ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ กับโศกนาฏกรรมที่ยากจะลืมเลือน
2015.10.22
สิบเอ็ดปีผ่านไปสำหรับเหตุการณ์ประท้วงหน้าสถานีตำรวจตากใบ ที่จบลงด้วยการเสียชีวิตรวม 85 ราย มีการชดเชยแก่ผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และยกฟ้องผู้ร่วมชุมนุมไปแล้ว แต่ร่องรอยความปวดร้าวยังหลงเหลืออยู่ในจิตใจของญาติเขาเหล่านั้นจนถึงทุกวันนี้
นางแยนะ สะแลแม ได้กลายเป็นแกนนำผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ในการเจรจากับฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากว่าลูกชายของตนเองถูกจับในเหตุการณ์ในวันนั้นด้วย นางแยนะ ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า 11 ปีแล้ว ที่เกิดเหตุการณ์กับคนตากใบ มันยากที่จะลืมได้
“ในความรู้สึกของคนอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบ ชีวิตคน ตายแล้วคือจบ แต่สำหรับครอบครัวเขา ไม่ว่านานแค่ไหนเขาก็ไม่ลืม แต่ในขณะที่ทหารบอกว่า ยังไม่จบอีกหรือ มันนานแล้ว” นางแยนะ ที่แทนตัวเองว่า กะนะ หรือพี่นะ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ในวันที่ 22 ตุลาคม นี้
กะนะ ยังบอกว่า เมื่อมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการก่อเหตุรุนแรง ในสามจังหวัดชายแดนใต้ มักจะมีคำถามออกมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ความมั่นคงว่า ได้เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่ตากใบหรือไม่
“ทุกครั้งที่มีการจับกุม ก็มักตั้งคำถามว่า ได้ไปร่วมชุมนุมที่ตากใบไหม และถ้าพบข้อมูลว่า เคย คนๆ นั้นก็จะต้องขยายเวลาในการถูกควบคุมตัว จาก 7 วัน 1 เดือน แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่พบว่าเคยมาร่วมชุมนุมที่ตากใบวันนั้น จับวันเดียวก็ปล่อยตัว” กะนะ กล่าว
ปีแห่งวิกฤติรุนแรง
ผู้ชุมนุมประท้วงอยู่บนทางเท้า หลังจากถูกจับกุมนอกสถานีตำรวจตากใบ จังหวัดนราธิวาส 25 ตุลาคม 2547 [เอเอฟพี]
ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่บริเวณสนามเด็กเล่น ตรงข้ามสถานีตำรวจตากใบหลังเก่า ในจังหวัดนราธิวาส ได้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ เข้าสลายผู้ชุมนุมกว่าหนึ่งพันคนที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ ที่มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต. พร่อน อ. ตากใบ จำนวน 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดียักยอกทรัพย์สินทางราชการ และแจ้งความเท็จ หลังจากปืนลูกซองยาวของทางราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลสูญหายไป
หลังจากการสลายการชุมนุม ได้มีการลำเลียงผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมกว่าหนึ่งพันคน โดยมีวิธีการถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง แล้วนำเรียงซ้อนทับกันในรถบรรทุกยีเอ็มซี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ศพ ในระหว่างการเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ห่างจาก อ.ตากใบ จุดเกิดเหตุกว่า 150 กิโลเมตร นอกจากนั้น ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย และที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.ตากใบ อีก 58 ราย
ต่อมา ในปี 2556 ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะได้มีการจ่ายเงินเยียวยาเป็นยอดรวม 641,451,200 บาท รวมทั้งคดีได้สิ้นสุดลงแล้ว เพราะญาติและครอบครัวผู้สูญเสียตัดสินใจไม่ฟ้องร้องต่อรัฐ
ไม่อยากให้รัฐย้ำเตือน
กะนะ เล่าให้ฟังต่อไปว่า ตนเองได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ลูกชายถูกจับ พอลูกถูกจับก็ช่วยคนอื่นดำเนินเรื่องด้วย จนกลายเป็นว่าเราสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ ในการพูดคุยกับฝ่ายรัฐ แต่กะนะบอกว่า แม้เวลาผ่านไปนาน บางครั้งทางราชการยังแคลงใจ และคอยถามชาวบ้านให้หายสงสัยว่ายังมีใครติดใจในเรื่องนี้หรือไม่
“ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังคอยถามชาวบ้านจนกลายเป็นการเตือนความจำคนในพื้นที่ตากใบทุกคนตลอด โดยที่พวกเขาไม่ต้องจำ เจ้าหน้าที่จะคอยย้ำกับพวกเรา โดยถามว่า ใครที่ไม่ลืมบ้าง กะนะว่า ถ้าอยากให้มันจบจริง ๆ ก็อย่ามาเตือนความจำชาวบ้านแบบนี้ หยุดกล่าวหาว่าคนที่ร่วมชุมนุมเป็นคนร้าย พวกเขาแค่ต้องการเรียกร้องให้ปล่อย ชรบ. ที่ถูกจับไม่ได้ต้องการทำร้ายใคร” กะนะกล่าว
ครอบครัวมีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจดีขึ้น
เวลาผ่านไป 11 ปี ชีวิตของครอบผู้สูญเสียทุกคนดีขึ้น เพราะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจาก ศอ.บต. และสร้างอาชีพใหม่ได้ ทั้งนี้ คนเสียชีวิต 85 คนได้คนละ 7.5 ล้านบาท คนบาดเจ็บ 51 คนแยกเป็นเจ็บไม่มาก ได้คนละ 1 ล้าน ส่วนคนเจ็บหนักพิการและต้องรักษาอาการต่อเนื่อง ทั้งหมด ได้คนละ 4 ล้านกว่าบาท มีทั้งหมด 7 คน คือ 1. นายมะตาราวี เจ๊ะมะ ขาผิดปกติไม่สามารถใช้การได้ปกติ 2. นายเจ๊ะยูฮารี ดอรอนิง ขาลีบ 3. นายมะยูดีน อาแว มือลีบ ใช้การไม่ได้ 4. นายรอกิ มะหะมะ ขาลีบ 5. นายเจ๊ะกอเช่ม มัยเซ็ง มือหัก 6.นายสานูสี เจ๊ะแม มือลีบ และ 7. นาย แวดี มะโซ๊ะ ตาบอด คนนี้เสียชีวิตแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน และยังมีผู้บาดเจ็บหนักอีก 1 คน ที่ได้รับค่าชดเชยเท่ากับผู้เสียชีวิต คือ นายมะรีกี ดอเล๊าะ ได้รับบาดเจ็บต้องตัดขา และนิ้วผิดปกติไม่สามารถใช้การได้ปกติ ได้ 7.5 ล้านบาท ส่วนคนที่ถูกจับ 58 คน รัฐบาลให้เฉพาะค่ารักษาจิตใจ คนละ 3 หมื่นบาท
กะนะ เล่าให้เบนานิวส์ฟังว่า “หลังจากที่ได้เงินพวกเขาก็มีชีวิตที่ดีขึ้น ต่างจากเมื่อช่วงแรกๆ ตอนนี้เวลาไปเจอพวกเขา สีหน้าก็ดีขึ้น แต่ความในใจลึกๆ พวกเขาก็เศร้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”
“แต่ทุกคนถือว่า ทุกอย่างอัลลออ์กำหนด เมื่อรัฐมาดูแล ก็ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น จากคนที่บาดเจ็บพิการไม่สามารถทำงานได้ไม่มีรายได้ ก็ พอมีเงินเขาก็เอาไปซื้อสวนยาง เอาไปลงทุนค่าขาย ทำให้มีรายได้พอมีรายได้ชีวิตในครอบครัวก็ดีขึ้น” กะนะกล่าว
ด้านนายมะรีกี ดอเล๊าะ ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า “ตอนนี้ชีวิตก็ดีขึ้น อยู่ตามหลักศาสนา ไปฟังการบรรยายธรรม ว่างหน่อยก็จะไปตกปลา ไม่อยากพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น อยากลืม”
“สำหรับเรื่องคดี ทุกวันนี้ ศาลถอนฟ้อง ผู้ที่ถูกจับ 58 คน ส่วนคดีต่อผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ชาวบ้านก็ไม่ฟ้อง เพราะทุกคนคิดว่า ต้องใช้เวลามากหลายคนมีปัญหาเรื่องภาษา เรื่องการเดินทาง ทำให้พวกเราตัดสินใจไม่ฟ้องต่อ ทุกอย่างตอนนี้ ในทางคดีหยุดแล้ว” กะนะกล่าวเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่ไทยกล่าวว่าบีอาร์เอ็นอยู่เบื้องหลังการประท้วง
เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงท่านหนึ่ง ที่ทำงานคลุกคลีอยู่ในพื้นที่มากกว่า 25 ปี ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ โดยขอสงวนนาม ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ว่า เจ้าหน้าที่รู้จักคนและรู้จักพื้นที่ดี แต่เมื่ออธิบายถึงเหตุผลในการจับกุม ชรบ. ทั้งหกคนให้ฟัง เขาเหล่านั้นกลับหาว่าเจ้าหน้าที่บิดเบือน
“เราพูดเขาไม่ฟัง กลับหาว่าเราบิดเบือน ความจริงเรื่องตากใบกลุ่มแกนนำ BRN เล็งเห็นผลอยู่แล้ว ว่าเรื่องจะบานปลาย ฉะนั้น ในตอนเช้าวันที่ 25 มีการนัดหมายให้ปอเนาะหลายแห่ง ระดมเด็กไปร่วมชุมนุม คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่เตรียมการไว้แล้ว คนอย่างสะแปอิง บาซอ ที่รู้เรื่องดี จะกล้าพูดความจริงหรือไม่” เจ้าหน้าที่ท่านดังกล่าว กล่าว
สำหรับ นายสะแปอิง บาซอ เป็นอดีตผู้บริหารโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ที่ภายหลังถูกทางการไทยออกหมายจับจนต้องไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย และเชื่อว่าเป็นหัวหน้าขบวนการบีอาร์เอ็นตัวจริง
“การจัดงานรำลึกตากใบ ทุกปีที่ผ่านมา ไม่เคยจัดภายใต้บทเรียนของความรุนแรง ที่ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่มักจัดภายใต้ความคิดที่ต้องการตอกย้ำ ให้เป็นเรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชน คงไม่มีเจ้าหน้าที่คนใด ต้องการให้เกิดเรื่องแบบนี้อย่างแน่นอน” เจ้าหน้าที่ท่านดังกล่าว กล่าวเพิ่มเติม
“การจัดงานรำลึกภายใต้กรอบแนวคิด ที่ดำรงไว้ซึ่งการแบ่งแยกเชื้อชาติ มันไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น”