สนช. มีมติเอกฉันท์ แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.01.13
กรุงเทพฯ
TH-prayuth-1000 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (กลาง) เดินผ่านสนามหลวงที่มีประชาชนจำนวนมากมารอเข้าถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ กรุงเทพ วันที่ 19 ตุลาคม 2559
เอเอฟพี

ในวันศุกร์ (13 มกราคม 2560) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา 3 วาระรวด ก่อนมีมติเห็นชอบในวาระสาม ด้วยคะแนนเอกฉันท์ ให้มีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ตามการเสนอของคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับผ่านประชามติซึ่งทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรไปแล้ว กลับมาแก้ไข

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติถึงประเด็นที่ถูกแก้ไขในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว 2557) ว่า มีการแก้ไขในประเด็นหลัก 2 ประเด็น เพื่อทำให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติแล้วได้

“การแก้ไขครั้งนี้ คือ ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ใน 2 ประเด็น คือ การเพิ่มมาตราใหม่เป็นวรรค 3 ของมาตรา 2 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนในบางกรณี หลักการอีกข้อหนึ่ง คือ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39/1 วรรค 11 ในเรื่องที่เกี่ยวกับการที่จะต้องให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขอพระราชทานนำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว กลับมาแก้ไข” นายวิษณุกล่าว

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกเสียงเห็นชอบ 228 เสียง คัดค้าน 0 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มี 2 ประเด็นสำคัญ โดยประเด็นแรกคือการเพิ่มความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งระบุว่า

“ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง”

และประเด็นที่ 2 ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน

แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ

เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป”

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ระบุว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติไปแล้วนั้น จะไม่มีการแก้ไขส่วนอื่นที่อยู่นอกเหนือจากส่วนที่สำนักราชเลขาธิการให้คำแนะนำลงมาเท่านั้น และจากนี้ นายกรัฐมนตรี จะต้องนำร่างที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ภายใน 15 วัน หรือก่อนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี สามารถขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว กลับมาแก้ไขเพิ่มเติมตามประเด็นที่ทรงมีข้อสังเกต ได้ทันตามกรอบเวลา 90 วัน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง