ศาลรอลงอาญาจำคุกนักศึกษาฉีกประชามติ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2017.09.26
สมุทรปราการ
170926-TH-defendant-1000.jpg นายปิยรัฐ จงเทพ (ชุดขาว) พร้อมสองจำเลยร่วม ถ่ายรูปหน้าศาลจังหวัดพระโขนง หลังฟังคำพิพากษาคดีฉีกบัตรประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 26 กันยายน 2560
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (26 กันยายน 2560) นี้ ศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษาให้จำคุกนายปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย เป็นเวลา 4 เดือน ปรับ 4 พันบาท ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ทำให้เสียทรัพย์ จากการจงใจฉีกบัตรลงคะแนนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพและไม่ปรากฎว่ามีโทษมาก่อน จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 เดือน ปรับ 2 พันบาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี

หลังฟังคำพิพากษา นายปิยรัฐ ในชุดสีขาวเดินออกจากห้องพิจารณาด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าพอใจกับคำพิพากษา เพราะเชื่อมั่นในหลักฐานที่ใช้ต่อสู้ในคดีนี้

“เจตนาตอนนั้นคือเราตั้งใจฉีกจริง เพราะจะให้เป็นปรากฎการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยมีหนึ่งคนที่ไม่ยอมรับกับกระบวนการมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่การร่างประชามติ หรือ กระทั่งที่มาของรัฐบาลทหาร ชัดเจนว่าเป็นการต่อต้านโดยสันติวิธี” นายปิยรัฐกล่าว

คดีนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายปิยรัฐ จงเทพ เป็นจำเลยที่ 1  นายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และนายทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ จำเลยที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 ทำให้เอกสารของทางราชการเสียหาย, กฎหมายอาญามาตรา 358 ฐานทำให้เสียทรัพย์ และความผิดตามพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 59, 60(9) ฐานฉีกบัตรลงคะแนน และ ก่อความวุ่นวาย รบกวน หรือเป็นอุปสรรค ในที่ออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่นายปิยรัฐ เดินทางไปยังคูหาลงคะแนนเสียงเขตบางนา และฉีกบัตรลงประชามติต่อหน้าเจ้าหน้าที่ พร้อมตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” โดยมีจำเลยที่ 2 และ 3 ร่วมกันถ่ายคลิปวิดีโอ เพื่อเผยแพร่ในสังคมออนไลน์

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยธรรม เปิดเผยคำพิพากษาให้กับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ว่า เป็นไปตามที่ทีมทนายจำเลยสู้มาตลอด ว่าศาลจะให้รอลงอาญา เพราะจำเลยก็สารภาพเองว่า ฉีกบัตรจริง เขาอยากแสดงออกถึงอารยะขัดขืน แต่ไม่ได้ก่อความวุ่นวาย หรือขัดขวางการลงประชามติ เป็นเพียงการกระทำในช่วงเวลาสั้นๆ และการลงคะแนนประชามติก็ยังดำเนินต่อไปได้ตามปกติ

“(จำเลย) ไม่ได้เฮโลไปปิดหน่วยเลือกตั้ง แค่ช่วงเวลาสั้นๆ แล้วก็มีการถ่ายคลิปนอกคูหา ซึ่งทุกคนก็ทำได้ ทีมทนายสู้ในศาลว่านายกรัฐมนตรีไปลงคะแนนฯ นักข่าวก็ถ่ายทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ถ้ามองว่าการถ่ายคลิปเป็นการก่อความวุ่นวาย ในอนาคตนักข่าวคงโดนแจ้งข้อหากันหมด” นางสาวศศินันท์ กล่าว

ทั้งนี้ นายสุริยะ รุ่งรัตนวณิชย์ ผู้พิพากษาในคดีนี้ นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ยกฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียงประชามติ และยกฟ้องนายปิยรัฐ ในความผิดฐานทำลายเอกสารทางราชการ เนื่องจากว่ายังไม่ได้มีการทำเครื่องหมายกากบาทลงบนบัตรออกเสียง จึงถือได้ว่ายังไม่ได้เป็นทรัพย์สินของทางราชการ แต่ให้ลงโทษนายปิยรัฐ ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ตามที่จำเลยได้รับสารภาพ

โดยนายปิยรัฐ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้เรียนรู้หลายอย่างจากที่สิ่งที่ได้กระทำลงไป ซึ่งทำให้รู้ว่า เราสามารถต่อสู้กับกระบวนการต่างๆภายใต้กฎหมาย ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหาร หรือ เผด็จการได้ ถ้ามั่นใจในกระบวนการและหลักฐานหนักแน่นเพียงพอ

“ผมไม่ได้มองว่าเป็นความสำเร็จ หรือ พอใจ การแสดงออกก็ไม่ได้มีผลดีซักเท่าไหร่ ทั้งเรื่องความมั่นคงในชีวิต หรือผลกระทบที่เกิดในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งสำคัญที่คนไทยควรรู้ คือเราสามารถต่อต้านความไม่ชอบธรรมได้ เป็นการต่อสู้แบบอารยะขัดขืน ซึ่งผมเองก็มองถึงผลที่เลวร้ายที่สุดไว้แล้ว เราแค่ต้องสู้ให้ถึงที่สุด และยอมรับผลของมัน” นายปิยรัฐกล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ดี พนักงานอัยการสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ในภายใน 30 วัน นับจากวันนี้ ซึ่งทีมทนายจำเลยระบุว่าพร้อมจะต่อสู้ในข้อกฎหมายต่อไปในศาลอุทธรณ์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง