ประยุทธ์เร่งคดีบอส เข้ากระบวนการยุติธรรมใน 30 วัน
2020.09.01
กรุงเทพฯ
นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย คดีนายวรยุทธ “บอส” อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจตาย ได้แถลงผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ในวันนี้ว่า ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า คดีนี้เป็นกระบวนการทำสำนวนอันเป็นการสมยอมโดยไม่สุจริต ร่วมมือกันตามทฤษฎีสมคบคิด และได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กในช่วงค่ำวันเดียวกันว่า จะเร่งดำเนินคดีบอส ที่ยังไม่หมดอายุความภายใน 30 วัน
นายวิชา มหาคุณ แถลงผลการทำงานของคณะกรรมการฯ หลังจากทำงานครบ 30 วันตามกำหนดเวลา โดยระบุว่า ตนได้ส่งรายงานโดยละเอียดให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับทราบ พร้อมข้อเสนอแนะ 5 ข้อ ทั้งนี้นายวิชา ระบุว่า สิ่งแรกที่คณะกรรมการพบพิรุธคือ การทำสำนวนที่ผิดปกติ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือ การใช้เวลาในคดีนี้ที่ยาวนาน แต่ไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี
"เราเห็นพฤติกรรมที่เขาทำกันมา เริ่มต้นตั้งแต่ทำสำนวนก็บกพร่องตั้งแต่แรกแล้ว จุดที่บกพร่องก็คือ การตั้งข้อหาสำหรับคนตาย โดยเฉพาะดาบตำรวจวิเชียร ซึ่งไม่เป็นธรรมเลยและไม่ถูกตามกฎหมาย เพราะว่าเขาไม่มีโอกาสที่จะต่อสู้คดี ถึงแม้เขาจะได้รับเงินเยียวยา แต่มันทำให้รูปคดีเสียหายอย่างหนัก” นายวิชา กล่าว
นายวิชา อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อด้วยว่า ปกติเวลาเราทำสำนวน ในระบบศาล อัยการ ตำรวจ จะรู้ดีว่าเราตั้งรูปคดีเพื่อจะนำไปสู่การได้ความจริง หรือตั้งรูปคดีเพื่อให้มันหลุดจากข้อกล่าวหา แต่ถ้าตำรวจตั้งรูปคดีแบบนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีความจริงจัง จริงใจในการทำสำนวน กระบวนการเหล่านี้ ทำให้เราเห็นภาพว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำอย่างมืออาชีพ เพราะบางข้อกล่าวหาไม่ได้ใส่ไว้ในสำนวน แค่สอบให้รู้ว่ามีการสอบ แต่ไม่ได้เอาจริงจังแล้วก็สั่งไม่ฟ้อง
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ใช้เวลายาวนานมากถึง 6 เดือน ในการสอบสวน แต่กลับไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องศาลตามที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องแต่แรก และเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดการยื่นร้องขอความเป็นธรรมถึง 14 ครั้ง และสำเร็จในครั้งที่ 14 โดยอัยการสูงสุดขณะนั้นได้หยิบเอาพยานหลักฐานที่ถูกปฏิเสธแล้วในครั้งที่ 8 มาใช้ และคณะกรรมการพบว่า มีการอ้างวันที่สอบสวนอันเป็นเท็จ ซึ่งข้อเหล่านี้เป็นข้อที่แสดงให้เห็นว่าการหยิบยกพยานหลักฐานที่สร้างขึ้นมาอันเป็นเท็จ และร่วมไม้ร่วมมือกันในระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ดี ในระหว่างทนายความก็ดี มีอัยการท่านหนึ่งอยู่ในขบวนการนี้ด้วย
“คณะกรรมการตรวจสอบทั้งหมดจึงมีความเห็นตรงกันว่า เป็นกระบวนการทำสำนวนอันเป็นการสมยอมโดยไม่สุจริต ร่วมมือกันตามทฤษฎีสมคบคิด ทำให้สำนวนเสียไปตั้งแต่ต้น เหมือนที่เราพูดว่า ต้นไม้พิษสร้างผลไม้ที่เป็นพิษ บริโภคไม่ได้ ต้องฟันต้นไม้พิษทิ้งทั้งหมด” นายวิชา กล่าว
ทั้งนี้ เอกสารรายงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้ทำคำแนะนำไปยังนายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ 1. ต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้อง ในข้อหาที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ ข้อหาขับขี่รถในขณะมาสุราและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
สอง จะต้องการดำเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมในขบวนการนี้ ประกอบด้วย พนักงานสอบสวนซึ่งเกี่ยวข้องกับสำนวน พนักงานอัยการซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผู้บังคับบัญชา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ และ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ รวมไปถึงทนายความซึ่งกระทำผิดกฎหมาย พยานซึ่งให้การเป็นเท็จ และ ตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนในการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว
3. จะต้องมีการดำเนินการทางจริยธรรม จรรยาบรรณ มรรยาท โดยหน่วยงานหรือองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต่อบุคคลดังกล่าวอย่างจริงจังและเปิดเผย ให้สาธารณชนทราบเป็นการทั่วไป เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง 4. สมควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มอบอำนาจ ต้องกำกับ ดูแล แก้ไข เปลี่ยนแปลง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้รับมอบอำนาจให้ถูกต้องตามกฎหมายและจริยธรรม หากผู้บังคับบัญชาละเลยให้ถือว่าเป็นผู้บกพร่องต่อหน้าที่
5. คณะกรรมการเห็นสมควรให้มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการฯ ในเรื่องการร้องขอความเป็นธรรม การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการอัยการ ว่าด้วยการมอบอำนาจ การวางระเบียบในการมอบอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องอายุความ
โดยรายงานของคณะกรรมการเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้ส่งเรื่องนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ คณะกรรมการ ป.ป.ช คณะกรรมการ ป.ป.ท. คณะกรรมการ ป.ป.ง คณะกรรมการอัยการ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ สภาทนายความ เพื่อให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป พร้อมเสนอให้ดำเนินการให้คดีอาญาในเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ
ในช่วงค่ำวันเดียวกัน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่าตนได้อ่านรายงานทั้งหมดครบทุกหน้าแล้ว รู้สึกว่าสิ่งที่ได้อ่านเป็นสิ่งที่น่าเศร้ามากสำหรับประเทศไทย
“แต่สิ่งที่ผมสามารถทำได้ – และผมจะทำ – คือ คดีนี้ จะต้องเข้าสู่กระบวนการเร่งด่วน และให้ตำรวจดำเนินคดีต่อ “บอส” ในคดีที่ยังไม่หมดอายุความ ภายใน 30 วัน เราต้องไม่ปล่อยให้คนหลุดพ้นจากกระบวนการยุติธรรม โดยใช้วิธีถ่วงเวลาให้หมดอายุความ และผมถือว่าการปล่อยให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่เลวร้ายด้วยเหมือนกัน” ข้อความระบุ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุด้วยว่าจะสั่งการให้เริ่มสอบสวนเจ้าหน้าที่หรือบุคคล ที่อาจจะเกี่ยวข้องทำให้เกิดความไม่ถูกต้องในกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งจากปฏิบัติหน้าที่ หรือการไม่ปฏิบัติหน้าที่ โดยนายกฯ กล่าวทิ้งท้าย ขอให้ทุกคนจำกรณีนี้ว่า มี 2 ผู้เสียหาย คนหนึ่งคือ ตำรวจดี ๆ ท่านหนึ่งที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในช่วงเช้ามืดของวันนั้น ส่วนอีกหนึ่งผู้เสียหาย ก็คือ ประเทศไทยของเราทั้งหมด
“เพราะวิธีการดำเนินคดีในกรณีนี้ ได้ส่งผลกระทบในทางลบอย่างรุนแรงกับพื้นฐานที่สำคัญของสังคม 2 อย่าง นั่นคือ ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อระบบยุติธรรม และความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อการบังคับใช้กฎหมาย เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของยุคสมัยใหม่ เป็นยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ต้องการความโปร่งใสมากขึ้น และความรับผิดชอบอย่างเต็มที่มากขึ้น จากผู้นำ” ข้อความของ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ