ตำรวจจับ “กาณฑ์” ข้อหาผิด พรบ.คอมฯ เกี่ยวกับความมั่นคง
2019.10.08
กรุงเทพ
ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แถลงผลการจับกุม นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ อดีตนักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในข้อหานำเข้าสู่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยศาลได้อนุมัติการขอประกันตัวในวงเงิน 100,000 บาท
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะโฆษกฯ กล่าวถึงสาเหตุการจับกุมว่า ผู้ต้องหามีการโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมผ่านสังคมออนไลน์
“เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนติดตามพฤติกรรมของผู้ไม่หวังดีที่ได้สร้างกระแส โดยการโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมผ่านสังคมออนไลน์และติดแฮชแท็ก พบว่ามีการโพสต์ข้อความที่เป็นการสร้างความเกลียดชังขึ้นในสังคม และมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น รวมถึงแชร์ข้อความดังกล่าวเป็นจำนวนมาก” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว โดยไม่ได้ระบุเนื้อความ
เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าจับกุมตัวนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ อายุ 25 ปี ตามหมายจับศาลอาญาเลขที่ 1520/2562 ได้ที่บ้านพักซอยอารีย์สัมพันธ์ 3 กทม. ในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. คืนวันที่ 7 ตุลาคม ในความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 14(3) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การภาคเสธ .... ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ แต่ไม่ได้มีเจตนากระทำผิด” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
ทั้งนี้ นายกาณฑ์ได้ลบบัญชีเฟซบุ๊คไปแล้ว ก่อนหน้าที่จะถูกตำรวจจับกุมตัว
ด้าน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ได้กล่าวปฏิเสธว่านายกาณฑ์ ไม่ได้กล่าวสิ่งใดๆ พาดพิงถึงสถาบัน ทั้งในเรื่องแฮชแทกขบวนเสด็จในทวีตเตอร์ และเรื่องสถาบัน
“เขาถูกกล่าวหา ในมาตรา 14(3) ของ พ.ร.บ.คอมฯ เรื่องนี้มันบอกชัดเจนอยู่แล้วว่า สิ่งที่กาณฑ์กระทำ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด เพราะการจะผิดมาตรานี้ มันต้องนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ แล้วตรงไหนมันเป็นเท็จ แล้วมันเกี่ยวกับความมั่นคงยังไง” นายวิญญัติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
“ผมมองว่า เป็นการเอาข้อความที่น้องโพสต์ 5 บรรทัด มาตีความ ขยายความเอาเอง โดยผู้กล่าวหา คือ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงดีอี น้องเขาไม่ได้โพสต์เกี่ยวกับสถาบันตามที่ได้แถลงข่าวเลย ตีความเอาเองเลย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแฮชแทคทวิตเตอร์เรื่องขบวนเสด็จอะไรเลย ด้านสังคมออนไลน์ มีการนำเอาข้อความที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเท็จหรือจริง ไปตัดต่อกับรูปโดยอ้างถึงโพสต์ของน้องเขา ทำให้เห็นว่าผู้ต้องหารายนี้เป็นบุคคลที่รุนแรง และทำให้สถาบันเสื่อมเสีย ทำให้สังคมเข้าใจว่าเด็กคนนี้หัวรุนแรง การฟ้องร้องครั้งนี้มันทำให้เห็นว่ารัฐมุ่งใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ดำเนินการโดยไม่สมเหตุสมผล” นายวิญญัติกล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม นายวิญญัติ กล่าวว่า เมื่อถึงตอนเย็น ทางศาลได้อนุมัติให้ประกันตัวนายกาณฑ์ ในวงเงิน 100,000 บาท และห้ามโพสต์ข้อความในลักษณะเดิม
รมว.ดีอี ชี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำเกินกว่าเหตุ
ส่วนกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุนั้น นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะผู้มอบหมายให้ บก.ปอท. เป็นผู้ดำเนินการสอบสวน ปราบปรามผู้ที่เผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสม รวมถึงผู้ร่วมขบวนการบนสื่อออนไลน์และเวปไซด์ที่มีความเกี่ยวข้อง กล่าวในการแถลงข่าวว่า เป็นดุลยพินิจของศาลในการออกหมายจับ ซึ่งตนไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ ส่วนการโพสต์ของผู้ต้องหานั้น
“จากการติดตามตรวจสอบพบว่า มีการโพสต์หลายครั้งต่อเนื่อง การโพสต์มีขั้นตอน รูปแบบ แนวทางการเขียนที่ชัดเจน และมีข้อมูลที่สร้างความเสื่อมเสีย แตกแยก และกระทบต่อสังคมโดยกว้างจริง จากสิ่งที่เขาได้โพสต์ และได้ทำออนไลน์ ตามความผิดของ พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ เราก็ดำเนินการโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติว่าเป็นใคร” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ อาจมีการดำเนินการติดตามสืบสวนผู้ที่เข้าไปแสดงความเห็น และแชร์ข้อความของนายกาณฑ์ ซึ่งเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 14 (5) ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดเท่ากับผู้โพสต์ เผยแพร่ข้อความ ซึ่งนายพุทธิพงษ์ ระบุว่า ต้องมีการดำเนินการให้เป็นตัวอย่างของสังคมต่อไป
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การปราบ แต่เป็นการจับจริง ซึ่งเบื้องต้นทางกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประสานว่ามีบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ประมาณ 5 คน ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกันแค่ไหนอย่างไรไม่ทราบ ต้องรอผลการสืบสวนก่อน เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดด้วยการโจมตีสถาบัน
ด้าน พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ไม่ได้ดำเนินคดีตามความรู้สึก การจะวิเคราะห์ว่าข้อความใดเข้าข้อกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องดูตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดสุดท้าย ซึ่งต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบก่อน
“การดำเนินคดีของ ปอท. เราว่าตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เราจะไม่เอาความรู้สึกใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าชาวบ้าน อ่านคอมเม้นท์ แล้วรู้สึกว่าคนนี้น่าจะมีส่วนร่วมด้วย แต่ในข้อเท็จจริงมันไปไม่ได้ มันไม่เข้าข้อกฎหมาย มันก็คือไปไม่ได้” ผู้บังคับการ ปอท. ระบุ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ร่วมรายงานข่าวนี้