เจ้าหน้าที่ยันบีอาร์เอ็นก่อเหตุระเบิดกรุงเทพ

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.08.19
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
190819-TH-bombs-800.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจอีโอดีตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุระเบิด ที่กรุงเทพฯ วันที่ 2 ส.ค. 2562
เอเอฟพี

ในวันจันทร์นี้ เจ้าหน้าที่ด้านหน่วยงานความมั่นคง แสดงความมั่นใจว่า การก่อเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพและปริมณฑล เมื่อต้นเดือนนี้ เป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ บีอาร์เอ็น เพราะผู้ที่ถูกควบคุมตัวได้ส่วนใหญ่ มีประวัติอยู่ในฐานข้อมูลของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น ขณะที่พลเอก อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า เจ้าหน้าที่ไทยได้คุยกับตัวแทนบีอาร์เอ็น ที่เสนอเงื่อนไขให้ปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคง

เจ้าหน้าที่ด้านหน่วยงานความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้รายหนึ่ง กล่าวว่า ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) มีความประสงค์ที่จะเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติ ในระหว่างที่มีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศจากมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน รวมทั้งชาติมุสลิมอย่างตุรกี เข้าร่วม

“ผมว่าการที่ขบวนการบีอาร์เอ็น ขึ้นไปก่อเหตุที่กรุงเทพฯ นั้น เพื่อต้องการให้เป็นข่าว เพื่อที่จะให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะการก่อเหตุในพื้นที่ไม่ว่าจะระเบิด ยิงรายวัน ต่างชาติจะไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าที่ควร” เจ้าหน้าที่รายเดียวกัน กล่าวโดยไม่ประสงค์ออกนาม เพื่อต้องปกปิดสังกัด

นับตั้งแต่การวางระเบิดที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นี้ จนเกิดระเบิด 9 ครั้ง ในพื้นที่ 4 แห่ง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ในวันถัดมา เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นชายชาวรือเสาะ 2 ราย พร้อมตั้งข้อหาพยายามฆ่าและอื่นๆ รวมทั้งยังได้ออกหมายจับผู้ต้องหารายอื่นๆ อีก 4 ราย

ในเรื่องนี้ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในชั้นต้น ยังไม่สามารถระบุกลุ่มที่บงการการระเบิดในครั้งนี้ได้ แต่ไม่ได้ตัดประเด็นใดออกไป

“ในเรื่องของการสืบสวนสอบสวน มีความคืบหน้าไปพอสมควร หลังควบคุมตัว 2 ราย หมายจับ 4 ราย ในอนาคตอันใกล้ ถ้ามีหลักฐานชัดเจนก็จะได้ออกหมายจับเพิ่มเติม จะเกี่ยวกับกลุ่มไหนอะไรยังไง ยังไม่ได้ตัดประเด็นไหนทิ้งไป” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว

“จากที่ ผบ.ตร .ให้ข่าวไปแล้ว กลุ่มอะไรก็ดีในเวลาที่เกิดเหตุ ไม่เห็นมีกลุ่มไหนแบกรับความรับผิดชอบไว้เลย ในส่วนตำรวจ ถ้าแปะถึงใครไม่ว่าจะส่วนตัวหรือกลุ่มไหน ก็จะได้ออกหมายจับไป แต่ตอนนี้ ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม่ทัพภาคที่สี่ ได้เดินทางไปชายแดนสุไหงโก-ลก เพื่อตรวจตราความเข้มงวดการเข้าออกผ่านชายแดนของคนสองฝั่ง โดยได้กล่าวว่า พบผู้ต้องสงสัยสองรายที่นำกระเป๋าขนาดใหญ่เข้ามาจากประเทศมาเลเซีย และเชื่อว่า ได้นำระเบิดเข้ามาเพื่อไปใช้ในกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดในการสืบสวนต่อกรณีดังกล่าว จึงไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าว เป็นสองในสี่ผู้ต้องหาที่ศาลอนุมัติหมายจับแล้วหรือไม่

การโจมตีภาคใต้ตอนบน : กองกำลังอาร์เคออกมารับว่า ระเบิดเป็นฝีมือกลุ่มตน

เมื่อเดือนกันยายนปี 2559 แกนนำอาร์เคเค (RKK) ฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ของขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) อ้างแก่เบนาร์นิวส์ในวันนั้นว่า การวางระเบิด รวมทั้งการโจมตีเป้าหมายในภาคใต้ตอนบน เมื่อวันที่ 10 - 12 สิงหาคม และเรื่อยมาจนถึงเหตุรุนแรงจังหวัดชายแดนใต้เดือนกันยายน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 4 คน เป็นฝีมือของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ต้องการแสดงความไม่พอใจต่อความไม่จริงใจของรัฐบาลไทยในการพูดคุยสันติสุข โดยมีผู้ก่อความไม่สงบสี่คนถูกควบคุมตัวหลังจากนั้น

โดยในปีเดียวกัน มีผู้ก่อความไม่สงบสี่คน ถูกตัดสินว่ามีความผิดในเหตุการณ์วางระเบิดที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในกรุงเทพ ปี 2556 ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหกคน

พลเอกอุดมชัย : ไทยไม่ได้คุยกับบีอาร์เอ็น

ในวันนี้ ทั้งนี้ พลเอก อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวปฏิเสธรายงานของสื่อมวลชนตะวันตก ที่ว่า เจ้าหน้าที่ของไทยได้พบกับนายปัก ฟาคีร์ ผู้ที่อ้างว่าตนเองเป็นสมาชิกอาวุโสของขบวนการบีอาร์เอ็น โดยได้ตั้งเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามข้อสงสัยในคดีความมั่นคง และให้ดำเนินการสอบสวนโดยโปร่งใส ก่อนที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะยอมเจรจากับฝ่ายไทย รวมทั้ง กล่าวว่า บีอาร์เอ็นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการระเบิดกรุงเทพ เมื่อต้นเดือนนี้

“ผมว่าไม่ใช่แล้วนะ ผมยืนยันว่ายังไม่ได้คุยอะไรกับเลย ผมก็ไม่ทราบว่าข่าวออกมายังไง ก็ต้องไปถามคนที่ให้สัมภาษณ์ นายปัก ฟาคีร์ ที่อ้างว่าเป็นแกนนำอาวุโสของขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น ผมก็ไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน” พลเอกอุดมชัย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันจันทร์นี้

ทั้งนี้ พลเอก อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ เพื่อพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานี ที่ประกอบด้วยขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินเป็นรูปเป็นร่างมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ก่อนที่จะชะงักลงในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้

“ส่วนเรื่องที่จะมีการพูดคุยเมื่อไหร่นั้น คงตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ เพราะว่าการประสานงานอะไรก็ดีหรือความไว้วางใจอะไรก็ดี มันมีหลายอย่าง ไม่ใช่ว่าสั่งแล้วได้เลย ซึ่งเรื่องการพูดคุยสันติสุข มันเป็นเรื่องของความรู้สึกของกันเละกัน ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน” พลเอกอุดมชัย กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายอาบูฮาฟิซ อัล-ฮากิม โฆษก คณะพูดคุยฝ่ายมาราปาตานี กล่าวว่า นายปัก ฟาคีร์ เป็นสมาชิกของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) จริง แต่ไม่ใช่โฆษกของขบวนการ ส่วนที่มีข่าวว่าคณะของบีอาร์เอ็น ได้พบปะพูดคุยในทางลับกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยนั้น เรื่องนี้ตนเองยังไม่ทราบ

“ข้อเสนอนี้ ทางบีอาร์เอ็น ได้เรียกร้องมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยนายอาซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากรัฐบาลไทยยอมรับก็จะคุยต่อ” นายอาบูฮาฟิซ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้

ในกรุงเทพ เมื่อผู้สื่อข่าวถามพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในเรื่องรายงานข่าวที่ว่า บีอาร์เอ็นขอให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมขัง พลเอกประวิตร กล่าวตอบเพียงว่า "พูดงั้นได้ไง"

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง