นักสิทธิ-วิชาการ : ครม.ผ่านร่างทำแท้งถูกกฎหมาย ไม่สะท้อนความต้องการจริง

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.11.19
กรุงเทพฯ
201119-TH-abortion-620.JPG หญิงมีครรภ์จ้องโทรศัพท์มือถือ ด้านนอกสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ใกล้กรุงเทพฯ วันที่ 20 มีนาคม 2020
รอยเตอร์

นักสิทธิสตรี และนักวิชาการด้านสตรี ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าผู้หญิงสามารถทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และจะไม่ถูกลงโทษ หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยชี้ว่า การทำแท้งเป็นสิทธิของผู้หญิง หากการกำหนดอายุครรภ์เพียง 12 สัปดาห์สั้นเกินไป ควรขยายเป็น 20 สัปดาห์ เพื่อไม่เป็นการเร่งรัดให้ผู้หญิงต้องตัดสินใจอย่างไม่รอบคอบ

น.ส.มัจฉา พรอินทร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสตรี และผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ร่างแก้กฎหมายทำแท้งที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบ ครม. เมื่อสองวันก่อน ไม่ได้สะท้อนความก้าวหน้าอย่างแท้จริง ควรขยายอายุครรภ์ เพื่อเพิ่มเวลาให้ผู้หญิงได้ตัดสินใจเกิน 12 สัปดาห์

“ความก้าวหน้าที่แท้จริงคือ การตระหนักว่าการทำแท้งเป็นสิทธิมนุษยชน คนที่มีความจำเป็นต้องทำแท้ง ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมาย หมายความว่าจะต้องไม่ผิดกฎหมาย และอยู่ในการดูแลควบคุมของรัฐที่ฟังเสียงผู้หญิง ฉะนั้นการใช้เงื่อนไข 12 สัปดาห์ไม่สะท้อนความต้องการแท้จริงของผู้หญิง” นางมัจฉา ระบุ

“อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ คือ ความเป็นไปได้สูงสุด และยังปลอดภัยในกระบวนการของแพทย์ผู้ให้บริการ ผู้หญิงเองจะอยู่ในจุดที่สามารถตัดสินใจได้ เพราะถ้าอายุครรภ์มากกว่านั้น อาจมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย ส่วนแพทย์ควรมีหน้าที่ให้บริการที่ปลอดภัย และไม่ควรเป็นผู้แบกรับความผิดทางกฎหมายไม่ว่าจะ 12 หรือ 20 สัปดาห์ก็ตาม แพทย์จึงต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนให้เลือกใช้วิธีการที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้หญิงเป็นหลัก” นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสตรี กล่าวเพิ่มเติม

โดยการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามคำร้องของ แพทย์หญิงศรีสมัย เชื้อชาติ ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก มีความผิดอาญานั้นเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินจำเป็น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และ มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

ศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยหากไม่มีการแก้ไขหรือแก้ไขไม่แล้วเสร็จภายใน 360 วัน ตามรัฐธรรมนูญจะถือว่า มาตรา 301 ไม่มีผลบังคับใช้ทันที ทำให้ในวันที่ 3 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 ซึ่งเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อมา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวหลังการประชุม ครม. ว่า ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างปรับแก้กฎหมายการทำแท้งที่คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอเข้ามาแล้ว

“สรุปง่าย ๆ ก็คือ ถ้าไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด… มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมที่กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” น.ส.รัชดา กล่าว

น.ส.รัชดา ระบุว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ คือ การแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 301 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้ จากเดิมที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ทำแท้งโดยเด็ดขาด ซึ่งการกำหนดอายุครรภ์ให้ไม่เกิน 12 สัปดาห์เป็นไปตามความเห็นของ แพทยสภา และราชวิทยาลัย สูตินารีแพทย์ แห่งประเทศไทย เนื่องจาก 12 สัปดาห์เป็นระยะเวลาที่ปลอดภัยที่สุด ในการทำแท้ง ไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ทำแท้งเกิดอาการแทรกซ้อนและเป็นอันตรายต่อชีวิต

ขณะที่ มาตรา 305 จากเดิมที่ระบุว่า ถ้าการกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทําของนายแพทย์ และ (1) จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทําไม่มีความผิด ซึ่งร่างกฎหมายใหม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อยกเว้น

“ผู้กระทำไม่มีความผิด (1) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกาย หรือจิตใจของหญิงนั้น (2) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากทารกคลอดออกมา จะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง (3) หญิงมีครรภ์ เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ (4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์” น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปของการแก้ไขกฎหมายการทำแท้ง คือ ครม. ส่งร่างแก้ไขเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยจะพิจารณาใน 3 วาระ หากเห็นชอบจะส่งต่อให้ วุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณา 3 วาระ ถ้าผ่านความเห็นชอบจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าหากไม่ขัดจะทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป

เงื่อนไข 12 สัปดาห์ .. เร่งรัดผู้หญิงเกินไป

ด้าน น.ส.ธัชชนก สัตยวินิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์เเละนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้เชี่ยวชาญด้านสตรีศึกษา เผยกับเบนาร์นิวส์ว่า การให้ทำแท้งโดยมีอายุครรภ์เพียง 12 สัปดาห์ เป็นการฝืนความเป็นจริงของผู้หญิงมาก เพราะทำให้ผู้หญิงไม่มีเวลาคิด และไตร่ตรองให้ดี ระยะเวลาดังกล่าว ไม่เพียงพอที่จะรู้รายละเอียดของตัวอ่อนในครรภ์ ว่ามีสุขภาพอย่างไร และเป็นเพศอะไร ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของผู้หญิง

“เงื่อนไข 12 สัปดาห์ เสมือนว่ารัฐกำลังพยายามเร่งรัดให้ผู้หญิงตัดสินใจเร็วขึ้น ทั้งการทำแท้งมันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องต่อรองกับทั้งคนรัก ครอบครัว คนรอบ ๆ ตัว อีกมากมาย อาจกล่าวได้ว่ารัฐกำลังพยายามจะควบคุมร่างกายของผู้หญิง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเพิ่มประชากร โดยสนับสนุนการเกิด อย่างที่เราเห็นจากโครงการ เช่น ลดหย่อนภาษีที่ผู้หญิงมีลูก ในแง่นี้รัฐจึงไม่ต้องการให้คนทำแท้ง” อาจารย์ธัชชนก กล่าว

“ตัวอย่าง กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งของเวียดนามนั้น โดยทั่วไปอายุครรภ์จะอยู่ที่ 13-18 สัปดาห์ นั่นเพราะเขามีจุดประสงค์ชัดเจนในเรื่องของการยุติการตั้งครรภ์ตามเพศที่คาดการณ์ไว้ของทารก ไม่ว่าจะเป็นเพราะเรื่องระบบสังคมปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่) หรืออะไรก็ตาม ก็ยังชัดเจนว่ามีมาตรฐาน ขณะที่ร่างกฎหมายที่ผ่านฉบับนี้ แทบจะไม่ได้มีประโยชน์มากนักต่อผู้หญิง ที่ต้องการเวลาในการที่จะตัดสินใจบนฐานเงื่อนไขต่าง ๆ ในสังคมด้วยซ้ำ” อาจารย์ธัชชนก ระบุ

ด้าน เครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (Referral System for safe Abortion - RSA) ในการดูแลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ในการทำแท้งถูกกฎหมาย เนื่องจากเชื่อว่าจะเป็นการผลักให้หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการทำแท้งหลังจากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ไปใช้บริการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยได้

“เครือข่าย RSA จึงเสนอให้ 1. ผู้หญิงตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์ต่ำกว่า 20 สัปดาห์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย 2. ตัวอ่อนในครรภ์พิการ ยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความรุนแรง 3. บุคลากรสุขภาพอื่นสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้ความควบคุมของแพทย์… ยุติการตั้งครรภ์ คือ การรักษาเพื่อไม่ให้ไปทำแท้งเถื่อน ในกรณีที่มีเงื่อนไขจำเป็น ซึ่งเขาตัดสินใจมาแล้วจะยุติการตั้งครรภ์ โดยที่หาผู้ให้บริการไม่ได้ เราช่วยเหลือให้มีความปลอดภัย ไม่ต้องตกเลือด ติดเชื้อ เสียชีวิต”​ ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง