุนแรง แต่ก็ดีใจที่จะได้เงินมาช่วยบรรเทาความทุกข์ยากบ้าง

“ดีใจมากถ้าได้จริงๆ ตอนนี้ชาวสวนยางเดือดร้อน ยางราคา 5 กิโล 100 บาท ถ้ารัฐบาลเข้ามาช่วยจริงๆ ถือเป็นเรื่องดีต่อประชาชนมาก คิดว่าชาวสวนยางทุกคนหวังมากที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ อย่างน้อยช่วยบรรเทาบ้าง สามารถนำเงินมาเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ลูก เพราะทุกคนหมุนเงินไม่ทันจริงๆ” นางสือนะ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง