แอมเนสตี้ เผยทหารเกณฑ์ถูกทำร้าย และละเมิดทางเพศ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมารียัม อัฮหมัด
2020.03.24
กรุงเทพฯ
200324-TH-military-1000.jpg กองกำลังทหารเหล่านาวิกโยธินยืนแถวในระหว่างพิธี ที่ค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 18 ตุลาคม 2562
เอเอฟพี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ได้เปิดเผยข้อมูลในรายงานที่ชื่อ “We were just toys to them” (เราก็เป็นแค่ของเล่นเขา) เมื่อวันจันทร์ โดยรายงานนี้เป็นการสัมภาษณ์ข้อมูลจากทหารเกณฑ์ ครูฝึก และนายทหารระดับ รวม 26 นาย ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลว่า กองทัพไทยเป็นต้นเหตุทำให้ทหารเกณฑ์ใหม่ ต้องตกเป็นเป้าการทำร้ายร่างกาย การกลั่นแกล้งให้อับอาย และถูกละเมิดทางเพศอย่างสม่ำเสมอ โดยมักมีลักษณะเป็นการทรมาน และการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องปกติในกองทัพ

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองทัพภาคที่ 4 กล่าวในวันอังคารนี้ว่า องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่ควรก้าวล่วงกฎหมาย และโจมตีประเทศไทย หลังจากที่เมื่อวานนี้ แอมเนสตี้ฯ ได้ออกรายงานที่ระบุว่า ทหารเกณฑ์ในประเทศไทยถูกคุกคาม ทำร้ายร่างกาย และล่วงละเมิดทางเพศ โดยเป็นข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทหารโดยตรง

“ทหารเกณฑ์เล่าให้ฟังว่า จ่าและครูฝึกทุบตีทำร้ายพวกเขาอย่างทารุณ ด้วยท่อนไม้และด้ามปืน นอกจากนั้นยังถูกละเมิดทางเพศ และถูกฝึกอย่างหนักจนหมดสติ… เจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้นในสายการบังคับบัญชามีส่วนรับผิดชอบต่อวัฒนธรรมความรุนแรง และการเหยียดศักดิ์ศรีของมนุษย์ ทางการไทยต้องดำเนินการโดยทันที เพื่อยุติการปฏิบัติมิชอบ และลดทอนความเป็นมนุษย์เช่นนี้ ก่อนจะถึงรอบการเกณฑ์ทหารประจำปี” น.ส.แคลร์ อัลการ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย รณรงค์ และนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ

รายงานดังกล่าวระบุว่า ทหารเกณฑ์ที่ให้สัมภาษณ์ ต่างพูดถึงการฝึกรูปแบบต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อดูหมิ่นศักดิ์ศรี มีการบังคับให้กระโดดลงไปในบ่อเกรอะ และบังคับให้ทานข้าวโดยห้ามใช้มือ ซึ่งเป็นลักษณะเหมือนสุนัข

“การละเมิดทางเพศและการกลั่นแกล้งให้อับอายจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ถูกครูฝึกบังคับให้ช่วยตนเองจนสำเร็จความใคร่ และให้หลั่งน้ำอสุจิต่อหน้าคนอื่น อีกหลายคนบอกว่าถูกละเมิดทางเพศ หรือเป็นพยานต่อการข่มขืน ทหารเกณฑ์ที่ระบุว่าหรือถูกเข้าใจว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศกล่าวว่า ครูฝึกมักเลือกพวกเขาเป็นเป้าหมายของความรุนแรง การคุกคาม และการเลือกปฏิบัติทางเพศ.. พวกเขามักถูกลงโทษด้วยการทุบตี เตะต่อย และตกเป็นเป้าหมายการทำร้ายร่างกายรูปแบบอื่นๆ” รายงานตอนหนึ่งระบุ

ต่อรายงานดังกล่าว พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองทัพภาคที่ 4 ได้เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ยังไม่เห็นรายงานดังกล่าว แต่ทหารไม่เคยแบ่งชนชั้นในองค์กร โดยทุกคนเป็นเพื่อนร่วมชีวิตที่พร้อมตายแทนกันได้

“ผมยังไม่เห็นรายงานของแอมเนสตี้ แต่มองว่าเขาไม่ควรเข้ามาก้าวล่วง เพราะเป็น พ.ร.บ.และกฏหมายของประเทศเรา และมีคนไทยกลุ่มหนึ่งถูกใช้เป็นเครื่องโจมตีทำลายประเทศตัวเอง.. ใครบ้างที่ต่อต้านการตรวจเลือกทหาร ใครที่พยายามใช้วาทกรรม เพื่อย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทหาร” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

รายงานดังกล่าว เปิดเผยข้อมูลจากคำสัมภาษณ์ทหารเกณฑ์ระบุว่า การตอบเสียงไม่ดังพอ อาบน้ำช้าเกินไป หรือไม่ทำตามคำสั่งอย่างถูกต้องครบถ้วน ดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกลงโทษ

“ทหารเกณฑ์เก้าคน ซึ่งเข้ารับการฝึกในเก้าจังหวัด และห้าผลัดที่แตกต่างกัน บอกว่า มีการละเมิดทางเพศแบบกลุ่มในรูปแบบที่เรียกว่า รถไฟ โดยมักเกิดขึ้นในห้องอาบน้ำ ทหารเกณฑ์ถูกบังคับให้จับอวัยวะเพศของเพื่อนทหารและยืนต่อแถวกันขณะที่เปลือยอยู่... ทหารเกณฑ์แปดคน ซึ่งเข้ารับการฝึกในแปดจังหวัด และสี่ผลัดที่แตกต่างกัน บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขาและทหารเกณฑ์อีกหลายสิบคน ถูกครูฝึกบังคับให้ช่วยตัวเองจนสำเร็จความใคร่ และให้หลั่งอสุจิออกมาต่อหน้าคนอื่น… สามกรณีที่เป็นการข่มขืน… ของครูฝึก” รายงานระบุ

“ใครเป็นคนนำต่างชาติเข้ามาถล่มและชังชาติ... พวกเราไม่เคยแบ่งชนชั้นในองค์กร มีเพียงระบบการบังคับบัญชา เพราะเราถือว่าทุกคนคือ เพื่อนร่วมชีวิตที่พร้อมจะตายแทนกันได้" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวโดยทิ้งท้ายว่า

"ถ้าคิดจะทำลายกองทัพด้วยวิธีสกปรกในรูปแบบต่าง ๆ อย่าหวังว่าจะสำเร็จ”

รายงานกล่าวว่า ในปี 2561 ชายหนุ่ม 104,734 คน ถูกขึ้นบัญชีเป็นทหารเกณฑ์ จากจำนวนผู้ที่ได้รับหมายเรียกในเบื้องต้น 356,978 คน ทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่จะเข้าประจำการกับกองทัพบก โดยมีรอบการขึ้นประจำกองร้อยสองผลัดต่อปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม และเดือนพฤศจิกายน แต่ในวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ทางการประกาศเลื่อนการเกณฑ์ทหาร ที่จะเริ่มขึ้นช่วงต้นเดือนเมษายนออกไปหลายสัปดาห์ เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเสนอให้ รัฐสภาจัดตั้งคณะกรรมการการตรวจสอบ เพื่อสอบสวนและรายงานข้อมูลของการปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย รวมถึงเสนอให้มีมาตรการที่จำเป็นเพื่อยุติการปฏิบัติมิชอบใดๆ ต่อทหารเกณฑ์ และให้ยุติวัฒนธรรมที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทหารเกณฑ์ภายในกองทัพไทย โดยคณะกรรมการการตรวจสอบควรมีความเป็นอิสระ เป็นมืออาชีพ และได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเพียงพอ มีอำนาจในการสอบถามข้อมูลจากบุคคลใดๆ  ที่จำเป็น รวมถึงทหารเกณฑ์และครูฝึกทั้งที่ปลดประจำการแล้วและที่ยังประจำการอยู่ และสามารถเรียกดูเอกสารที่เกี่ยวข้องได้

“ภายหลังเหตุกราดยิงที่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่โคราช เมื่อเดือนที่แล้ว พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ยอมรับว่า กองทัพบกจำเป็นต้องจัดให้มีกลไกรับข้อร้องทุกข์จากทหารระดับล่าง ดังนั้น เพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำสัญญานี้ กองทัพไทยต้องจัดตั้งหน่วยงาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ได้รับการฝึกอบรม และได้รับการสนับสนุน เพื่อให้สามารถรับฟังข้อร้องเรียนของทหาร และดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ ที่สำคัญ ทหารเกณฑ์และทหารอื่น ๆ ต้องสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้อย่างปลอดภัยและเป็นความลับ ทางการต้องกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมที่เคารพศักดิ์ศรีของทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องลำดับอาวุโส ตำแหน่ง วิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ” น.ส.แคลร์ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง