กลุ่ม “มาราปาตานี” เปิดตัวกับสื่อเป็นครั้งแรก กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์

โดย รพี มามะ
2015.08.27
TH-TALK-MARA-620 นายฮาวัง ญาบัต (กลาง) แกนนำบีอาร์เอ็น ในฐานะประธานกลุ่มร่วมเจรจา “มาราปาตานี” พร้อมด้วยสมาชิกจากลุ่มขบวนการต่างๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ ร่วมแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนในกรุงกัมลาลัมเปอร์ 27 ส.ค. 2558
เบนาร์นิวส์

ปรับปรุงข้อมูล 17:00 ET on 2015-08-27

กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเชีย -- ในวันพฤหัสบดี (27 ส.ค. 2558) ที่ห้องประชุมชั้น 22 โรงแรมพรีเมียร่า กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มร่วมเจรจา มาราปาตานี (MARA Patani) ได้เปิดตัวต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก และได้เปิดแถลงข่าวแสดงจุดยืน หลังจากที่ได้รวมกลุ่มมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม

นายอาวัง ญาบัต ประธานกลุ่มมาราปาตานี กล่าวว่า วัตถุประสงค์ที่พบปะสื่อมวลชนในครั้งนี้ เพื่อที่จะทำความเข้าใจในแนวทางของกลุ่มมาราปาตานีที่แท้จริง ที่สามารถเปิดเผยได้ และหวังให้สื่อมวลชนนำข้อมูลเหล่านี้ไปนำเสนอ เพื่อสนับสนุนให้มีการพูดคุยและสามารถนำไปสู่ความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“การก่อตั้งกลุ่มมาราปาตานีขึ้นมาเพื่อให้การต่อสู้เป็นไปตามหลักสันติวิธี ส่วนการใช้กำลังหรือการใช้อาวุธ ก็ต้องไปสู่ขั้นตอนของการหยุดความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย อยู่ที่การสร้างความเข้าใจ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” นายอาวัง ญาบัต กล่าว

สำหรับกลุ่มมาราปาตานี ที่รวมตัวกันจาก 6 กลุ่ม ในครั้งนี้ มีข้อแตกต่างจากกลุ่มที่พูดคุยที่ผ่านมาคือ ทางกลุ่มมาราปาตานี เปิดกว้างให้ทุกกลุ่มสามารถเข้ามาร่วมอยู่ในกลุ่มนี้ได้ ไม่เฉพาะเพียง 6 กลุ่มนี้ กลุ่มเอ็นจีโอ หรือภาคประชาสังคมต่างๆ ก็สามารถเข้ามาอยู่ร่วมกันได้ และเมื่อทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในมาราปาตานี เหตุการณ์ก็จะสามารถลดลงได้ แต่ก็คงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นายอาวังเปิดเผยต่อไปว่า ตนเชื่อว่ายังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุย แต่ทางมาราปาตานีจะยังต้องเดินหน้าพูดคุยต่อไป

สำหรับผู้แทนกลุ่มมาราปาตานีที่ได้เปิดตัวพบปะกับสื่อมวลชนไทยนั้น ประกอบด้วยสมาชิกรวม 7 คน คือ นายอาวัง ญาบัต ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นประธานกลุ่มมาราปาตานี นายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของกลุ่มมาราปาตานี นายหะยีอาหะมัด ชูโว ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น นายอาบูฮาฟิส  อัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่ม บีไอพีพี (BIPP) นายอาบู ยาซีม ผู้แทนจากกลุ่มจีเอ็มไอพี (GMIP) พ.อ. กัสตูรี มาห์โกตา ผู้แทนจากกลุ่มพูโล เอ็มเคพี และนายอาบูอัครัม บินฮาซัน ผู้แทนจากกลุ่มพูโลดีเอสพีพี

“มาราปาตานี” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า MARA Patani (Majis Syura Patani) เป็นชื่อขององค์กรร่วม ที่กลุ่มบีอาร์เอ็นดำริก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแกนกลางในการเจรจากับทางการไทย ซึ่งดาโต๊ะ ซัมซามิน (Dato Sri Ahmad Zamzamin Hashim) สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (Joint Working Group—Peace Dialogue Process, JWG-PDP) ของมาเลเซีย ได้เป็นประธานประสานการประชุมของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทยหกกลุ่ม จนกระทั่งทั้งหกกลุ่มได้เห็นด้วยและรับรองกลุ่มมาราปาตานี ในวันที่ 5 เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา

ข้อเรียกร้องจากฝ่ายมาราปาตานี

ทางด้านนายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะเจรจาของกลุ่มมาราปาตานี กล่าวว่า การพูดคุยสันติสุขกับคณะฝ่ายไทยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานั้น ทางกลุ่มได้เสนอข้อเรียกร้องไปจำนวน 3 ข้อ คือ ให้ยกปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ ยอมรับกลุ่มมาราปาตานี และให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อทีมงานพูดคุยจากทั้งหกกลุ่ม จำนวน 15 คน ซึ่งได้มีการเสนอไปในที่ประชุมไว้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานั้น ยังไม่ได้รับคำตอบ สำหรับเรื่องให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาตินั้น เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะหากไม่เป็นวาระแห่งชาติ ก็จะไม่มีความต่อเนื่องของการพูดคุย

ในเรื่องดังกล่าว ในเบื้องต้น พลตรีนักรบ บุญบัวทอง ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย ได้กล่าวแก่เบนานิวส์ในวันนี้ว่า ทางการไทยได้รับข้อเสนอดังกล่าวมาแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้ากระบวนการพิจารณา ซึ่งจะดำเนินการต่อไป

นายสุกรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าหากรัฐบาลไทยจริงใจที่จะเดินหน้าสันติภาพต่อไป ตนอยากให้ พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถใช้ ม. 44 กำหนดเรื่องนี้ได้ เพราะทราบมาว่ายังไม่ได้มีการกำหนดให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ

ทางด้านนายอาบูฮาฟิส  อัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่ม บีไอพีพี (BIPP)  กล่าวเสริมว่า เรื่องวาระแห่งชาติ ได้ถูกเสนอขึ้นมาหลายครั้ง ตั้งแต่นายฮาซัน ตอยิบ  เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไทยซึ่งเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็เริ่มพูดคุยนับหนึ่งใหม่

“โดยรัฐบาลล่าสุดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ถือว่าวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา เป็นการเริ่มต้นพูดคุยอีกครั้ง ซึ่งทางกลุ่มก็มองเห็นว่า หากไม่เป็นวาระแห่งชาติก็จะไม่มีความต่อเนื่องในการพูดคุย จึงขอความชัดเจนจากรัฐบาลในเรื่องนี้ด้วย” นายอาบูฮาฟิส กล่าว

นายอาบูฮาฟิส  กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยยังคงเรียกมาราปาตานีว่า Party B อยู่ และมีคำขยายความว่า เป็นผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ทางมาราปาตานีอยากให้รัฐบาลไทยเจาะจงไปว่า Party B คือ มาราปาตานี

แต่อย่างไรก็ตามหากข้อเสนอทั้ง 3 ไม่มีการยอมรับ ก็คงจะเดินหน้าพูดคุยต่อไป แต่จะพูดคุยลึกลงไปในสาระสำคัญไม่ได้ เพราะยังไม่มีการยอมรับ ส่วนข้อเสนอของฝ่ายไทย จำนวน 3 ข้อ นั้น ก็จะนำกลับมาพิจารณาภายในกลุ่มต่อไป นายอาบูฮาฟิสกล่าวทิ้งท้าย

มุมมองต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้

นายสุกรี ฮารี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การต่อสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีมาตั้งแต่ยุค 1960 โดยมีรูปแบบการต่อสู้แบบใต้ดินไม่สามารถเปิดเผยได้ ไม่ต้องการให้ใครรู้ ไม่มีการประกาศ สำหรับแต่ละกลุ่มที่ทำการต่อสู้กับรับบาลไทยนั้น ต้องยอมรับว่าแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพูโล จีเอ็มไอพี บีไอพีพี ต่างก็จะมีสองส่วนในการต่อสู้เหมือนกัน คือ ฝ่ายการเมืองและฝ่ายกองกำลังติดอาวุธ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น ไม่มีนโยบายที่จะโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ แต่อย่างใด จะเน้นไปยังเป้าหมายแข็งแกร่ง ส่วนเป้าหมายอ่อนแอที่ได้รับผลกระทบก็เกิดจากการถูกลูกหลง

“ในเรื่องของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าขบวนการพูดคุยสันติภาพตอนนี้ ยังอยู่แค่เพียงสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ จะให้ยุติสถานการณ์ความรุนแรงคงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ายังไม่ถึงขั้นเซ็นสัญญาหยุดยิง” นายสุกรีกล่าว

“หากทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจเชื่อว่ากระบวนการสันติภาพจะเดินต่อไปได้ แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีความจริงใจ คิดว่าจะมีการใช้ความรุนแรงต่อไป และหากยังไม่มีการยอมรับข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ที่ได้เสนอไปเมื่อวันอังคาร เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ก็จะไม่มีกลุ่มไหนออกมายอมรับว่าเป็นคนทำ และในทุกขบวนการสันติภาพย่อมมีกลุ่มผู้ก่อกวนเสมอทั้งฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายมาราปาตานี”

การแยกเป็นรัฐอิสระ ยังคงเป็นเป้าหมายหลักของการเจรจากับประเทศไทย ของกลุ่มมารา ปาตานี ในการเริ่มพูดคุยสันติสุขสำหรับจังหวัดชายแดนใต้อีกครั้ง แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ ในระหว่างการประชุมลับ กับคณะผู้แทนฝ่ายไทย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในวันอังคารที่ 25 ส.ค.นาย อาวัง กล่าวในวันพฤหัสบดี

“จริงๆแล้ว ข้อเรียกร้องที่เป็นจุดมุ่งหมายที่ดิ้นรนต่อสู้กันมานานหลายศตวรรษ ก็ยังคงมีอยู่" ของชาวมุสลิมมลายูที่ต้องการแยกเป็นรัฐอิสระ ในภาคใต้ของไทย ก็ยังคงมีอยู่” นายอาวัง ยะบะ ประธานกลุ่มมาราปาตานี กล่าว ในวันพฤหัสบดีที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ "เป็นข้อเรียกร้องที่อยู่ในเป้าหมายหลัก" นาย อาวัง กล่าวต่อ

ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า ประชาชนจะสนับสนุนกลุ่มมาราปัตตานี มากน้อยแค่ไหน นายอาวัง ญาบัต ประธานกลุ่มมาราปาตานี ตอบว่า "เชื่อว่าประชาชนจาก จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสนับสนุนพวกตนมากขึ้น เพราะความชัดเจนในการต่อสู้ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน แค่บีอาร์เอ็นกลุ่มเดียวมีสมาชิกถึง 9,000 คน ไม่รวมกลุ่มอื่น โดยขณะนี้ กลุ่มขบวนการฯเป็นผู้เสียสละ ในการต่อสู้แบกภาระ เพื่อประชาชน และเมื่อถึงเวลา เราจะให้ประชาชนเลือก การปกครอง จะเป็นเอกราช ปกครองตนเอง หรือจะอยู่ขอบเขตใด เพื่อกำหนดคนของประชาชนปัตตานี โดยคนปัตตานี"

พ.อ. อิศรา จันทะกระยอม ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ในจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า “กลุ่มมาราปาตานี เปิดตัวถือว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่ต้องเกิดจากความจริงใจทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่หยั่งเชิงกัน และต้องมีสัญญาณส่งลงมาให้ถึงเหล่านักรบปาตานี ในพื้นที่ด้วย”

“ส่วนเรื่องที่เสนอ 3 ข้อ ผมว่า ฝ่ายรัฐไทย น่าจะทำได้นะ และไม่เร็วหรอกหากเรียกร้องขอคำตอบ ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เขาเบื่อหน่ายกับเหตุการณ์ความรุนแรงแล้ว คิดว่าขั้นตอนต่อไป แต่ละกลุ่มในกลุ่มมาราปาตานี คงต้องส่งสัญญาณไปยังสมาชิกในกลุ่ม ให้เลือกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ต่อสิ่งที่มาราปาตานีกำลังทำอยู่” พ.อ. อิศรา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง