ศาลอาญายกฟ้องข้อหากบฎ 4 แกนนำ กปปส. ชุดแรก

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.07.25
กรุงเทพฯ
190725-TH-protesters-antiYingluck-1000.jpg กลุ่มผู้ประท้วงหลายหมื่นคน ร่วมต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะนั้น เข้ายึดพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2557
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดี ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง 4 แกนนำ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในความผิดฐานร่วมกันก่อการกบฏ มั่วสุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ กรณีชุมนุมขับไล่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในปี 2557 โดยศาลระบุว่า หลักฐานไม่เพียงพอ ขณะที่โฆษกสำนักงานอัยการกล่าวว่า คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด เพราะเป็นเพียงศาลชั้นต้น อาจมีการอุทธรณ์

คดีนี้ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 57 ปี หนึ่งในผู้บริหารสื่อเครือเนชั่นกรุ๊ป, นายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 42 ปี อดีต ส.ส.กทม. ปัจจุบัน เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 68 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายเสรี วงศ์มณฑา อายุ 70 ปี นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด เป็นจำเลยที่ 1-4

จำเลยทั้งหมดถูกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ, เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้น แต่ไม่เลิก ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างเพื่อบังคับรัฐบาล ร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 209, 210, 215, 362, 364, 365 และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของกกต. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มา ซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76,152 รวมทั้งหมด 8 ข้อหา

“ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานเห็นว่า แม้ฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 1-4 เป็นแกนนำพากลุ่มผู้ชุมนุมไปสถานที่ต่าง ๆ และมีเหตุการณ์นำโซ่คล้องประตู ล็อคกุญแจ ตัดไฟฟ้า ปิดล้อมสถานที่ต่างๆตามฟ้อง หรือขัดขวางเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่กลับปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์อีกว่า จำเลยทั้งสี่ไม่เคยปราศรัยในลักษณะเป็นผู้สั่งการ หรือร่วมกับผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการใดๆ ที่เป็นความผิดอาญาตามฟ้อง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

คำพิพากษาบรรยายว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เป็นการประชุมทางการเมือง อันเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสี่ เช่นเดียวกับประชาชนที่มาเข้าร่วมกับการชุมนุมกับจำเลยทั้งสี่ ถือเป็นการแสดงออกทางเสรีภาพของผู้ชุมนุมที่มีความเห็นตรงกันทางการเมือง ย่อมมีสิทธิที่จะมาร่วมชุมนุมกันได้ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การชุมนุมเพื่อการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

“จำเลยทั้งสี่ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดนั้นด้วย ประกอบกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ 54/2556, ที่ 58/2556, ที่ 59/2556 และที่ 21/2557 ก็มีคำวินิจฉัยว่า การที่กลุ่ม กปปส. ออกมาชุมนุมคัดค้านเป็นการชุมนุมของประชาชนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรคหนึ่ง และมาตรา 63 วรรคหนึ่ง… พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

โดยหลังฟังคำพิพากษา นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า คำพิพากษาของศาลได้มองเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นไปภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด

“จำเลยทั้งสี่คน รู้สึกดีใจ เพราะขึ้นศาลต่อสู้คดีมานานเกือบ 5 ปี และมีความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันพอสมควร ย้ำว่าพวกเราทุกคนยึดถือ และเคารพกระบวนการยุติธรรม มาศาลทุกครั้งไม่เคยขาด เมื่อใครเดินทางไปต่างประเทศ ก็กลับมาตามกำหนดนัดทุกครั้ง” นายสกลธี กล่าว

ด้าน นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวแก่สื่อมวลชนหลังศาลมีคำพิพากษาว่า คดีนี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุดตามกฎหมาย ขั้นตอนต่อไป คณะทำงานของอัยการจะดำเนินการขอคัดคำพิพากษาฉบับเต็ม พร้อมถ้อยคำสำนวนศาล เพื่อพิจารณาว่า จะอุทธรณ์คดีหรือไม่ต่อไป

“อธิบดีอัยการศาลสูง จะเป็นผู้รับผิดชอบ และกำกับดูแลการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์ว่า จะอุทธรณ์หรือไม่ ขณะนี้ต้องถือว่าคดียังไม่ถึงที่สุดตามกฎหมาย” นายประยุทธ ระบุ

ประวัติการต่อสู้ของ กปปส.

การชุมนุมของประชาชนในนาม กปปส. เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยที่ได้ เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน (พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการยกโทษให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในวิกฤตทางการเมืองทุกคน ซึ่งอาจหมายรวมถึง นายทักษิณ ชิณวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย

ซึ่งประชาชนบางส่วน ไม่เห็นด้วยกับการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ จึงเริ่มชุมนุมครั้งแรกที่ สถานีรถไฟสามเสน และใช้การเป่านกหวีดเป็นสัญลักษณ์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการปราศรัย ต่อมา แม้สภาผู้แทนราษฎรจะถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ออกจากการพิจารณาแล้ว แต่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป โดยเปลี่ยนประเด็นมาเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลงจากตำแหน่ง และเรียกร้องการปฎิรูปประเทศไทย เพื่อขับไล่ “ระบอบทักษิณ”

จนกระทั่ง เดือนธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา เพื่อให้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ กปปส. ยังคงประท้วงขับไล่รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และขัดขวางการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทำให้มีบางหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถจัดการเลือกตั้ง และประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

ระหว่างการชุมนุม ผู้ร่วมชุมนุมได้เข้ายึดสถานที่สาธารณะ และสถานที่ราชการหลายแห่ง จนทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับกลุ่มผู้คัดค้านการชุมนุม มีการใช้อาวุธสงคราม และระเบิด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน และบาดเจ็บกว่าหนึ่งพันคน ตลอดระยะเวลาการชุมนุมราว 7 เดือน

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเดือนมีนาคม 2557 ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ และวินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 10 คน พ้นจากตำแหน่ง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่มีผู้นำ ทหารจึงประกาศกฎอัยการศึก และประกาศยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากนั้นได้มีการฟ้องร้อง แกนนำ กปปส. เพื่อเอาผิดฐานกบฎ และขัดขวางการเลือกตั้ง

โดย คดีของนายสนธิญาณ และพวกรวม 4 คน ถือเป็น คดี ของแกนนำ กปปส. ข้อหากบฎ สำนวนแรกจาก 5 สำนวน โดยอีก 4 สำนวนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น มีจำเลย 28 คน มีพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องทั้งหมด ซึ่งมีแกนนำ กปปส. ที่ถูกดำเนินคดี มีคนที่มีชื่อเสียง เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายชุมพล จุลใส, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, นายอิสสระ สมชัย, นายวิทยา แก้วภราดัย, นายถาวร เสนเนียม, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์, นางอัญชะลี ไพรีรัก, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, พระสุวิทย์ ทองประเสริฐ (พุทธะอิสระ), น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร เป็นต้น

ปัจจุบัน จำเลยทั้งหมดได้รับการประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์ 600,000 บาท พร้อมมีเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง