สหรัฐฯ ส่งมอบยานเกราะสไตรเกอร์ชุดแรกให้ไทย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.09.12
กรุงเทพฯ
TH-US-strykers-1000.jpg พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.โรเบิร์ต บราวน์ ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกประจำภาคพื้นแปซิฟิก กองทัพสหรัฐอเมริกา เดินสังเกตการณ์รถยานเกราะสไตรเกอร์ ระหว่างพิธีส่งมอบ ที่กองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพฯ วันที่ 12 กันยายน 2562
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.โรเบิร์ต บราวน์ ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกประจำภาคพื้นแปซิฟิก กองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมพิธีรับมอบยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ 10 คัน ที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยในสัปดาห์เดียวกันนี้ ราชนาวีไทยก็ได้ลงนามซื้อเรือยกพลขึ้นบกจากจีนเช่นกัน

ประเทศไทยได้สั่งซื้อรถยานเกราะสไตรเกอร์จากสหรัฐฯ 47 คัน มูลค่า 3,710 ล้านบาท และสหรัฐฯ แถมให้ 23 คัน โดยทั้งสองฝ่ายกล่าวว่า การส่งมอบครั้งนี้ เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมของความสัมพันธ์ทางทหารอันดีของสองประเทศ เพื่อการรับมือกับความท้าทายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และพื้นที่รอบๆ ประเทศพันธมิตร

การจัดซื้อสไตรเกอร์ครั้งนี้ สืบเนื่องจากการเยือนรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ของพล.อ.อภิรัชต์ และคณะ ระหว่างวันที่ 28 พ.ย. ถึง 3 ธ.ค. 2561 ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับ พล.อ.โรเบิร์ต เกี่ยวกับการจัดหายานเกราะล้อยางที่ประจำการอยู่ใน กองทัพสหรัฐฯ โดยทางกองกำลังทางบกประจำภาคพื้นแปซิฟิก พร้อมสนับสนุนการจัดหาในราคาที่เหมาะสม นำมาสู่การสั่งซื้อและส่งมอบในครั้งนี้ โดย สไตรเกอร์ 10 คันแรก ถูกส่งจากสหรัฐฯ มายังประเทศไทยเมื่อปลายเดือนสิงหาคม โดยเครื่องบินลำเลียงซี-17

พล.อ.โรเบิร์ต บราวน์ ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกประจำภาคพื้นแปซิฟิก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ในพิธีรับมอบ ที่กองบัญชาการกองทัพบก

“ผมคิดว่า การส่งมอบครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ กับไทย ซึ่งแสดงให้เห็นความพยายามอันแน่วแน่ที่จะจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และรอบๆ ประเทศพันธมิตรของเรา” พล.อ.โรเบิร์ต กล่าว

“ผมภูมิใจที่ได้มาอยู่ที่นี่ในวันนี้ ร่วมกับหุ้นส่วนและพันธมิตรสำคัญของเรา กองทัพบกไทย โดยไทยเป็นประเทศแรก ที่ได้รับยานพาหนะอันยอดเยี่ยมนี้ไปเพื่อเพิ่มความทันสมัยให้แก่กองทัพ และเป็นเครื่องยืนยันว่า ทหารไทยและประชาชนไทยจะได้รับการปกป้อง และพร้อมสำหรับการรับมือกับทุกสถานการณ์ในอนาคต” พล.อ.โรเบิร์ต กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า กองทัพบกไทย-สหรัฐ มีความสัมพันธ์อันดีกันมาอย่างยาวนาน การส่งมอบรถยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพบกไทย

“พิธีรับมอบยานเกราะสไตรเกอร์ในวันนี้ ถือเป็นก้าวที่สำคัญของการพัฒนาสู่ความทันสมัยของกองทัพบกไทย และเป็นการพัฒนาของหลักนิยมที่กองทัพบกไทยได้ใช้แนวคิดเดียวกันกับกองทัพบกสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลามากกว่า 50 ปี ไม่เคยเปลี่ยนแปลง การได้รับยานเกราะสไตรเกอร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเพิ่มขีดจำกัดของกองทัพบกไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์อันเป็นรูปธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

พล.อ.โรเบิร์ต ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์หน่วยแรกของสหรัฐฯ และเคยรบในสงครามอิรัก ระบุว่า ตนเองสามารถยืนยันประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยม ของยุทโธปกรณ์ชิ้นใหม่ที่กองทัพบกไทยเพิ่งรับมอบในวันนี้ได้

“กองทัพจำเป็นต้องมียุทโธปกรณ์ที่ดีที่สุดสำหรับทหาร และผมสามารถยืนยันได้จากประสบการณ์ตรงของผมเอง ผมเคยใช้สไตรเกอร์เป็นระยะทางกว่า 7.5 หมื่นไมล์ ในอิรัก และเคยถูกยิงด้วยจรวดอาร์พีจี โจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่อง ระเบิดฆ่าตัวตาย และ อาวุธหลายๆ ชนิด แต่ผมยังมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ใช่สไตรเกอร์ผมน่าจะไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้แล้ว ผมยืนยันได้ว่า สไตรเกอร์คือสุดยอดยานพาหนะสงคราม” พล.อ.โรเบิร์ต กล่าว

ความร่วมมือของไทย-สหรัฐฯ ไม่ใช่การยั่วยุใคร

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ มีปัญหาหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557 ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้พันธมิตรสำคัญนอกกลุ่มนาโต้อย่างไทย จำเป็นต้องซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ จากประเทศจีน และยูเครนแทน กระทั่งไทยยืนยันว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว

พล.อ.อภิรัชต์ ยืนยันว่า กองทัพบกต้องการที่จะซื้อสไตรเกอร์เพิ่ม เพื่อเติมเต็มจำนวนในการจัดตั้งเป็น กรมยานเกราะสไตรเกอร์ ตามรูปแบบการจัดหน่วยแบบกองพลน้อยของสหรัฐฯ (Brigade Combat Team - BCT) อย่างไรก็ตาม การซื้อครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อนำมาทดแทนรถยานเกราะจากประเทศจีน และยูเครน ที่กองทัพบกไทยมีอยู่ก่อนหน้าแล้ว

ทั้งนี้ สื่อมวลชนตั้งคำถามกับ พล.อ.โรเบิร์ตว่า การที่สหรัฐฯ ขายสไตรเกอร์ให้กับไทย จะทำให้ประเทศจีนมองว่าเป็นการยั่วยุหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.โรเบิร์ต ระบุว่า ตนเองไม่เชื่อเช่นนั้น

“ประเทศจีนเพิ่งได้มาร่วมประชุมกองทัพบกกลุ่มประเทศภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ประจำปี 2562 ที่ไทย-สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพร่วม ผมคิดว่า พวกเขาเข้าใจ ทุกประเทศต้องการที่ได้รับความปลอดภัยสูงสุด และมียุทโธปกรณ์ที่ดีที่สุดสำหรับทหาร และประเทศของพวกเขา ผมไม่เชื่อว่า มันจะเป็นการยั่วยุแต่อย่างใด” พล.อ.โรเบิร์ต กล่าวถึงการที่ตัวแทนกองทัพบกจีนได้มาร่วมประชุมที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 9-11 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา

พิธีส่งมอบสไตรเกอร์ เกิดขึ้นเพียงสามวันหลังจากที่มีรายงานข่าว ราชนาวีไทยได้ลงนามในสัญญาซื้อเรือยกพลขึ้นบก Type 071E มูลค่าประมาณสี่พันล้าน ซึ่งแหล่งข่าวทหารเรือกล่าวว่า การจัดซื้อในครั้งนี้เพื่อใช้ในการยกพลขึ้นบก เป็นการสนับสนุนเรือดำน้ำที่ซื้อจากจีน และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ เป็นต้น

โดย ไชน่าชิปบิลดิ้ง อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น (China Shipbuilding Industry Corp.) ได้ลงนามในข้อตกลง ที่กรุงปักกิ่ง กับกองทัพเรือไทย เพื่อส่งออกเรือยกพลขึ้นบก ตามรายงานของไชน่ามิล วันพุธนี้ ซึ่งไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของมูลค่า และอื่นๆ หรือวันส่งมอบ

“นี่เป็นครั้งแรกที่จีนจะมีการส่งออกเรือยกพลขึ้นบก นอกประเทศ และถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญระหว่างจีนและไทยในความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” ไชน่ามิลรายงาน

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ดีขึ้น และไทยต้องการคานอำนาจจีน

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมทางทหารระหว่าง ไทย-สหรัฐฯ ในห้วงเวลานี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกำลังกลับมาดีอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งของไทย

“เป็นการต่อสู้แข่งขันทั้งด้านการเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการทหาร พร้อมกันไประหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างสหรัฐฯกับไทยที่แน่นแฟ้นขึ้น ก็เป็นปฎิกิริยาสะท้อนมาจากยุทธศาสตร์สองประการของจีน คือ One Belt One Road (สายแถบและเส้นทาง) ที่เป็นการเชื่อมต่อทางบก และ String of Pearl (สายประคำไข่มุก) เป็นการรุกเข้ามาในเส้นทางทะเล อาเซียนเป็นภูมิภาคสำคัญที่สหรัฐฯ และจีนกำลังเล่นเกมแห่งอำนาจกัน" ผศ.ดุลยภาค กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ผศ.ดุลยภาค ชี้แจงว่า สหรัฐฯ เสียเปรียบจีนในด้านภูมิศาสตร์ แต่มีจุดแข็งทางด้านการทหาร เพราะสหรัฐฯ มีฐานทัพอยู่ที่ฮาวาย ซึ่งนับว่าใกล้ชิดกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ประกอบกับการที่ประเทศในอาเซียนหลายประเทศไม่สบายใจกับการขยายอำนาจทางการทหารของจีนเข้ามาในภูมิภาคนี้ เพราะทำให้หลายประเทศมีข้อพิพาทเรื่องน่านน้ำกับจีน

“เราจะเห็นสหรัฐฯ ใช้ความสัมพันธ์ทางด้านการทหารเป็นตัวนำ โดยเฉพาะกับไทย ซึ่งมีรัฐบาลที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับทหาร ทำให้เห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ทางด้านการทหารระหว่างสหรัฐฯ กับไทยในระยะหลังเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ปัจจัยที่ส่งให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นก็คือ ไทยมีความสำคัญทางด้านภูมิศาสตร์การเมือง เพราะอยู่ใจกลางของอินโดจีน และเป็นประเทศหลักใน CLMV (กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม) ทำให้สหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญ ในขณะที่บรรยากาศการเมืองไทยเริ่มเปลี่ยน มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้สหรัฐฯ สบายใจมากขึ้นที่จะกระชับความสัมพันธ์ด้วย” ผศ.ดุลยภาค กล่าว

"ไทยเองพยายามที่จะคานอำนาจของจีน โดยเฉพาะทางด้านการทหาร และไทยก็จับตาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกัมพูชาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากจีนได้เข้ามาพัฒนาสีหนุวิลล์ และเกาะกง ของกัมพูชา ซึ่งหากว่า จีนส่งกำลังทหารเข้ามาประจำที่ในเขตดังกล่าว อาจทำให้จีนสามารถเข้ามาแทรกแซงในอ่าวไทย ประกอบกับไทยและกัมพูชาก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งมีทรัพยากรน้ำมันอยู่ด้วย ดังนั้น การเพิ่มความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องการ" ผศ.ดุลยภาค ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง