นายกฯ ตั้งกรรมการสอบคดี ‘บอส อยู่วิทยา’

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.07.29
กรุงเทพฯ
200729-TH-crime-redbull-1000.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบรถเฟอร์รารีที่เสียหาย ที่จอดอยู่ในบ้านของนายเฉลียว อยู่วิทยา อดีตผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลัง กระทิงแดง ที่ล่วงลับไปแล้ว ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555
รอยเตอร์

ในวันพุธนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องการพิจารณาคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ทายาทบริษัทกระทิงแดง ซึ่งอัยการเพิ่งมีความเห็นไม่สั่งฟ้องต่อศาล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้เช่นกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวแก่สื่อมวลชนหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว เนื่องจากเป็นประเด็นที่สังคมสนใจ

“เรื่องของกรณีคดีที่มันมีปัญหาอยู่ในเวลานี้ รัฐบาลในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารก็จำเป็นต้องให้เกิดความชัดเจน โดยไม่ไปก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม วันนี้ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายในกรณีดังกล่าว มีศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการ… เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนและสังคมให้ความสนใจ ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ ว่าปัญหามันอยู่ที่ใดอย่างไร แล้วก็แก้ปัญหา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“ผมจะไปก้าวล่วงในส่วนของอัยการ ของศาลไม่ได้ แม้กระทั่งในส่วนของ สนช. หรือ ส.ว. ผมก็ไปสั่งการอะไรไม่ได้ มันอยู่ที่กลไกของเขาที่ทำออกมา แล้วก็ตำรวจด้วย อันนี้ก็เพื่อจะให้เกิดความเป็นธรรม ก็ขอให้มั่นใจ นายกฯ ไม่ได้ปล่อยปละละเลยนิ่งนอนใจเลย ปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ปัญหาให้ได้ ความยุติธรรมจะต้องมีในสังคมไทยโดยไม่แบ่งชนชั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 225/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน คดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ 10 คน ประกอบด้วย 1. ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการ 2. ปลัดกระทรวงยุติธรรม 3. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4. ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 5. ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 6. นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย 7. คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8. คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9. คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งหมดเป็นกรรมการ และ 10. ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. (สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง) เป็นกรรมการและเลขานุการ

โดยกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศึกษาและทำรายงานเพื่อการปรับปรุงกฎหมายสรุปส่งมายังนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 โดยคณะกรรมการมีอำนาจในการร้องขอเอกสาร เชิญ หรือขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

ในหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการฯ กล่าวว่า กรณีนี้มีเหตุพิเศษที่สังคมควรมีโอกาสทราบในส่วนของข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติการณ์และบุคคลผู้เกี่ยวข้อง เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ในวันเดียวกัน พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวหลังการประชุม คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการในคดีนี้ว่า คณะกรรมการฯ จะพิจารณาใน 3 ประเด็น คือ 1. การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน 2. การสอบสวนเพิ่มเติมตามความเห็นของอัยการ และ 3. การตรวจสอบการใช้ดุลพินิจไม่แย้งสำนวน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่อย่างไรผลการประชุมจะไม่มีผลต่อรูปคดี

“ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการไม่มีผลต่อคดีความ เพราะคดีสิ้นสุดแล้ว แต่หากพบว่ามีการใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาความผิดทางวินัยและอาญาต่อไป แต่แม้กระบวนการของตำรวจจะสิ้นสุด แต่ครอบครัวผู้เสียหาย ยังสามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลได้เอง ตามกระบวนการยุติธรรม” พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ วานนี้ นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 และรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ ผู้ต้องหาคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ อดีตผู้บังคับหมู่ปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555  เช่นกัน

โดยคณะทำงานดังกล่าวมี นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และได้เริ่มประชุมครั้งแรกในวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 ใน 3 ประเด็นหลักประกอบด้วย 1. คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2. การพิจารณาสั่งคดีของอัยการเป็นไปตามระเบียบกระบวนการหรือไม่ และ 3. คณะทำงานจะพิจารณาว่ามีเหตุและผลการพิจารณาอย่างไรที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ

ต่อประเด็นเดียวกัน คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงแล้วในวันพุธนี้ อย่างไรก็ตาม การชี้แจงยังไม่ได้ข้อสรุป โดยจะมีการนัดประชุมใหม่อีกครั้งในสัปดาห์ต่อไป เช่นเดียวกับคณะกรรมาธิการการตำรวจ ส.ส. จะเชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่รับผิดชอบด้านกฎหมาย เข้าชี้แจงในกรณีดังกล่าวเช่นกัน ในวันพฤหัสบดีนี้

ครอบครัวอยู่วิทยาส่งหนังสือเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน

ด้าน ครอบครัวอยู่วิทยา ได้ส่งหนังสือเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจหลายเรื่องของนายวรยุทธ และรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“พวกเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการตัดสินใจหลายเรื่องของคุณวรยุทธที่เราติดตามจากข่าว แต่พี่น้องก็ไม่เคยออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ ด้วยเพราะให้เกียรติครอบครัวของคุณวรยุทธ และคาดหวังว่าครอบครัวของคุณวรยุทธจะทำทุกอย่างให้เป็นที่ยอมรับของสังคมในที่สุดได้... พี่น้องทุกคนล้วนเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และยืนยันว่าพวกเราทุกคนให้ความเคารพในกฎหมาย และยึดมั่น ในกระบวนการยุติธรรม”​ ตอนหนึ่งของจดหมาย ระบุ

สำหรับคดีที่ บอส หลานชายของนายเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดง ตกเป็นจำเลย สืบเนื่องจากในช่วงเวลาประมาณ 05.30 น. ของวันที่ 3 กันยายน 2563 เกิดเหตุรถยนต์สปอร์ตขับชนรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนทำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่ปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เสียชีวิต เบื้องต้น นายสุเวช หอมอุบล ผู้ดูแลบ้านของนายวรยุทธ สารภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เป็นผู้ก่อเหตุขับรถชนดังกล่าวเอง แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบสวน จนนายสุเวชสารภาพว่า ตนเองไม่ใช่ผู้ขับรถชน ด.ต.วิเชียร นำไปสู่การเชิญ นายวรยุทธ เจ้าของรถยนต์ที่ประสบเหตุเข้าให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

กระทั่งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องนายวรยุทธต่ออัยการใน 7 ข้อหาประกอบด้วย 1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหาย 2. ขับรถโดยประมาททำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย 3. ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล 4. ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย 5. ไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานงานในทันที 6. ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ 7. ขับรถเร็วกว่าที่อัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ต่อมา ระหว่างการพิจารณาในชั้นอัยการ สำนักงานอัยการได้ออกหมายเรียก นายวรยุทธเข้ารายงานตัว 7 ครั้ง แต่นายวรยุทธได้ให้ทนายความขอเลื่อนนัดออกไป โดยใช้เหตุผลว่า ติดภารกิจในต่างประเทศ ต่อมาอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาททำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล และ ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย

27 เมษายน 2560 อัยการสูงสุดออกหมายเรียกให้นายวรยุทธ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา แต่นายวรยุทธไม่ไปตามนัด จึงได้มีการออกหมายจับ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สำนักข่าวเอพีได้เผยแพร่ภาพว่า พบนายวรยุทธในบ้านพักที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตาม นายวรยุทธ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใด ๆ กับผู้สื่อข่าว ต่อมาคดีทั้งหมดของนายวรยุทธได้หมดอายุความลงระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นอัยการ เหลือเพียงข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี และจะหมดอายุความ ในวันที่ 3 กันยายน 2570 เพียงข้อหาเดียว

กระทั่งกลางเดือนกรกฎาคม 2563 สื่อหลายสำนักได้เปิดเผยเอกสาร ซึ่งลงนามโดย พ.ต.ท.ธนาวุฒิ สงวนสุข รองผู้กำกับการสอบสวน ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2563 แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ตามคดีอาญาระหว่าง พ.ต.ท.วีรดล ทับทิมดี ผู้กล่าวหา นายวรายุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 และ ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก การที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าว เป็นผลให้คดีที่เกี่ยวกับการขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจของ นายวรยุทธ ทั้งหมดเป็นอันสิ้นสุดลง ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากประชาชนในสังคม และอินเทอร์เน็ต ถึงกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าว

ศาลอุทธรณ์ยืนคุก 1 ปี เปรมชัย กรรณสูต คดีติดสินบนเจ้าหน้าที่

ในวันพุธนี้ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 83

โดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งนี้ เป็นการพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 จากการที่นายเปรมชัย พยายามติดสินบนเจ้าพนักงาน เพื่อให้ปล่อยตัวหลังถูกจับกุมพร้อมซากสัตว์ป่าคุ้มครอง และอาวุธปืน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561

สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์ป่าของนายเปรมชัย ปัจจุบัน นายเปรมชัย ถูกพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี 14 เดือน โดยไม่รอลงอาญา จากความผิดฐานล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งคดีนี้ ปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างการยื่นฎีกา ขณะที่ คดีครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ โดยทั้งสองคดี นายเปรมชัยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะที่ คดีครอบครองงาช้างแอฟริกา นายเปรมชัยได้รับการยกฟ้อง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง