ผู้บริหารกลุ่มซัมมิทลงนามร่วมกับศอ.บต. รับผู้จบการศึกษาฝึกฝนสายอาชีพจากชายแดนใต้ เข้าทำงานในเครือ

นาซือเราะ
2015.12.03
TH-SUMMITGROUP-JOBS-1000 นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายฉลาด แก้วขาว ศอบต. นำ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร กรรมการบริหารบริษัท ซัมมิท คอร์เปอเรชั่น จำกัด เยี่ยมชมทำเล นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลอำเภอปะนาเระ ปัตตานี 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558
เบนาร์นิวส์

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558 บริเวณศูนย์นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วย นายฉลาด แก้วขาว นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ศอบต. นำ นาย วุฒิภูมิ จุฬางกูร กรรมการบริหารบริษัท ซัมมิท คอร์เปอเรชั่น จำกัด นาย กษิดิศ อาชวคุณ ผู้แทนบริษัท ซัมมิท คอร์เปอเรชั่น จำกัด มาเยี่ยมชมทำเล เพื่อทำธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

หลังจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทซัมมิท คอร์เปอเรชั่น จำกัด เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเตรียมความพร้อมของแรงงาน ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ท่ามกลางความดีใจของนายอาแด เวาะฮะ กำนันจากตำบลบ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และชาวบ้าน เป็นจำนวนมาก

โดยจากข้อมูลแรงงานจังหวัดปัตตานี พบว่า มีแรงงานว่างงาน เฉพาะจังหวัดปัตตานี จำนวน 7,221 คน จากประชากรทั้งหมด 111,904 คน

นายฉลาด แก้วขาว นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ศอบต. กล่าวว่า "พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. กับ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร กรรมการบริหารบริษัทซัมมิท คอร์เปอเรชั่น จำกัดเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ และมีรายได้ที่มั่นคง"

"โดยบริษัทในกลุ่มบริษัทซัมมิทฯ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ มีความยินดีที่จะรับเยาวชนที่มีคุณลักษณะตรงตามความต้องการ ที่ผ่านการฝึกฝน เข้าทำงานบริษัท ซัมมิท คอร์เปอเรชั่น จำกัด ดำเนินงาน ในด้านอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในพื้นที่ กรุงเทพ และ ระยอง และมีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจอีกมาก"

"ถือเป็นเรื่องที่ดีในการเดินทางลงมาครั้งนี้ของนักธุรกิจทั้งสอง ท่าน และ อาจจะมีการทำธุรกิจร่วมกัน และพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” นายฉลาด กล่าว

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร กรรมการบริหารบริษัทซัมมิท คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าว “สำหรับการดูพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่อำเภอปานาแระ มองว่า นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดในภาคใต้ ต้องประสานงานร่วมกัน กับอุตสาหกรรมฮาลาลเอกชน กำลังหลักจากพื้นที่ และเอกชนต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ต้องพร้อมด้านทรัพยากรและสาธารณูปโภค เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า กำลังคน ทักษะ ความรู้”

“ศอ.บต.และภาครัฐ ต้องพัฒนาร่วมกับโรงเรียนสายอาชีพทางการช่าง เช่น การก่อสร้าง การไฟฟ้า ช่างยนต์ และการเกษตร มีการควบคุมบุคลากรเช่นปีนี้ ความต้องการบุคลากรด้านสายอาชีพทั้งหมด 1000 คน เราผลิตเพียง 1000 คน ที่เหลือให้ไปด้านอื่น ผลิตให้เพียงพอ มากเกินไปก็ไม่ดี”

นิคมอุตสาหกรรม อำเภอปะนาเระ ในปัจจุบัน

แผนการตั้งการนิคมอุตสาหกรรม เฟสแรกจำนวน 170 ไร่ ควรจะแล้วเสร็จในปี 2550 ที่ผ่านมา ภายใต้งบประมาณการก่อสร้าง 84 ล้านบาท โดยมี บริษัทฟาตอนี เป็นผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภค ดำเนินงานด้านเทคนิค และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำหนด จนถึงขณะนี้ ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และยังไม่มีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เข้าไปตั้งฐานการผลิต

ต่อมา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เดินหน้าลงทุนทำโครงการใหม่ โดยเป็นการใช้พื้นที่ 40 ไร่ จากเฟสแรก ด้วยงบประมาณใหม่ 300 ล้านบาท ซึ่งตามแผนระยะเวลาก่อสร้าง ถึงแล้วเสร็จอยู่ในปี 2557 นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะสร้างอาคารโรงงาน และสาธารณูปโภคให้ ขณะที่ผู้ประกอบการ 13 ราย จะลงทุนด้านจัดซื้อ และขนย้ายเครื่องจักรเข้ามา สุดท้ายยังไม่มีผู้ใดเข้ามา

ความเป็นมาในการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม

การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการนอกสถานที่ จังหวัดนราธิวาส ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรียุคแรก ต้องการให้เร่งรัดการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยใช้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล และให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับผิดชอบในการหารือ กับภาคเอกชน และชักชวนผู้ประกอบการที่สนใจมาลงทุนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

เมื่อปี 2545 บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด ต้องการตั้งโรงงานแปรรูปไก่แช่แข็ง ป้อนตลาดตะวันออกกลาง ในระหว่างทำการศึกษานั้น นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็กำลังจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ในเขต จ.ปัตตานี ตามนโยบายการส่งเสริมให้ภาคใต้ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตามยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9 การเป็นประเทศศูนย์กลางด้านฮาลาล

บริษัทเห็นว่า ถ้าภาครัฐดำเนินการเอง อาจไม่ทันการ จึงเสนอเข้าร่วมโครงการด้วย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2546 บริษัท ฟาตอนี ลงนามสัญญาร่วมดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  7 วัน หลังจากนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ ร่วมดำเนินการกับ บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด

จากนั้น วันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดเหตุโจมตีค่ายทหาร ใน อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ตามมาด้วยเหตุการณ์ยิงถล่มมัสยิดกรือเซะ ที่อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ส่งผลถึงสถาบันการเงิน และนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่กล้าลงทุน และสถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้

ในขณะนั้น บริษัท ฟาตอนี ได้ติดค้างชำระค่าที่ดินของชาวบ้าน จากการกว้านซื้อที่ทำกิน ในช่วงนั้น

การรอคอยของชาวปะนาเระ ปัตตานี

นายอาแด เวาะฮะ กำนันจากตำบลบ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า วันนี้ทางศอ.บต.และ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนำนักธุรกิจ เพื่อมาดูทำเล ที่ศูนย์นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อมาร่วมลงทุนในพื้นที่ อาจมีการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่นี่ และจ้างคนพื้นที่ทำงาน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของคนที่นี่ ถ้าบริษัท ซัมมิท คอร์เปอเรชั่น จำกัด ทำธุรกิจที่นี่ คือโอกาสที่พวกเรารอมานาน อยากให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลจริงๆ

“การรอคอยของชาวบ้านที่นี่ 10 กว่าปีแล้ว ที่อยากให้ที่นี่เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนพื้นที่ คิดว่า ถ้ารัฐสามารถนำนักธุรกิจเข้ามา คนในพื้นที่มีงานทำ ปัญหาความไม่สงบก็จะลดลง”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง