สำนักจุฬาราชมนตรี เตรียมออกระเบียบห้ามเด็กต่ำกว่า 17 ปี แต่งงาน

มารียัม อัฮหมัด
2018.11.28
ปัตตานี
181128-TH-muslim-800.jpg นักเรียนจากโรงเรียนในปัตตานีเดินทางมาศึกษาที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา เพื่อนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตประจำวัน วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวในวันพุธนี้ว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้มีมติเห็นชอบต่อร่างระเบียบว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี และได้เสนอร่างระเบียบฯ ต่อจุฬาราชมนตรี เพื่อการลงนามในการประกาศบังคับใช้ต่อไป โดยระเบียบฉบับใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้หญิงและให้เหมาะสมกับบริบททางสังคม

นางสาวปนัดดา อิสเฮาะ นิติกรชำนาญการพิเศษ ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ กลุ่มอำนวยการและบริหารกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง (กสม.) ศอ.บต. กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า สาระสำคัญของระเบียบใหม่ คือ คณะกรรมการจะออกใบรับรองการสมรสแก่คู่สมรสได้ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม และคู่สมรสมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปี แต่ในกรณีมีเหตุอันควร คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อาจยกเว้นหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้

“กรณีคณะกรรมการทำการสมรสบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี คู่สมรสดังกล่าวต้องมีหนังสืออนุญาตจากศาลหรือดาโต๊ะยุติธรรม หรือหนังสือแสดงความยินยอมพร้อมใจจากผู้ปกครอง ซึ่งลงบันทึกไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ผู้ปกครองนั้นต้องการให้ทำการสมรส หรือสถานีตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ของการสมรสนั้นเสียก่อน” นางสาวปนัดดาระบุถึงเนื้อหาในระเบียบใหม่

โดยการแต่งงานต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด คณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม และผู้มีอำนาจ (วะลีย์) ที่มีหน้าที่ทำการสมรสตามกฎหมายอิสลาม

ในส่วนการปกป้องสิทธิของเด็กนั้น คณะกรรมการอิสลาม ยังกำหนดให้แต่งตั้ง “อนุกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ตามบัญญัติอิสลาม” ขึ้นมาชุดหนึ่งด้วย ซึ่งประกอบด้วยคณะอนุกรรมการไม่ต่ำกว่า 3 คน โดยมีฝ่ายวิชาการเป็นประธานอนุกรรมการ และให้มีสตรีซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามอยู่ด้วยอย่างน้อย 1 คน" เนื้อความในระเบียบใหม่ระบุ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ตามบัญญัติอิสลาม มีอำนาจหน้าที่ พิจารณา สอบสวน และให้ความเห็นชอบการสมรสของบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี เมื่อเห็นว่าการสมรสดังกล่าวก่อเกิดประโยชน์แก่คู่สมรสตามบัญญัติอิสลาม อนุกรรมการที่เป็นสตรี เป็นผู้รับฟังคำร้องและสอบถามผู้ร้อง กรณีผู้ร้องเป็นสตรี

นางสาวปนัดดา ระบุว่า คณะกรรมการร่างระเบียบฯ นี้ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐบาล อิหม่ามในคณะกรรมการอิสลามระดับต่างๆ นักวิชาการ เป็นอาทิ ได้เห็นชอบในร่างระเบียบฉบับนี้ไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ศกนี้ เพื่อปรับปรุงการแต่งงานของชาวมุสลิมให้เหมาะสม

“ระเบียบใหม่ทำให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายบ้านเมือง บริบททางสังคม และเพื่อให้สตรีเข้าถึงความยุติธรรมจากองค์กรศาสนามากขึ้น" นางสาวปนัดดา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

"ขณะนี้ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ลงมติเห็นชอบแล้ว หลังจากนี้ ประธานกรรมการกลางฯ จุฬาราชมนตรี ลงนาม จะมีการบังคับใช้กรรมการจังหวัด และมัสยิดต่อไป ทาง ศอ.บต. จะดำเนินการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ เร็วๆ นี้" นางสาวปนัดดา กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายอาศิส  พิพักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี หรือ ประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "เป็นเรื่องที่ดีที่สามารถทำได้"

ปัญหาการแต่งงานเด็ก

นางสาวปนัดดา กล่าวว่า "ระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการสมรส นิกาห์ บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561” เป็นระเบียบฉบับใหม่ ที่ร่างขึ้นมาโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 (5) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยลงนาม ส่วนข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งขัดกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ส่วนตามกฎหมายอิสลามเดิม ที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูลนั้น นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธาน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า อิสลามหญิงและชายที่จะแต่งงานจะต้องมีอายุขั้นต่ำ 15 หรือ 16 ปี ยกเว้นได้รับอนุญาตจากบิดา-มารดา ไม่มีการบังคับสถานที่ทำพิธีแต่งงาน เพียงแต่ต้องมีอิหม่ามทำพิธีให้

การแต่งงานของเด็กในวัยเยาว์ของหญิงมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีขึ้นตามมัสยิดต่างๆ โดยไม่มีการควบคุม ไม่มีการรายงานต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อตัวเด็กและครอบครัว ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ ข่าวการแต่งงานของเด็กหญิงไทยในนราธิวาส ที่มีอายุเพียง 11 ปี กับชายชาวมาเลเซีย อายุ 41 ปี โดยมีอิหม่ามในจังหวัดทำการสมรสให้ ได้สร้างความขุ่นเคืองแก่สาธารณชน จนเมื่อเดือนกรกฎาคม ศาลชารีอะฮ์ในรัฐกลันตันของมาเลเซีย สั่งปรับชายคนดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 1,800 ริงกิต (ประมาณ 14,700 บาท) หลังจากที่เขายอมรับความผิดสองข้อหา

"เรื่องนี้ทุกคนต้องมาทำร่วมกันและมองว่าสามารถที่จะทำได้ ที่สำคัญคือ ทุกคนทั้งสถาบันครอบครัว รัฐ โรงเรียนในระบบนอกระบบ และองค์กรศาสนาต้องปฏิบัติจริงๆ จังๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องของใครหรือหน่วยใดหน่วยหนึ่ง" นายซาการียา กาเล็ง อิหม่ามในพื้นที่จังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน นางสาวอัยเสาะ เจะเลาะ ชาวจังหวัดยะลา กล่าวว่า พ่อแม่ให้ลูกแต่งงานในวัยเด็กเพราะความยากจน ต้องการให้ลูกมีครอบครัว เพื่อที่จะลดภาระ แต่สุดท้ายยิ่งเพิ่มปัญหาภายในครอบครัว จึงคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะลดปัญหาตั้งแต่ต้น

"ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็กไม่ควรที่จะมีครอบครัวในวัยนี้ ความรับผิดชอบเขายังมีไม่พอ ตัวเขาๆ ยังรับผิดชอบไม่ได้ แล้วจะมารับผิดชอบบุคคลในครอบครัวได้อย่างไร เพราะเมื่อแต่งงานก็ต้องมีลูก ด้วยความเป็นเด็ก มีน้อยคนที่สามารถรับผิดชอบได้ สุดท้ายต้องแยกทาง พอแยกทางก็จะเอาเด็กไปฝากที่คนชรา หรือผู้เป็นแม่ทั้งๆ ที่เป็นที่มาเดิมของปัญหา” นางสาวอัยเสาะ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง