นายกฯ ระบุเลือกตั้งมีได้ต้นปีหน้า ท่ามกลางผู้ประท้วงวันครบสี่ปีรัฐประหาร
2018.05.22
กรุงเทพฯ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำแก่ผู้สื่อข่าว ในวันครบรอบสี่ปีการรัฐประหาร ในวันอังคารนี้ การเลือกตั้งจะมีขึ้นได้ในต้นปีหน้าเป็นอย่างเร็ว ในขณะที่ผู้ประท้วงกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ประมาณ 300 คน เดินขบวนประท้วงและเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ของปีนี้
ผู้ประท้วงกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ประมาณ 300 คน ได้ชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมีแกนนำคนสำคัญ เช่น นายรังสิมันต์ โรม มีจุดประสงค์ที่จะเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันนี้ แต่ต้องพบกับการสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 กองร้อย
เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวแกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 15 คน พร้อมตั้งข้อหาในความผิดสามข้อหา คือ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป สอง ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และ สาม ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215
“ข้อเรียกร้องของคนอยากเลือกตั้ง ถ้าท่านอยากเรียกร้องก็เรียกร้องไป... ผมก็บอกแล้วว่าเป็นไปตามขั้นตอนของผม คือ ต้นปี 2562 ไม่มีเร็วกว่านั้น ผมก็ต้องยืนยันในหลักการของผมนะครับ ที่มันล่าช้าไป 3-4 เดือน เป็นเรื่องความพร้อมของกฎหมาย” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี
“รัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ว่าจะใช้บังคับกับคนเห็นต่าง เห็นต่างได้ แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย จำคำพูดของผมไว้ เพราะฉะนั้น การดำเนินคดีต่างๆ ต้องเอาจริงเอาจังมากยิ่งขึ้น ไม่งั้นจะเสียหาย ผมให้ประเทศเสียหายไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
ในตอนเช้า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายความมั่นคงลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยภายในทำเนียบรัฐบาล กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ศาลปกครองกลางได้ยกคำร้องคุ้มครอง กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้บังคับใช้กฎหมายเต็มที่ อีกทั้งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยได้ส่งฝ่ายกฎหมายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้ชุมนุมแล้ว หากผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทันที
ต่อมา แกนนำผู้ชุมนุม บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้พยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เปิดทาง และสั่งให้ผู้ชุมนุมตั้งแถวช่วยกันผลักดันแนวกั้นของตำรวจ ขณะที่นายอานนท์ นำภา และ นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ได้นำผู้ชุมนุมบางส่วนเคลื่อนขบวนแบบดาวกระจาย มาถึงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ มุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดไว้ก่อน และแจ้งเตือนผ่านเครื่องขยายเสียงว่า สิ่งที่ผู้ชุมนุมกระทำอยู่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว และยุติการชุมนุม
พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผกก.สน.ดุสิต กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงให้ นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว และนายอานนท์ นำภา ยุติการชุมนุม และพาผู้ชุมนุมกลับไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากบริเวณนี้ เป็นพื้นที่ควบคุมตามประกาศของกองบัญชาการตำรวจนครบาล แต่ผู้ชุมนุมยังคงเดินหน้า เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจเข้าจับกุมตัวแกนนำ ทำให้เกิดการเผชิญหน้าและมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ต่อมาแกนนำได้ประกาศมอบตัวและเดินขึ้นรถควบคุมตัวหลังจากได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ไปยัง คสช.
“การเลือกตั้ง ต้องเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขอให้ คสช.ยุติความพยายามในการสืบทอดอำนาจ ยกเลิกประกาศและคำสั่งที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งรวมถึงประกาศหรือคำสั่งที่ขัดขวางการดำเนินการของพรรคการเมืองเอง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งโดยทันที ขอให้ คสช.ยุติบทบาทและเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ เพื่อจัดการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรมโปร่งใส และปราศจากการแทรกแซง และ ห้า กองทัพต้องยุติการสนับสนุน คสช.ในทุกประกาศโดยทันที” แถลงการณ์ระบุ
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวแกนนำและผู้ชุมนุมทั้งหมด 10 คน จากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ไปยังสถานีตำรวจพญาไท ในขณะที่แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 คน ประกอบด้วย นายรังสิมันต์ โรม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายปิยรัฐ จงเทพ นายวิเศษณ์ สังขวิศิษฎ์ และนายนิกร วิทยาพันธุ์ ได้ประกาศมอบตัวที่ สน.ชนะสงคราม หลังจากได้อ่านแถลงการณ์ต่อ คสช.เสร็จแล้ว
“เหตุการณ์ในวันนี้ไม่ควรเกิดขึ้น มันสะท้อนให้เห็นว่ายังมีความขัดแย้ง ถ้าประเทศจะกลับไปสู่ประชาธิปไตยตามที่ คสช. สัญญาไว้... การที่ทหารบอกว่ากลับไปเลือกตั้งจะวุ่นวาย สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่ยอมรับประชาธิปไตย ทำไมเราถึงไม่ยอมใช้กลไกอื่นๆ ให้คนยอมรับผลการเลือกตั้ง” นายฐิติพล ภักดีวานิช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับเบนาร์นิวส์
นายฐิติพล ยังระบุด้วยว่า ไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ เนื่องจากปัจจัยไม่ได้อยู่ที่ความพร้อมของประเทศ แต่อยู่ที่ความพร้อมของนายกรัฐมนตรีในการสร้างเครือข่าย เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะได้กลับมาสืบทอดอำนาจต่อ และคนไทยจำนวนหนึ่งต้องการให้ทหารยังคงอยู่ในอำนาจ เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศชาติซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ
ทางด้าน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยโดยทันที
“สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมเหล่านี้โดยพลัน ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้เรียกร้องรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง ให้เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมอย่างสงบ ในฐานะที่เป็นรัฐภาคีกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและพลเมือง” แถลงการณ์ระบุ