ศาลอาญายกฟ้องจ่านิวและพวก ชี้ไม่ได้สร้างความปั่นป่วน
2019.09.20
กรุงเทพฯ
ในวันนี้ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ยกฟ้อง นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว และพวกรวม 6 คน ในคดีร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย ยุยง ปลุกปั่น ก่อความไม่สงบ ตามมาตรา 116 และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จากการจัดการปราศัยที่ถนนราชดำเนิน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เร่งรัดการเลือกตั้งก่อนสิ้นปี 2561
ในคดีนี้ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, นายอานนท์ นำภา, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำการให้ปรากฏด้วยวาจา หรือวิธีการใดที่ไม่ใช่ความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน
“ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ก่อนการสืบพยานหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 แล้ว ทำให้การกระทำตามฟ้องในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่เป็นความผิด ให้จำหน่ายข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” คำพิพากษาท่อนหนึ่งระบุ
“จากคำถอดเทปที่จำเลยพูดขณะเกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่ามีการใช้ถ้อยคำหยาบคายหรือที่จะสร้างความรุนแรง และไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ขณะที่การชุมนุมมีวัตถุประสงค์เดียว คือเรียกร้องให้รัฐบาลและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จัดการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย. 6... โดยการเรียกร้องนั้นก็เป็นภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 บังคับใช้ โดยหัวหน้า คสช. ก็ได้ประกาศที่จะให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1-6 จึงเป็นไปตามความมุ่งหมายของกระบวนการประชาธิปไตย” คำพิพากษา กล่าว
“หลังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว พวกจำเลยก็ไม่เรียกร้องอีก จึงฟังได้ว่าการ ชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบ ไม่ได้ยุยงให้เกิดการปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง และเมื่อคำนึงถึงสภาพการณ์ และหลักการตรวจสอบแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ติชมรัฐบาลตามหลักประชาธิปไตยแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พิพากษายกฟ้อง”
ทันทีที่ศาลอ่านคำพิพากษา มารดาของนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ ที่นั่งอยู่ที่เก้าอี้ด้านหลังบุตรชาย ถอนหายใจโล่งอกด้วยความดีใจ โดยนายกาณฑ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ที่ผ่านมามารดาของตนเป็นกังวลเป็นอย่างมาก ร้องไห้ตลอดเวลา
“มันทุกข์ค่ะ กลัวตลอดเวลา นั่งเกร็งมาตลอด รอฟังคำสุดท้ายนี่ละค่ะ พอได้ยินคำว่า ยกฟ้อง มันโล่งมากเลย” มารดานายกาณฑ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ขณะที่บุตรชายยืนลูบหลังให้กำลังใจอยูเคียงข้าง ภายในห้องพิจารณาคดี
ด้านนายอานนท์ นำภา หนึ่งในผู้จำเลย กล่าวว่า คำพิพากษานี้ จะถูกนำไปใช้ในคดีคั่งค้างอีกหลายคดี
“คดีอื่นที่เราโดนก็ปราศรัยในเนื้อหาทำนองเดียวกัน หวังว่าอีก 3-4 คดี จะวินิจฉัยให้อยู่ในกรอบเช่นเดียวกัน เป็นผลการต่อสู้ร่วมกันของคนอยากเลือกตั้งทุกคน นอกจากแกนนำแล้วมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีที่ศาลแขวงอีกหลายสิบคน เราก็ให้กำลังใจและหวังว่าคำพิพากษานี้เป็นบรรทัดฐานให้มวลชนด้วย” อานนท์ นำภา
ด้านนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า ขอบคุณองค์คณะผู้พิพากษาที่เห็นว่าเราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยยึดหลักสันติวิธีมาโดยตลอด ไม่ได้สร้างความกระด้างกระเดื่องรุนแรง
“การที่ประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิ แสดงความเห็น ไม่ถือเป็นการยุยงปลุกปั่น ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้ และเป็นการบอกกับเจ้าหน้าที่รัฐว่าคุณไม่สามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มาปิดปากหรือสร้างความยุ่งยากให้กับชีวิตประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ” นายสิรวิชญ์ กล่าว
นักเคลื่อนไหว: การเลือกตั้ง "การแสดง" ที่รัฐบาลคสช.เขียนบทเอง
หลังจากฟังคำพิพากษา น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า เธอดีใจที่พ้นผิด แต่ขอให้รัฐบาลต่างประเทศเฝ้าติดตามสถานการณ์การเมือง ในประเทศด้วย พร้อมกล่าวว่า วันนี้ มีนักการทูตจากหลายประเทศมาสังเกตการณ์ ฟังคำพิพากษา
“ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่เรายังไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย การที่ต่างประเทศจับตามองสถานการณ์ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องจำเป็น” น.ส.ชลธิชา กล่าว
น.ส.ชลธิชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเพิ่งกลับจากสหรัฐอเมริกา เพื่อตอกย้ำกับรัฐบาลอเมริกาว่า เรายังไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่ผ่านมามีการคอร์รัปชั่น มีการตั้งคำถามมากมาย และคดีคนอยากเลือกตั้ง นี่ไม่ใช่คดีสุดท้ายในยุคของ คสช. มีอีกหลายคดี ขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคน องค์กรระหว่างประเทศช่วยกันเฝ้าจับตามองสถานการณ์ในประเทศไทยหลังจากนี้ด้วย
“มันไม่ใช่การเลือกตั้งจริง ๆ” นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) สำนักงานในกรุงเทพฯ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ที่ ขณะเดินทางมากรุงวอชิงตัน ฐานะกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและกฎหมาย “มันเป็นการแสดง และ คสช. เป็นคนเขียนสคริปต์”
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวรับรองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย และยังมียอดการขายยุทโธปกรณ์ทางทหารสูงลิ่วแก่ไทย ที่ถือเป็นประเทศพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย หลังจากการเลือกตั้ง โดยให้ความเห็นชอบว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และได้เปลี่ยนเป็นรัฐบาลพลเรือนแล้ว
นายยิ่งชีพ ได้ตั้งข้อสงสัยในเกณฑ์บรรทัดฐาน หรือข้อมูลที่ทางวอชิงตัน นำมาใช้ประกอบการให้การรับรองดังกล่าว
นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรรับรู้ด้วยว่า นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยที่หนีไปอยู่ในลาวและกัมพูชา ได้หายตัวไป และผู้เห็นต่างทางการเมืองจากประเทศเพื่อนบ้านที่หลบหนีมาซ่อนตัวในประเทศไทย ได้ถูกจับกุม และบังคับส่งกลับประเทศตน โดยในจำนวนหลายคดี ก็มีการติดตาม เอกสารบันทึก และออกแถลงการณ์ โดยองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ และองค์กรสิทธิอื่น ๆ
“ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน” นางสาวศิริกาญจน์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
เคท เบดดัล ในวอชิงตัน มีส่วนร่วมรายงาน