ไทย-สหรัฐ เปิดพิธีฝึกรบ 'คอบร้าโกลด์ 2020' กำลังพลเกือบหมื่นนาย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2020.02.25
พิษณุโลก
200225-TH-cobra-gold-1000.jpg นายไมเคิล ฮีธ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตสหรัฐฯ (ซ้ายมือ) พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.ต.พีท จอห์นสัน รองผู้บัญชาการ กองกำลังกองทัพบกสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก ตอบคำถามผู้สื่อข่าว หลังจากการเปิดพิธีฝึกคอบร้าโกลด์ 2020 วันที่ 25 ก.พ. 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ กองทัพไทย และสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 2020 อย่างเป็นทางการ ซึ่งการฝึกในปีนี้เป็น “เฮฟวี่เยียร์” ที่มีจำนวนทหารเข้าร่วมฝึกมากกว่าปกติ และมีการฝึกปฏิบัติหลากหลายภารกิจมากขึ้น ท่ามกลางความเข้มงวดในมาตรการรักษาความปลอดภัยจากเชื้อ COVID-19

พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายไมเคิล ฮีธ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ พล.ต.พีท จอห์นสัน รองผู้บัญชาการกองกำลังกองทัพบกสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งกองทัพไทยและสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพร่วมกันมาเป็นครั้งที่ 39 โดยพิธีได้จัดขึ้นที่กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตของประเทศที่เข้าร่วมการฝึกหลัก ๆ อีก 5 ประเทศ เข้าร่วมในพิธี

เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่าย กล่าวว่า การฝึกรบที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิปิกนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกฯ และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธ์ร่วม/ผสม ประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ

“ในฐานะที่เป็นการฝึกรบที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค คอบร้าโกลด์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความไว้วางใจ และเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันของกองทัพประเทศต่าง ๆ” นายไมเคิล ฮีธ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิด

“การฝึกครั้งนี้ได้เปิดโอกาสที่สำคัญให้แก่กองทัพของเราในการฝึกร่วมกันในภารกิจที่ซับซ้อนและท้าทาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเตรียมพร้อมในการรบ ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องปกป้องค่านิยมและประเทศที่เราอุทิศตนให้ หรือ ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อรับจัดการกับวิกฤตการณ์และความขัดแย้ง โดยการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมรบของเรา” นายไมเคิล ฮีธ กล่าว

“การฝึกในปีนี้ จะมีการฝึกที่ดีกว่าเดิมสำหรับกองทัพที่เข้าร่วม ที่รวมถึงการฝึกร่วมกันที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การฝึกที่ให้ความรู้ที่สำคัญๆ และการฝึกกำลังพลในด้านการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์” นายไมเคิล ฮีธ กล่าวเพิ่มเติม

ตามแผนการเดิม ในปีนี้ มีประเทศที่เข้าร่วมการฝึกในระดับต่าง ๆ รวม 29 ประเทศ มียอดผู้เข้าร่วมการฝึกจำนวนกว่า 9,650 นาย ประกอบด้วยไทย 3,750 นาย สหรัฐฯ 5,500 นาย สิงคโปร์ 47 นาย ญี่ปุ่น 142 นาย อินโดนีเซีย 50 นาย สาธารณรัฐเกาหลี 30 นาย มาเลเซีย 51 นาย จีน 32 นาย และอินเดีย 13 นาย โดยทางสหรัฐอเมริกาส่งเรือรบ 2 ลำ คือ เรือ USS America และ USS Green Bay ได้จัดเตรียมเครื่องบินรบ 64 ลำ และกองทัพอากาศสหรัฐฯ ยังได้ส่งเครื่องบิน F-15 และ F-35 ซึ่งใช้เทคโนโลยีลดการสะท้อนเรดาร์มาร่วมฝึกอีกด้วย

พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่าในปีนี้ กองทัพเกาหลีส่งกำลังพลลงมาน้อยกว่าที่กำหนดไว้ เพราะมีปัญหาด้านความปลอดภัยจากโรค COVID-19 ซึ่งทางเจ้าภาพการฝึกได้ให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

“ผมชื่นชมในความกล้าหาญกำลังพล ที่ไม่กลัวต่อสภาวะยากลำบากจากการระบาดของโรค COVID-19 อย่างไรก็ตาม กองทัพไทยได้วางมาตรการความปลอดภัยให้กับกำลังพลทุกคนที่เข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มการฝึกมา เรายังไม่ได้รับรายงานการติดเชื้อ ผมยืนยันว่าเรามีแผนในการรับมือการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว และมาตรการที่จะรักษาสุขภาพและให้ความปลอดภัยแก่ทุกคน” พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี กล่าวในพิธีเปิดการฝึก

ในปีนี้ ทางสหรัฐอเมริกาส่งเรือรบ 2 ลำ คือ เรือ USS America และ USS Green Bay ได้จัดเตรียมเครื่องบินรบ 64 ลำ และกองทัพอากาศสหรัฐฯ ยังได้ส่งเครื่องบิน F-15 และ F-35 ซึ่งใช้เทคโนโลยีลดการสะท้อนเรดาร์มาร่วมฝึกอีกด้วย

“F-35 เป็นเครื่องบินรบที่มีความก้าวหน้าที่สุดที่เรามี มีความสามารถในการหลบเครือข่ายเรดาร์ และระบบการตรวจจับเป้าหมายที่ไม่มีในเครื่องบินรบอื่น ๆ นอกจากเป็นการแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของเครื่องแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อพันธมิตรของเราอีกด้วย เรานำของที่ดีที่สุด ไม่เพียงเครื่องบิน แต่ยังนำทหาร นาวิกโยธิน ที่เป็นตัวแทนทหารอเมริกันที่ดีที่สุด เพื่อฝึกร่วมกับพันธมิตรและประเทศที่เข้าร่วมการฝึกด้วย” พล.ต.พีท จอห์นสัน รองผู้บัญชาการกองกำลังกองทัพบกสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ส่วนการฝึกที่น่าสนใจอื่น ๆ ประกอบด้วย การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibious Exercise: AMPHIBEX) ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หาดยาว จังหวัดชลบุรี และ การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (Combined Arms Live Fire Exercise: CALFEX) จัดกำลังจากฝ่ายไทย สหรัฐฯ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น โดยมีการปฏิบัติ ในวันที่ 6 มีนาคม 2563 ณ สนามฝึกกองทัพภาคที่ 3 อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย

ทั้งนี้ นอกจากประเทศที่เข้าร่วมการฝึกหลัก 7 ประเทศแล้ว ยังมีประเทศที่ร่วมฝึกในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ จีนและอินเดีย

ส่วนประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) ที่ฝ่ายสหรัฐฯ เสนอให้เข้าร่วม จำนวน 10 ประเทศนั้น ประกอบด้วยออสเตรเลีย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และฟิจิ

และประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึก หรือ COLT (Combined Observer Liaison Team) ที่ฝ่ายไทยเสนอจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ลาว เวียดนาม บรูไน เมียนมา ปากีสถาน กัมพูชา อิสราเอล เยอรมนี สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง