ศาลอุทธรณ์เพิ่มคุกพลโทมนัส เป็น 82 ปี ฐานค้ามนุษย์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.10.31
กรุงเทพฯ
191031-TH-appeal-humantrafficking-800.jpg อดีตพลโท มนัส คงแป้น เดินทางถึงศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาที่ตนตกเป็นจำเลยกับจำเลยรายอื่นรวม 88 คน วันที่ 31 ตุลาคม 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดีนี้ ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษายืนจำคุกอดีตพลโท มนัส คงแป้น โดยปรับโทษเพิ่มเป็นจำคุก 82 ปี และได้สั่งจำคุกเลยที่ถูกยกฟ้องในศาลชั้นต้นเพิ่มอีก 26 ราย รวมเป็น 88 คน ในคดีร่วมกันค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติคดีใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นับจากมีการค้นพบศพชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศ มากกว่า 30 ศพ ในปาดังเบซาร์ ใกล้แนวชายแดนมาเลเซีย ในปี 2558

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ศาลอาญา รัชดา ได้อ่านคำพิพากษาจำคุกอดีตพลโทมนัส เป็นเวลา 27 ปี ในข้อหาร่วมค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งสั่งจำคุกจำเลยรายอื่นในโทษฐานต่างๆ อีก 61 ราย ยกฟ้อง 40 ราย ซึ่งในวันนี้ ศาลอุทธรณ์ได้เพิ่มโทษจำคุก อดีตพลโทมนัส เป็น 82 ปี

“พลโท มนัส คงแป้น กระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 5 ฐาน รวมโทษจำคุก 55 ปี รวมฐานความผิดอื่นอีก 27 ปี รวมเป็นจำคุกทั้งสิ้น 82 ปี แต่ตามกฏหมายให้จำคุกสูงสุด 50 ปี” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาอุทธรณ์ระบุ

ส่วนจำเลยสำคัญอีกสามราย คือ นายบรรณจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล และนายซอเนียง อานู หัวหน้าขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา ถูกพิพากษายืนและถูกสั่งจำคุกใกล้เคียงกับโทษเดิม

นอกจากนี้ ในศาลชั้นต้น ศาลฯ ได้สั่งจำคุกเจ้าหน้าที่ตำรวจสี่นาย แต่ยกฟ้องร้อยเอกวิสูตร บุนนาค เป็นอดีตผู้ช่วยอดีตพลโทมนัส ถูกปล่อยตัว เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอ แต่ในวันนี้ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 82 ปี เท่ากับ อดีตพลโทมนัส

ทั้งนี้ ในจำนวนจำเลยที่ถูกสั่งจำคุกทั้งสิ้น 88 คน ได้รับโทษต่ำสุด 38 ปี 6 เดือน และสูงสุด 94 ปี ซึ่งเป็นนายหน้าชาวโรฮิงญา ที่พิพากษายืนจำคุก 94 ปี ตามศาลชั้นต้น

นายสมพร มูสิกะ ทนายความของจำเลยที่ 74 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ฝ่ายโจทก์ได้อุทธรณ์คดีกับจำเลยทั้ง 102 คน โดยในวันนี้ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาจำคุกจำเลยเพิ่มอีก 26 คน

“โดนอุทธรณ์ทุกคน และโดนจำคุกแทบทุกคน คนที่เคยหลุดไป 40 คนก่อนหน้านั้น ก็กลับมาโดนอีก 26 คน ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง 14 คน ซึ่งทั้ง 26 คน ถูกนำไปขังที่เรือนจำพิเศษแล้ว ในระหว่างการยื่นฎีกา” นายสมพร มูสิกะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในวันนี้ นายวิทยา หรือโกจ๋วน จีระธัญญาสกุล จำเลยที่ 80 ซึ่งได้รับการยกฟ้องในศาลชั้นต้น กลับถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินโทษฐานค้ามนุษย์ โดยให้จำคุกรวมโทษฐานอื่น เป็นเวลา 76 ปี

“ลูกน้องผมใส่ความผม ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีความยุติธรรมเลย ท่านมีหลักฐานไหมว่าผมเซ็นเอกสาร โอนเงินตรงไหน เซ็นตรงไหน” นายวิทยา ลุกขึ้นตะโกนในระหว่างฟังคำพิพากษา ซึ่งศาลชี้แจงว่านายวิทยา เป็นสามีของจำเลยที่ 79 นางรุ่งกานต์ พิพัฒนวานิช ถือว่ามีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิด เนื่องจากการกระทำผิดเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง

สำหรับคดีนี้ มีจำเลยทั้งสิ้น 102 คน (เดิม 103 คน แต่เสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวหนึ่งคน) ถูกพิพากษาอุทธรณ์พิจารณาว่ามีความผิด 88 คน โดยนอกจากจะมีข้อหาหลัก ในการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 2556 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 แล้ว แต่ละบุคคล ยังถูกฟ้องร้องในข้อหาอื่นๆ ตามวาระกรรม เช่น การร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคล เพื่อให้ได้ค่าไถ่ การร่วมเอาคนลงเป็นทาส จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ อันตรายได้รับความสาหัสหรือถึงแก่ความตาย การร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การร่วมกันนำพาบุคคลต่างด้าวมาในราชอาณาจักร การร่วมกันซ่อนเร้นศพ การมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

ชนชาวโรฮิงญาที่มีถิ่นฐานในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา และส่วนหนึ่งลี้ภัยไปอยู่ในบังกลาเทศ ได้หลบหนีออกจากถิ่นที่อยู่เดิม เพราะสถานการณ์ความขัดแย้ง จนมีการปะทะกับชาวยะไข่ หรือเพราะความยากจน โดยเดินทางผ่านทางประเทศไทย มุ่งหน้าไปยังมาเลเซีย เป็นส่วนใหญ่ และมีปลายทางที่อินโดนีเซียบ้างประปราย

ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศมานานรายหนึ่ง กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา การนำพามนุษย์ข้ามแดนหนึ่งคน ขบวนการคิดค่าหัวประมาณ 30,000 ถึง 60,000 บาท ในปี 2560 ราคาพุ่งสูงถึง 150,000 บาท เมื่อญาติๆ ในมาเลเซีย หรือที่บ้านเกิดไม่มีเงินจ่ายให้นายหน้า ก็จะมีการทำร้ายถึงชีวิต หรือหลายๆ คน ป่วยตายในระหว่างการเดินทาง

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 มีการเปิดเผยการพบหลุมศพของผู้อพยพชาวโรฮิงญาลักลอบนำเข้าเมืองบนเทือกเขาแก้ว ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ใกล้พรมแดนไทย-มาเลเซีย จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจของนักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ โดยมี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจ ภาค 8 ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าฝ่ายสอบสวนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2558 พนักงานอัยการได้เริ่มฟ้องในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ พ.ศ. 2556 ต่อจำเลย 88 คน และภายหลังได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวีมาพิจารณาที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา ในเดือนตุลาคม 2558 และสามารถจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้เพิ่มขึ้น รวมเป็น 103 ราย (ต่อมาเสียชีวิตหนึ่งราย)

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ได้หาทางร่วมมือกันในการสกัดกั้นการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ และทางกองทัพเรือได้เฝ้าระวังการเดินทางเข้ามาของชาวโรฮิงญา ทำให้การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายลดลง อย่างไรก็ตาม ยังคงพบการลักลอบเดินทางเข้ามาบ้างอย่างประปราย ซึ่งในขณะนี้ มีชาวโรฮิงญาเดินทางเข้ามาใหม่ และยังตกค้างอยู่ในภาคใต้ของไทยประมาณ 200 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง