ศาลจำคุกมือระเบิด รพ.พระมงกุฎ ในคดีที่หก อีกกว่า 26 ปี

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.01.23
กรุงเทพฯ
180123-TH-bomber-620.jpg นายวัฒนา ภุมเรศ มีสีหน้าที่เคร่งเครียดขณะแถลงข่าว หลังจากถูกจับกุมตัว วันที่ 20 มิถุนายน 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญา พิพากษาจำคุกนายวัฒนา ภุมเรศ เพิ่มอีก 26 ปี 6 เดือน ในวันอังคารนี้ ตามความผิดคดีนำระเบิดแสวงเครื่องไปวางไว้ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะ หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2550 จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส สูญเสียอวัยวะ ในขณะที่ตู้โทรศัพท์เสียหาย นับเป็นสำนวนที่ 6 จากคดีทั้งหมด 7 คดี

ทั้งนี้ ศาลได้ลดโทษจากจำคุกตลอดชีวิตเหลือ 26 ปี 6 เดือน เพราะนายวัฒนาให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดีเช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ที่ผ่านมา

“นายวัฒนา จำเลย ให้การรับสารภาพ พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ฐานทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 224 วรรคสอง และจำคุก 3 ปี ฐานทำระเบิดฯ จำเลยรับสารภาพ ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกทั้งสิ้น 26 ปี 6 เดือน” คำพิพากษาตอนหนึ่งระบุ

ศาลระบุด้วยว่า ให้นับโทษจำคุกนายวัฒนา ภุมเรศ อดีตวิศวกรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อจากโทษจำคุกที่มีคำพิพากษาก่อนหน้าสองครั้ง (ห้าคดี) นับรวมโทษจำคุกรวมทั้งคดีที่หกในวันนี้ได้ 134 ปี 48 เดือน

นายวัฒนา ภุมเรศ ได้วางระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2560 อันเป็นวันครบรอบสามปีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายวัฒนาถูกจับกุมในเวลาไม่นานนัก

นายวัฒนา ได้ยอมรับกับผู้สื่อข่าว ในระหว่างการแถลงข่าวการถูกจับกุมว่าตนวางระเบิด เพราะไม่ชอบนายทหารบางคนที่ก่อการปฏิวัติ

นายวัฒนา ได้รับสารภาพว่าเป็นผู้วางระเบิดสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวม 6 แห่ง ในระหว่าง ปี 2550-2560 ได้แก่ เหตุระเบิดบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สาขารัชโยธิน ถนนพหลโยธิน ในวันที่ 9 เม.ย. 2550 ที่ปากซอยราชวิถี 24 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2550 เหตุระเบิดที่ข้างกรมแผนที่ทหารบก ติดกับกองบัญชาการทหารบก ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2550 ที่หน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล วันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่หน้าโรงละครแห่งชาติในวันที่ 15 พ.ค. 2560 และที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง