ไร้ร่องรอย ‘บิลลี่’ครบ 1 ปีแล้ว สนง.ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหว เร่งรัฐตรวจสอบ

ทีมงาน เบนาร์นิวส์
2015.04.16
TH-HRactivists-620 กิจกรรมบนเวที 1 ปี บิลลี่ 11 ปี ทนายสมชาย ร่วมปักหมุดที่นี่มีคนหาย จัดที่ศูนย์วัฒนธรรมบ้านโป่งกระทิงบน จังหวัดราชบุรี วันที่ 17 เมษายน 2558 โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
โดย เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

วันที่ 17 เมษายน 2558 จะเป็นวันครบรอบหนึ่งปี กับการหายตัวไปของ “บิลลี่”  หรือ “นายพอละจี รักจงเจริญ” นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเชื่อว่าตกเป็นเหยื่อการบังคับให้สูญหาย

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (the United Nations Human Rights Office for South-East Asia) (OHCHR) ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อ 16 เมษายน นี้ ว่า คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือการหายสาบสูญโดยไม่สมัครใจได้ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด ณ ปัจจุบันข้อมูลที่รัฐบาลไทยมอบแก่คณะทำงานฯ กรณีบิลลี่ไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยชะตากรรม และสถานะของบิลลี่ได้ ดังนั้นคดีนี้ยังคงอยู่ในการตรวจสอบของคณะทำงานฯ

ร่วมปักหมุดที่นี่มีคนหาย

ในช่วงของการบังคับสูญหายบิลลี่กำลังเดินทางจากหมู่บ้านของเขาไปพบกับชาวบ้านกะเหรี่ยงเกี่ยวกับกรณีการถูกไล่รื้อและการเผาทรัพย์สินบ้านเรือนโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน ทั้งนี้เพื่อเตรียมข้อมูลการฟ้องคดีโดยมีหัวหน้าอุทยานเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว

มีผู้พบเห็นบิลลี่ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ระหว่างที่เขาถูกอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่อุทยานสี่คนควบคุมตัวไว้ ในขณะที่อดีตหัวหน้าอุทยานยืนยันว่าเจ้าหน้าที่อุทยานได้ควบคุมตัวเขาฐาน ครอบครองน้ำผึ้งป่า และปล่อยตัวบิลลี่ในวันเดียวกัน แต่กลับไม่มีหลักฐานบันทึกการจับกุม ควบคุมตัว หรือปล่อยตัวแต่อย่างใด จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ชะตากรรมของบิลลี่

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงวันนี้เช่นกันว่า มีรายงานว่าการสอบสวนทางอาญาของตำรวจต่อกรณีการหายตัวไปของเขาเต็มไปด้วยความล่าช้า ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการแทรกแซงของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

“ที่ผ่านมานักกิจกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในไทยถูกคุกคามและทำร้ายมาเป็นเวลาหลายปี โดยในระหว่างปี 2557-2558 มีผู้ถูกสังหารไปแล้วสี่คน”

และมีการฟ้องร้องดำเนินคดีเพียงคดีเดียวเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ได้แก่กรณีที่เกิดขึ้นกับ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ในปี 2547 แต่กระบวนการยุติธรรมได้หยุดชะงักไป เนื่องจากขาดพยานหลักฐาน และหนึ่งในพยานสำคัญได้สูญหายไป แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า

“ขณะเกิดเหตุลักพาตัว ทนายสมชายในตอนนั้น ทนายสมชาย ได้ช่วยลูกความที่เป็นผู้ต้องหาก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าได้ทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา” องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว

รัฐบาลไทยลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศ

สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ เรียกร้องรัฐบาลไทยในฐานะที่ได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ จัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ และเสริมสร้างความพยายามในการสืบสวนสอบสวนอย่างโปร่งใสและละเอียดรอบด้านในคดีนี้

นอกเหนือจากนี้รัฐบาลไทยควรจะมีมาตรการที่รับรองว่าพยานที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวน จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกข่มขู่ คุกคาม และแก้แค้น สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ ยังเสนอแนะให้รัฐบาลไทยแจ้งผลการสืบสวนสอบสวนล่าสุดแก่ครอบครัวของบิลลี่และคณะทำงานของสหประชาชาติฯ อีกด้วย

การหายตัวไปของบิลลี่ได้คุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ โดยเฉพาะบุคคลที่ทำงานประเด็นสิทธิที่ดิน สิทธิชุมชน และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการคุ้มครองอย่างเต็มที่ เพื่อให้บุคคล และกลุ่มบุคคลนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ สามารถดำเนินงานและกิจกรรมได้อย่างปลอดภัย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง