ผบ.ทบ.เผยไทยเตรียมซื้อแบลคฮอว์ค 4 ลำ จากสหรัฐฯ

อารยา โพธ์จา
2017.06.29
กรุงเทพฯ
TH-helicopter-620 พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 (ซ้ายมือ) เดินทางด้วย ฮ.แบล็คฮอว์ค ไปรับผู้ขอมอบตัวตามโครงการพาคนกลับบ้าน (ชายเสื้อดำ) ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560
มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (29 มิถุนายน 2560) นี้ ที่กองบัญชาการกองทัพบก พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า กองทัพบกเตรียมจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ค 4 ลำ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้มีฝูงบินแบล็กฮอว์คครบฝูง ตามโครงการความช่วยเหลือทางทหาร (FMS) หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ งดขายอาวุธให้กับไทยเนื่องจากการรัฐประหารในปี 2557

พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าวว่า กองทัพบกต้องการจัดหาเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์คเพิ่มอีก 4 ลำ จากที่ปัจจุบัน มีอยู่แล้ว 12 ลำ เพื่อให้มีฝูงบินแบล็กฮอว์คครบฝูง 16 ลำ เนื่องจากโครงการจัดหาแบล็กฮอว์คเพิ่มเติมเคยหยุดชะงักในช่วงแรกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ แต่ปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติโครงการแล้ว โดยจะเป็นการจัดซื้อในรูปแบบโครงการความช่วยเหลือทางทหารระหว่างกองทัพบกไทย กับกองทัพบกสหรัฐฯ (Foreign Military Sales – FMS) ใช้งบประมาณปี 2561

“เราต้องการอากาศยานชนิดแบลคฮอว์คเป็นเครื่องทางยุทธวิธี 16 เครื่อง เพื่อใช้เคลื่อนย้ายกำลังทหารราบหนึ่งกองร้อยไปสู่พื้นที่ปฏิบัติการ โดยใช้อากาศยานที่เราเรียกว่ายุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ ที่ผ่านมาเรามีอยู่ 12 เครื่อง แล้วเราก็มาชะงักตอนที่ คสช. เข้ามา สหรัฐฯ อนุมัติให้ดำเนินการแล้วอีก 4 เครื่อง ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการขั้นตอนตั้งแต่ต้นปี เข้าสภา รับทราบอะไรเรียบร้อย เป็นการจัดหาแบบเอฟเอ็มเอส” พลเอกเฉลิมชัยกล่าว

ด้าน สถานทูตสหรัฐอเมริกา ในกรุงเทพฯ ยืนยันแผนดำเนินการขายดังกล่าว และเสริมว่า ทั้งสองประเทศมี "ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงอันยาวนาน" รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์

พลเอกเฉลิมชัยไม่ได้ระบุว่า งบประมาณในการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอว์คชุดใหม่ 4 ลำนี้ มีมูลค่าเท่าใด แต่จากตัวเลขของสำนักงานความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคงของสหรัฐฯ (The Defense Security Cooperation Agency) ที่แจ้งให้รัฐสภาสหรัฐฯทราบเมื่อปี 2012 การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอว์ค UH-60M พร้อมด้วยอะไหล่และอื่นๆ มีมูลค่า 235 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแผนการเดินทางมากรุงวอชิงตัน

การประกาศแผนการเดินทางดังกล่าวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีขึ้นระหว่างที่ นายดอนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายงานว่าได้เชิญพลเอกประยุทธ์ มาเยี่ยมเยียนทำเนียบขาวในเดือนหน้า โดยยังไม่ได้ระบุวันที่ของการเดินทาง ซึ่งการเดินทางมาสหรัฐฯ ครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการเจรจาตกลงการจัดซื้ออาวุธกับสหรัฐอเมริกาต่อไป

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ พลตรีคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงความจำเป็นของการจัดซื้ออาวุธว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องถ่วงดุลความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน และไทยกับสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้โน้มเอียงไปทางประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยได้มีการเจรจาความร่วมมือกับทั้งสองประเทศ

“ตอนนี้เราเลยต้องถ่วงดุล และไปซื้ออาวุธจากจีน เราก็นำปัญหาที่คุยกับสหรัฐฯ มาคุยกับจีนว่า ต่อไปการซ่อมบำรุงจะมีอะไหล่ให้เรามากน้อยแค่ไหน จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราหรือไม่ เราคุยผ่านทูตสหรัฐฯ ไปแล้วว่า เราอยากได้อาวุธของเขา เราก็จะดูความร่วมมือในการจัดหาร่วมกัน เพราะสหรัฐฯกับไทย เป็นพันธมิตรร่วมกันมาช้านาน โครงสร้างการจัดหน่วยของไทย หลักนิยม ก็เป็นของสหรัฐฯ” พล.ต.คงชีพ กล่าว

ถึงปัจจุบัน ไทย-สหรัฐอเมริกา มีความสัมพันธ์ทางการระหว่างกันเป็นระยะเวลา 184 ปี โดยมีความร่วมมือด้านกลาโหมอย่างต่อเนื่อง เช่น การร่วมรบในสงครามเกาหลี  การตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศไทยช่วงสมัยสงครามอินโดจีน และการซ้อมรบร่วมคอบร้าโกลด์ที่หลังจากการรัฐประหารได้ลดขนาดลง

หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 ประเทศไทยได้หันไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศอื่น เช่น ยูเครน รัสเซีย และจีนมากขึ้น

ในจำนวนโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ล็อตใหญ่ๆ ได้แก่ โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T ชั้นหยวน จำนวน 3 ลำ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 36,000 ล้านบาท ที่ได้กองทัพเรือได้ลงนามจัดซื้อลำแรกไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม และคาดว่าจะได้รับการส่งมอบในปี 2563

นอกจากนั้น กองทัพบกยังได้สั่งซื้อรถถังหลัก VT4 จำนวน 49 คัน หรือหนึ่งกองพันเป็นมูลค่า 4,900 ล้านบาท เพื่อทดแทนรถถัง M-41 ที่ใช้งานมานาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง