กกต. เปิดตัวแอปพลิเคชัน สำหรับประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.05.16
กรุงเทพฯ
TH-charter-app-1000 แอปพลิเคชัน “ฉลาดรู้ประชามติ” ที่คณะกรรมการเลือกตั้งเปิดตัวในวันที่ 16 พ.ค. 2559 นี้
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (16 พฤษภาคม 2559) นี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน “ฉลาดรู้ประชามติ” ที่จัดทำโดย กกต. ซึ่งบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงประชามติเอาไว้ โดยมุ่งหวังให้เป็นช่องทางที่ประชาชนจะสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะถึงวันลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า แอปพลิเคชัน “ฉลาดรู้ประชามติ” จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และสืบค้นข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับร่างฯ รัฐธรรมนูญได้ตามต้องการอย่างสะดวก

“แอปฯ ฉลาดรู้ประชามติ เป็นแอปพลิเคชันในมือถือ ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระของ(ร่าง)รัฐธรรมนูญได้โดยง่าย ได้โดยสะดวก ทุกที่และทุกเวลา ทุกที่หมายความว่ายังไง? อยู่ที่ไหนก็สามารถอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ทุกเวลาหมายความว่ายังไง? หมายความว่าในเวลาใดก็ตาม ที่ท่านอยากจะเรียนรู้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ท่านสามารถที่จะอ่านจากโทรศัพท์มือถือของท่านได้ตลอดเวลา” นายสมชัย กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

แอปพลิเคชัน “ฉลาดรู้ประชามติ” สามารถดาวน์โหลดได้แล้วทั้งในโทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ และไอโอเอส หน้าแรกของแอปพลิเคชัน มีนาฬิกาแสดงเวลา นับถอยหลังวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 สาระภายในแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักคือ 1. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม 2. คำอธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ 3. ประชามติคืออะไร 4. กระบวนการออกเสียงประชามติ และ 5. เรียนรู้รัฐธรรมนูญแบบง่ายๆ ซึ่งหากผู้ใช้งานคนใดสามารถอ่านสาระของแอปพลิเคชั่นครบทั้งหมด จะได้รับประกาศนียบัตรแสดงความชื่นชมอีกด้วย

แอปพลิเคชัน “ฉลาดรู้ประชามติ” ถือเป็นแอพพลิเคชั่น ตัวที่ 3 ของ กกต. ถัดจาก แอปพลิเคชัน “ดาวเหนือ” ที่ใช้เพื่อนำทางผู้มีสิทธิออกเสียงไปยังหน่วยลงคะแนน และแอปพลิเคชัน “ตาสัปปะรด” ที่ถูกออกแบบเพื่อใช้สำหรับแจ้งข้อมูลทุจริตการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งแอปพลิเคชันทั้ง 3 ตัวนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อเพื่อใช้งานร่วมกันได้

นอกจากนี้ ระหว่างการแถลงข่าว นายสมชัยยังได้สาธิตวิธีการลงคะแนนเสียงประชามติสำหรับผู้พิการ โดยผู้พิการสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือ ในการลงประชามติต่อกรรมการประจำหน่วย และนำญาติ หรือพยาบาลเข้าไปเพื่อช่วยเหลือในการออกเสียงประชามติได้

ความคิดเห็นฝ่ายการเมืองเกี่ยวกับ"ร่างรัฐธรรมนูญ"

นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ ในการเสวนาที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ในวันอังคารที่แล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ลดทอนสิทธิของประชาชน และการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะเวลา 20 ปี ในรัฐธรรมนูญมีการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของรัฐบาล การกำหนดให้ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา โดยใช้กระบวนการบริหารของระบบราชการเป็นกลไกนั้น ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถดำเนินนโยบายของตนเองได้

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า “สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือฉบับใดๆ ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การมีระบบการแบ่งอำนาจ และการตรวจสอบอำนาจ ผมอ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ได้ข้อสรุปว่า ยังขาดระบบการตรวจสอบอำนาจที่ดี เราขาดความสมดุลในการกระจายอำนาจ” นายพงศ์เทพกล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวนิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตกล่าวว่า นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ที่มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบฝ่ายบริหาร ก็มีการวิจารณ์องค์กรอิสระต่างๆ มาโดยตลอด แต่ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่จำเป็นต้องมีองค์กรเหล่านี้ เนื่องจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ อันเป็นเสาหลักของประเทศไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างอย่างสมดุล

“เมื่อระบบไม่ได้ดำเนินไปอย่างลงตัว ก็ต้องมีเครื่องมืออย่างอื่นมาช่วยให้ประเทศดำเนินไปได้ และองค์กรอิสระ คือเครื่องมือนั้น” รศ.ดร.เจษฎ์กล่าว

รศ.ดร.เจษฎ์ เพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการระวังไม่ให้องค์กรอิสระกลายเป็นอำนาจหลักที่สี่ โดยมีการลดทอนอำนาจบางหน่วยงานลง พร้อมทั้งลดทอนวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการลง เหลือคนละไม่เกิน 7 ปี ในทุกองค์กร

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง