ครม. ไฟเขียวการบินไทยเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.05.19
กรุงเทพฯ
200519-TH-Thai-airways-restructure-1000.jpg เครื่องบินของการบินไทย ขณะบินลัดฟ้า เหนือสนามบินสุวรรณภูมิ ในกรุงเทพฯ ภาพเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2557
เอเอฟพี

ในวันอังคารนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายกลาง แทนที่การที่รัฐบาลหาเงินทุนสนับสนุนให้ เพราะประเทศต้องรักษาเงินตราไว้ เพื่อใช้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ว่าการตัดสินใจเรื่องการบินไทย เป็นการตัดสินใจเป็นเรื่องยากลำบาก แต่เป็นการตัดสินใจที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยมีแนวทางในการตัดสินใจที่มีอยู่สามทางเลือก คือ (1) หาเงินให้การบินไทยดำเนินการต่อไป (2) ปล่อยให้เข้าสู่สถานการณ์ล้มละลาย และ (3) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาล

“พวกเราทุกคนตัดสินใจว่า เราจะเลือกหนทางแบบที่ 3 ซึ่งเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และจะต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการอีกหลายขั้นตอนต่อไป เพื่อจะแก้ปัญหาภายในขององค์กร และในเรื่องของการประกอบการ เพื่อให้ฟื้นฟูขึ้นมาอย่างที่พวกเราทุกคนคาดหวังไว้นะครับ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“วันนี้ ถึงเวลาแล้วนะครับ ที่เราจะต้องกล้า ที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยการยื่นขอเข้ากระบวนการต่อศาล ได้มีการหารือกันอย่างรัดกุมในรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลานี้ เป็นเวลาที่ประเทศไทยและทั้งโลกกำลังเผชิญวิกฤต รายได้ของทุกคนกำลังหายไป กับหายนะจากโควิด เราก็จำเป็นจะต้องรักษาเงินตราของประเทศไทยเอาไว้ เพื่อใช้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในช่วงเวลาข้างหน้า” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

การบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติ ที่มีต้นกำเนิดมาจากการที่รัฐบาลไทยให้ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด กับ สายการบินสแกนดิเนเวียน ทำสัญญาร่วมทุนระหว่างกัน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2502 จากนั้นในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 บริษัท การบินไทย จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นด้วยทุนประเดิม 2 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศ

ในปัจจุบัน การบินไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งมีกองทุนวายุภักษ์ และธนาคารออมสิน เป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญอีกด้วย แต่ในภายหลังได้ประสบปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน การแทรกแซงจากนักการเมือง การแข่งขันจากสายการบินโลว์คอสต์ และการขายตั๋วโดยเอเย่นต์นอก ที่ทำให้ตั๋วมีราคาแพง ทั้งนี้ ในช่วงสามปีล่าสุด การบินไทย ประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด มีหนี้สินประมาณ 92,000 ล้านบาท และ และยิ่งประสบปัญหาหนักยิ่งขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า การตัดสินใจให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู โดยไม่ปล่อยให้เข้าสู่สถานะล้มละลาย เพราะไม่ต้องการปล่อยให้พนักงานมากกว่าสองหมื่นคน ต้องเสี่ยงต่อการถูกลอยแพ และรัฐบาลก็ยืนยันว่าจะสนับสนุนในการดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อจะให้การบินไทยยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

“แม้ไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล ผมจึงอนุญาตให้การบินไทยเข้าไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของศาล และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งของศาล ซึ่งศาลจะแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการการฟื้นฟูการบินไทย นั่นคือการตัดสินใจของผม”  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แนวทางการฟื้นฟู

ต่อมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แถลงข่าวเพิ่มเติม ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการบินไทย ตามที่มติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ภายใต้คำสั่งศาลทันที และให้บริษัทฯ หลุดพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สื่อสาร และบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ และสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในหุ้น โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนรายย่อย และสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในหุ้นสามัญและหุ้นกู้ของบริษัทฯ และเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้น ให้ต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

“กระทรวงคมนาคม เห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลทันทีเป็นแนวทางที่ดีที่สุด โดยพิจารณาถึงประโยชน์ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะได้รับ หาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ยื่นคำขอเข้ากระบวนการฟื้นฟู ก่อนเจ้าหนี้จะเป็นผู้ยื่นต่อศาล"

"ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล กระทรวงคมนาคม เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐให้ต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และพ้นจากข้อจำกัดของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ และพ้นจากข้อจำกัดของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 เพื่อให้สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาได้” นายศักดิ์สยาม ระบุ

ด้าน นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เปิดเผยหลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ว่า แม้ว่าตอนแรกทางสหภาพฯ มีความกังวล และยืนยันคัดค้านการแปรรูป เพราะไม่อยากเป็นเอกชน แต่เมื่อมติคณะรัฐมนตรีเป็นแบบนี้ เราก็หวังว่าการบินไทยจะสามารถกลับมาแข็งแรงอีกครั้งในเวลาอีก 2 ปี

“เราอาจจะผิดหวังในเรื่องการลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลัง ที่จะทำให้สถานภาพของเราจะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป แต่เราก็ดีใจ ที่นายกฯ ยังไม่ปล่อยให้เราล้มละลาย และยังดูแลพนักงานของเราให้มีงานทำอยู่ แนวทางที่นายกฯ เลือกให้เราถือว่าตอบโจทย์ได้ถูกจุด โดยหวังว่าอีก 2 ปีหลังจากนี้ การบินไทยสามารถกลับมาแข็งแรง ยืนด้วยขาตัวเองได้อีกครั้ง” นายนเรศ ระบุ

ในวันเดียวกันนี้ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งรั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของการบินไทย ได้แถลงว่า แม้ว่าการบินไทยต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แต่ทางองค์กรจะไม่ล้มเลิกกิจการ หรือเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย แต่จะปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้บรรลุผลในการปฏิรูปองค์กรให้จงได้ไปตามลำดับขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ขณะที่การบินไทยยังทำการบินรับส่งผู้โดยสารและสินค้า เช่นเดิม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง