ยอดตายสงกรานต์ปี 61 แซงหน้ายอดปีก่อน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.04.18
กรุงเทพฯ
180418-TH-holiday-1000.jpg ประชาชนเดินทางกลับจากภูมิลำเนาของตัวเองโดยรถไฟถึงกรุงเทพฯ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง วันที่ 18 เมษายน 2561
การรถไฟแห่งประเทศไทย

ในวันพุธนี้ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2561 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2561 ว่า ปีนี้ยอดผู้เสียชีวิต 418 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีก่อนจำนวน 28 ราย ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการดื่มแล้วขับ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ได้ยึดรถผู้ฝ่าฝืนมาตรการดื่มไม่ขับเพิ่มขึ้นถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 16,000 คัน ก็ตาม

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงสงกรานต์ 2561 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 ว่า มีผู้เสียชีวิต 418 ราย บาดเจ็บ 3,897 ราย จากอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น 3,724 ครั้ง ซึ่งพบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 28 ราย โดยสาเหตุ ดื่มแล้วขับ มากที่สุด ทั้งนี้สถิติช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2560 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 390 ราย บาดเจ็บ 3,808 ราย จากอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น 3,690 ครั้ง

นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธาน ศปถ. กล่าวว่า รถที่เดินทางเข้า-ออกจากกรุงเทพมหานคร ในช่วงเทศกาลมีมากถึง 8 ล้านคัน ขณะที่สถิติประชาชนที่เดินทางโดยรถสาธารณะมีมากถึง 14 ล้านคน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจรถกว่า 5 ล้านคัน และสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในช่วง 7 วัน ถึง 1.1 ล้านคน ในฐานความผิด ไม่สวมหมวกนิรภัย มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย เมาสุรา ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่มีใบขับขี่ ขับรถด้วยความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ขับรถย้อนศร และแซงในที่คับขัน

“สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ และขับรถเร็ว รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าร้อยละ 79” นายสุธี กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เปิดเผยว่า จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ 133 ครั้ง และจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ นครราชสีมา จำนวน 20 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ 142 คน โดยพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.28 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 26.50 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 28.65 โดยจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ประกอบด้วย ระนอง สมุทรสงคราม หนองคาย และหนองบัวลำภู

ในวันเดียวกัน พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆก คสช. แถลงผลการดำเนินงานตามมาตรการลดอุบัติเหตุและสร้างความปลอดภัย “ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ” ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาว่า สามารถยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการดื่มไม่ขับได้ทั้งหมด 16,288 คัน แยกเป็นจักรยานยนต์ 11,768 คัน และรถยนต์ 4,520 คัน เพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการยึดรถในช่วงสงกรานต์ปี 2560 ที่ยึดรถรวมทั้งสิ้น 8,128 คัน

“มาตรการที่ คสช. ดำเนินการเพื่อดูแลประชาชนในช่วงเทศกาลมาตลอดระยะเวลา 4 ปี ได้รับเสียงตอบรับในทางบวกจากประชาชน รวมทั้งมีการเสนอความเห็นให้ยืดระยะเวลาการเก็บรักษารถ รวมถึงบทลงโทษกับผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ” รองโฆษก คสช. กล่าว

ลงโทษผู้กระทำผิด

ด้าน นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่าในช่วง 7 วัน แห่งการรณรงค์ระวังอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศจำนวน 3,620 คดี ซึ่งเป็นคดีเมาแล้วขับจำนวน 3,461 คดี จากจำนวนผู้กระทำความผิดในคดีเมาแล้วขับทั้งหมด 10,784 คดีทั่วประเทศ

สำหรับปีนี้ กรมคุมประพฤติได้ร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม ในการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ Electronic Monitoring (EM) ของสำนักงานศาลยุติธรรมมาใช้กับกลุ่มผู้ถูกคุมประพฤติ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในผู้กระทำผิดในคดีเมาแล้วขับตามคำสั่งศาลเป็นปีแรก และได้เริ่มนำร่องในเขตอำนาจศาลแขวงดอนเมือง และ ศาลแขวงพระนครเหนือ สำนักงานคุมประพฤติในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีสถิติเมาแล้วขับสูงเป็นอันดับต้นๆ

“เมื่อวันที่ 17 สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 2 ได้ดำเนินการติดเครื่อง EM ไปจำนวน 22 ราย สำหรับยอดสะสมตั้งแต่ 13-17 เม.ย. 2561 ติดตั้งเครื่อง EM ไปแล้วรวมทั้งหมด 59 ราย พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกบ้านเวลา 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 15 วัน คุมความประพฤติ 1 ปี รายงานตัวจำนวน 4 ครั้ง พร้อมทั้งทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง” นายประสาร ระบุ

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1. การให้ความสำคัญกับระบบข้อมูล โดยให้ร่วมกันทำฐานข้อมูลแห่งชาติ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำวาระความปลอดภัยบนท้องถนนเข้าประชุมทุกเดือน 2. มาตรการลดความเสี่ยง โดยให้ทำการสำรวจเส้นทางตัดรถไฟ ทางโค้ง ความสว่างบนท้องถนน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ ในการจัดซื้อเครื่องมือตรวจวัดแอลกอฮอล์ และเครื่องตรวจจับความเร็ว 3. สร้างการรับรู้ให้ประชาชน รวมถึงข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐในการกระทำผิดกฎหมายจราจรจะต้องได้รับโทษทางวินัยด้วย 4. เพิ่มโทษทางกฎหมายทั้งจำและปรับซึ่งขณะนี้อยุ่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง