นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธเจ้าหน้าที่ซ้อมอับดุลเลาะ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ มารียัม อัฮหมัด
2019.08.27
กรุงเทพฯ และปัตตานี
190827-TH-prayuth-1000.jpg พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัย ขณะเดินเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 27 สิงหาคม 2562
เอพี

ในวันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอบปฏิเสธข้อสงสัยที่ว่าทหารซ้อมทรมาน นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ที่ถูกควบคุมตัวในหน่วยซักถาม ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จนนำไปสู่การเสียชีวิต ขณะรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในเวลากว่าหนึ่งเดือนถัดมา

นายอับดุลเลาะ หมดสติ ในวันที่ 20 กรกฏาคม และเสียชีวิตเมื่อเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ โดยแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะว่า เกิดจากปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง (severe pneumonia) และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (septic shock) ญาติๆ ได้ทำพิธีฝังศพนายอัลดุลเลาะ ที่กุโบร์บ้านเจาะกีแย ม.3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อตอนสายของวันเดียวกัน

“ก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม ในส่วนนี้จริงๆ แล้ว ผมจำได้ว่าเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็ได้มีการชี้แจงโดยโรงพยาบาลสามแห่ง ทั้งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ก็ได้รายงานตรงกันว่า ร่างกายของอับดุลเลาะ เป็นปกติ ไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายทั้งจากภายในภายนอก อันนี้ ก็มาจากแพทย์” พลเอกประยุทธ์ กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าว

“ส่วนสาเหตุเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ก็รับรายงานผลตรวจว่า เกิดจากสาเหตุ ปอดอักเสบ และติดเชื้ออย่างรุนแรง อันนี้คงไม่ได้เกิดจากการไปซ้อมทรมานนะ ก็ยินดีที่จะให้การตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นนะครับ รัฐบาลก็บอกมาโดยตลอดว่า ไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา ให้มีการถ่ายเทป ถ่ายวิดีโอไว้ทุกครั้ง เพื่อให้ไม่มีปัญหาอีกต่อไป” พลเอกประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนฯ ชี้แจงเพิ่มเติม

ในวันนี้ นายอับดุลอาซิบ ตาแดอิง คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อ่านแถลงการณ์ของคณะกรรมการฯ มีใจความส่วนหนึ่งว่า ดำเนินการตรวจสอบเรื่องสถานที่ซักถาม เป็นไปตามมาตรฐาน แต่กล้องวงจรปิดไม่สามารถใช้ได้ จากการตรวจสอบพบว่าอาคารดังกล่าวเพิ่งสร้างเสร็จ และเริ่มใช้งานเมื่อพฤษภาคม 2562 ตัวกล้องได้ดำเนินการติดตั้งเรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่มีการส่งมอบ จึงยังไม่ได้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ให้บริษัทดำเนินการส่งมอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายอับดุลอาซิบ คณะกรรมการฯ ที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นผู้ริเริ่ม ประกอบด้วยบุคลากรที่เป็นที่ยอมรับทางสังคมจากผู้แทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา นักวิชาการ ภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างอิสระ โปร่งใสเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยได้เข้าไปตรวจสอบสถานที่ซักถาม เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามและให้ข้อมูล การตรวจสอบข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของสาเหตุเสียชีวิตนั้น คณะกรรมการฯ ทราบว่า มาจากรายงานแพทย์ อาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง severe pneumonia และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ septic shock สาเหตุนำมาจาก ภาวะสมองขาดเลือด และขาดออกซิเจน hypoxic ischemic encephalopathy

“การไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำ อย่างที่มีการกล่าวอ้างว่า มีการใช้ถุงคลุม การใช้ผ้าเปียกปิดหน้าแล้วเทน้ำใส่ หรือแม้กระทั่งตัวผู้ป่วยหมดสติและมีภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร จากการที่มีการประชุมสรุปกับคณะแพทย์ มีการสอบถามถึงกรณีนี้ แพทย์ชี้ให้เห็นว่า หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น จะต้องมีการแสดงออกถึงจุดที่เลือดออกบ้าง เช่น จะแสดงออกได้ชัดเจนที่ตา คือเยื่อบุหลอดเลือดจะแตก และมีเลือดออกตามตา เหงือก ริมฝีปากคล้ำ เยื่อบุจะขาด ใบหน้าบวมคล้ำ ผู้ที่ขาดออกซิเจนจะแสดงเห็นได้ชัดเจนจากบริเวณริมฝีปาก ซึ่งในกรณีนายอับดุลเลาะไม่พบลักษณะดังกล่าว” นายอับดุลอาซิบ ระบุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ นายโมฮำมัดรอฮมัด มามุ อายุ 36 ปี ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า

“แม้จะมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่งตั้งขึ้นมา แต่เวลาผ่านไปกว่า 30 วัน ไม่มีอะไรคืบหน้า แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า หากให้ทางหมอผ่าพิสูจน์จะได้ความจริง บอกตรงๆ เลยว่า ขณะนี้ ด้านญาติไม่เชื่อมั่นเลย” นายโมฮำมัดรอฮมัด กล่าว

ส่วนนางซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ กล่าวว่า กำลังปรึกษาทนายความ เพื่อที่จะแจ้งความดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด

ด้านคณะกรรมการฯ ระบุว่า เห็นควรให้การช่วยเหลือเยียวยา โดยทางคณะกรรมการฯ จะรวบรวมผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ รายงานให้ ศอ.บต. พิจารณาดำเนินการต่อไป และยังมีมติว่า ควรให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ตามความเหมาะสม โดยจะเชิญภรรยาและครอบครัวของนายอับดุลเลาะ มาหารือต่อไป

นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจ พรก.ฉุกเฉิน ในหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากที่ถูกซัดทอดโดย นายอิบรอเฮงระ มะเซ็ง ผู้ก่อการร้ายระดับแกนนำ ที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ว่า นายอับดุลเลาะ ได้ช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่อำเภอสายบุรี ปัตตานี หลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวนายอัลดุลเลาะ จากบ้านพักในพื้นที่ ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี เพื่อมาซักถาม โดยผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และภรรยา อยู่ในเหตุการณ์

แต่เมื่อเวลาเช้าของวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 นายอับดุลเลาะ หมดสติและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และโรงพยาบาลปัตตานี โดยแพทย์ระบุเบื้องต้นว่ามีอาการสมองบวม จากนั้น ถูกนำส่ง รพ.สงขลานครินทร์ จนเสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง