สามจังหวัดชายแดนใต้ ประกาศปิดจังหวัดสู้โควิด

มารียัม อัฮหมัด
2020.03.30
ปัตตานี
200330-TH-COVID-disinfectant-1000.JPG เจ้าหน้าที่สวมหน้ากากและชุดป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส ขณะขับรถพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพฯ วันที่ 30 มีนาคม 2563
รอยเตอร์

ในวันจันทร์นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกประกาศห้ามประชาชนเดินทางเข้าออกในแต่ละจังหวัด ท่ามกลางการรายงานล่าสุดว่า มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่ทะลุหลักหนึ่งร้อยรายแล้ว และรายงานการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เป็นรายที่สอง ซึ่งผู้ป่วยมีประวัติการเดินทางไปมาเลเซีย

ทั้งนี้ นายสงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า นายแวยูโซะ ยูโซะ อายุ 54 ปี ภูมิลำเนาบ้านเลขที่ 26 ซอยวิฑรูอุทิศ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ได้เสียชีวิตเมื่อวานนี้ ด้วยอาการป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ผู้ป่วยมีประวัติเดินทางไปประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อส่งลูกสาวที่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน และเดินทางกลับวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา

“เพื่อสกัดไวรัสโควิดระบาด หลังพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไปสู่ประชาชนวงกว้าง การควบคุมพื้นที่ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จังหวัดนราธิวาสจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้มาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มข้น เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง” ระบุตามเอกสารที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างแถลง

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ในวันนี้ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม ในสงขลา 25 ราย ปัตตานี 44 ราย ยะลา 38 ราย และ นราธิวาส 10 ราย

สาระสำคัญของประกาศมีความว่า 1. ห้ามประชาชนเดินทาง เข้า-ออก ข้ามเขตพื้นที่จังหวัดดังกล่าว อันเนื่องมาจากเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด-19 เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การทำให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค การป้องกันโรค การฆ่าเชื้อโรค การขนส่งสินค้าที่จำเป็น สินค้าอุปโภค-บริโภค การไปรษณีย์ อุปกรณ์เครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ยานพาหนะเพื่อการกู้ชีพ กู้ภัยฉุกเฉิน รถพยาบาล และยานพาหนะของทางราชการ เป็นต้น 2. ห้ามผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือ โรคระบาด เดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านหรือที่เอกเทศ สำหรับที่แยกกัน หรือ กักกัน และหรือข้ามเขตพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่กล่าวมา เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกอเซ็ง อาแวกือจิ อายุ 49 ปี ชาวอำเภอสุไหงโกลก นราธิวาส ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนคนไทย 132 คน ที่ไปร่วมงานเผยแพร่ทางศาสนา Qudamak & Ulamak Malaysia 2020 ณ มัสยิดศรีเปตาลิง ประเทศมาเลเซีย ในระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม ศกนี้ ได้เสียชีวิตลงนับเป็นรายแรกของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย รักษาอาการหายและกลับบ้านได้แล้ว 6 ราย มีญาติมารอรับกลับบ้านด้วยความยินดี

ด้าน นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ออกคำสั่งการเข้าออกจังหวัด ทางท่าอากาศยานจังหวัดนราธิวาส ได้งดการให้บริการ จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะคลี่คลายลง

ผู้ป่วยตายเพิ่ม 4 ราย หลังจากวันศุกร์ที่แล้ว

ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ระบุ พบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 136 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ทั้งระบุว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 91 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ในวันเสาร์ ขณะที่วันอาทิตย์ มีผู้ติดเชื้อใหม่ 109 ราย และเสียชีวิต 1 ราย เช่นกัน

“สำหรับวันนี้ เราพบผู้ป่วยรายใหม่ 136 ราย เรามีผู้ป่วยที่กลับบ้านได้แล้วในวันนี้ 16 ราย มีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 ราย โดยรวมแล้ว ขณะนี้เรามีผู้ป่วยยืนยัน 1,524 ราย กลับบ้านแล้ว 127 ราย เสียชีวิต 9 ราย ยังอยู่โรงพยาบาล 1,388 ราย มีผู้ป่วยหนัก 23 ราย” นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าว

นายแพทย์อนุพงศ์ ระบุว่า ผู้ป่วยเป็นสัญชาติไทย 1,297 ราย สัญชาติอื่นๆ 227 ราย ส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพมหานคร 715 ราย

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 745,308 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 177 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 35,307 คน รักษาหายแล้ว 158,527 คน

รองผู้ว่าฯ ยะลา คาดโทษมัสยิดดื้อแพ่ง

ในวันนี้ นายนิมะ มะกาเจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานในการประชุมกับอิหม่าม ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งจุฬาราชมนตรี ในการห้ามละหมาดวันศุกร์ จากการตรวจสอบพบว่า ยังมีมัสยิดราว 30 แห่ง จากเกือบ 400 แห่ง ที่ยังไม่ปฏิบัติตาม

“พบว่ามัสยิดที่ไม่ให้ความร่วมมือมีจำนวนหลายมัสยิด จึงทำให้มีการออกคำสั่งติดประกาศหน้าประตูมัสยิด วันที่ 3 เมษายน 2653 ห้ามมีการประกอบศาสนกิจละหมาดวันศุกร์ จะมีการปิดประตูมัสยิดทุกแห่ง และจะมีเจ้าหน้าที่มาควบคุมหน้ามัสยิด เพื่อป้องกันและกันประชาชนที่จะมาร่วมละหมาดวันศุกร์ตามที่คำสั่งได้ห้ามไว้ หากยังมีการฝ่าฝืนมาตรการอีกพร้อมยกจัดการในมาตรการที่หนักขึ้น” นายนิมะ กล่าว

ประธานสภาแนะรัฐบา ใช้งบกลางซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ด้านนายกฯ อนุมัติ 1.5 พันล้านซื้อจากจีน

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวแก่สื่อมวลชน ระหว่างตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า รัฐบาลควรให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ด้วยการอนุมัติงบกลางเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ใช่ให้แพทย์ต้องมารับบริจาคเอง โดยการตรวจเยี่ยมของนายชวน ระบุว่า อุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของโรงพยาบาล ยังขาดแคลนจำนวนมาก

ด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบกลาง 1.5 พันล้านบาท ซื้อเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์จากประเทศจีนแล้ว โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้เปิดเผยเรื่องดังกล่าว ระหว่างการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

“เป็นความพยายามของท่านนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ติดต่อกับรัฐบาลจีนโดยตรง ขอสนับสนุนหน้ากากเอ็น-95 และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยซื้อแบบรัฐต่อรัฐ กราบเรียนว่า เรามอบให้องค์การเภสัชฯ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีมอบให้ จำนวน 1,500 ล้านบาทในการซื้อ ที่เขาตอบรับว่าจะขายเรา 1.3 ล้านชิ้น เราก็จะดำเนินการเพื่อนำเข้าประเทศไทย พร้อมที่จะนำเข้าทันที 4 แสนชิ้นกระจายทั่วประเทศ” นพ.สุขุม ระบุ

นพ.สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลในประเทศ ยังสามารถรองรับได้อีกกว่า 700 เตียง ขณะที่หน้ากากอนามัยสีเขียว หนึ่งแสนชิ้น หน้ากากอนามัยเอ็น-95 หนึ่งหมื่นชิ้น ที่ได้รับบริจาคจากประเทศจีน ได้กระจายไปยังโรงพยาบาลต่างจังหวัดแล้ว ชุดตรวจโรค 2 หมื่นชิ้น จะถูกนำตรวจสอบคุณภาพ ก่อนส่งไปให้โรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้ใช้งาน สำหรับหน้ากากอนามัยสีเขียวที่ได้รับบริจาคจากบริษัท อาลีบาบา ประเทศจีนนั้น จะถูกส่งไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ 9.7 พันชิ้น เนื่องจากมีความต้องการสูง

แอมเนสตี้ เรียกร้องรัฐบาลไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

วันเดียวกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า รัฐบาลไทยควรประกันว่า การประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 จะต้องไม่เป็นการกำหนดเงื่อนไขต่อสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานระหว่างประเทศ และมาตรการเหล่านี้ ควรมีผลเพียงชั่วคราว ใช้ในกรณีที่เป็นข้อยกเว้น ใช้อย่างได้สัดส่วน จำเป็น ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช้เพื่อจำกัดโดยพลการต่อสิทธิประการต่าง ๆ รวมทั้ง เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งต้องไม่ฉวยโอกาสในการส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกประหัตประหาร

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ ได้มีผู้ต้องขังประมาณ 100 คน ในเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ ก่อจลาจล และแหกที่คุมขังออกมา ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนว่า มีสาเหตุเพราะการปล่อยข่าวลือว่ามีการระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำหรือไม่ ซึ่งนักโทษได้ทำลายทรัพย์สิน และจุดไฟเผาอาคารของเรือนจำ จนได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ในเวลาประมาณ 6 ชั่วโมงต่อมา ในวันนี้ มีผู้ต้องขังยังหลบหนีอยู่หนึ่งราย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช มีส่วนในการรายงานข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง