วิสาหกิจชุมชนยะลาเซ็นเอ็มโอยูผลิตไม้ป้อนโรงไฟฟ้า
2020.08.05
ปัตตานี
ในวันพุธนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดยะลา กับ บริษัท ดับเบิ้ลไนน์เอนจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท เซ้าท์เทิร์น บริเควท จํากัด ในการพัฒนาพืชพลังงาน เพื่อป้อนโรงงานไฟฟ้าชีวภาพ
พิธีลงนามได้จัดขึ้นที่ชุมชนบ้านตะโละ หมู่ที่ 3 ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยมี นายอุดมศักดิ์ แก้วศิริ บริษัท ดับเบิ้ล ไนน์ เอนจิเนียริ่ง จํากัด นายสุทน อินทราวุธ บริษัท เซ้าท์เทิร์น บริเควท จํากัด นายอิสระ ละอองสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. นายมะเสาวดี ไสสากา สํานักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา และ ผู้แทนวิสาหกิจชุมชน จากยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ สงขลา 15 กลุ่ม ร่วมลงนาม
พลเรือตรีสมเกียรติ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ การพัฒนาพืชพลังงาน และโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานรากชายแดนใต้ ที่ได้วางเป้าหมายให้มีพื้นที่การเพาะปลูกไม้พลังงาน เช่น ไม้ไผ่พันธุ์ซางหม่น ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้ปลูกแล้ว 5,000 ไร่ และ ปี 2564 จะปลูกอีก 95,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้ปลูกไม้โตเร็วอีก 6,500 ไร่ ตระกูลกระถิน 5,000 ไร่ ตะเคียนทราย 1,000 ไร่ เสม็ดขาวทราย 500 ไร่
ทั้งนี้ โรงงานไฟฟ้าชีวมวลของ บริษัท ดับเบิ้ลไนน์ เอนจิเนียริ่ง จํากัด สํานักงานภาคใต้ ตั้งอยู่เลขที่ 99/4 หมู่ที่ 4 ตําบลเทพา อําเภอเทพา จังหวัดสงขลา สนับสนุนปัจจัยการผลิต เทคโนโลยี และงานวิชาการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกไผ่เศรษฐกิจ และพืชพลังงานประเภทอื่นๆ
ด้านนายมะเสาวดี ไสสากา สํานักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา กล่าวว่า การร่วมมือในโครงการดังกล่าว เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทําเกษตรกรรมของเกษตรกรในพื้นที่จากเดิม การปลูกยางเชิงเดี่ยว และพืชเชิงเดี่ยวอื่น ๆ มาปรับและพัฒนาให้เข้ากับวิถีชีวิตของประชาชน รวมทั้งให้สอดคล้องกับหลักภูมิศาสตร์ ภูมิสังคมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“แก้ไขปัญหาการพึ่งพารายได้จากการทําเกษตรกรรม จากการเพาะปลูกพืชอย่างใดอย่างหนึ่ง ไปสู้การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วยรายได้จากการทําเกษตร ที่หลากหลายรูปแบบ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจํากัดให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุด” นายมะเสาวดี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ เมื่อต้นปีนี้ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประชุมสรุปว่า ให้จัดตั้งศูนย์ประสานและบริการเบ็ดเสร็จด้านพลังงาน หรือ One Start-One Stop Service for Regional Power System ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ประมาณ 19,764 ล้านบาท และมีอัตราหมุนเวียนการซื้อขายวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อเฉลี่ยรายได้เกษตรกร ระหว่าง 6.2 ถึง 6.9 พันล้านบาท ใช้พืชพลังงานประมาณ 1.5 หมื่นตันต่อวัน ซึ่งจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ เกิดการจ้างงานโดยตรง 1.54 แสนราย
ซึ่งขณะนั้น โฆษกรัฐบาล ระบุรายละเอียดว่า ทาง ศอ.บต. ได้ขอจัดสรรอัตราการผลิตไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 256.9 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นขนาดเล็กกำลังการผลิต 1.5-2 เมกะวัตต์ จำนวน 100 แห่ง ที่เหลือขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ไม่เกิน 3 แห่ง และยังมีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 27 เมกะวัตต์ อีก 1 แห่ง
ในวันพุธนี้ นายชนธัญ กล่าวอธิบายถึงการจ้างแรงงานว่า “ถ้าเป็นแรงงานโดยตรง หนึ่งโรงไฟฟ้า จะใช้คนประมาณ 15-20 คน แต่จะเน้นหนักไปที่กลุ่มภาคการเกษตรที่จะสามารถปลูกพืชเข้าสู่โรงงานในระยะยาวได้ เพราะคอนแทรคฟาร์มมิ่ง จะทำถึง 21 ปี นั่นเท่ากับว่าเขาสามารถมีรายได้ตลอด การทำงานเกษตรพืชพลังงานถึง 21 ปี”
ด้าน นายมูฮัมหมัด แม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบันนังสตา กล่าวว่า กลุ่มตนปลูกไผ่ 500 ไร่ ในพื้นที่บังนังสตา มาแล้วสามเดือน ซึ่งต้นไผ่จะใช้เวลา 3 ปี จึงสามารถตัดขายได้
“ตามที่นักวิจัยบอกเราจะมีรายได้ 2 หมื่นบาทต่อไร่ต่อปี เขาว่าดีกว่าปลูกยาง ตอนนี้อยู่ระหว่างรอผลตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ย ศอ.บต. สนับสนุนต้นไผ่และปุ๋ย เราเป็นคนปลูกหาพื้นที่และดูแลระหว่างที่จะมีการตัดขายได้ ตอนนี้เรามีตลาดแล้ว คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล ที่บูดี อ.เมือง จ.ยะลา ที่บันนังสตา จ.ยะลา เขาทำข้อตกลงแล้วจะรับซื้อแน่ในราคา กก.ละ 75 สตางค์ เราก็มั่นใจว่าปลูกแล้วรายได้จะดีกว่ายางตามที่เขาบอก” นายมูฮัมหมัด กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายอุดมศักดิ์ แก้วศิริ บริษัท ดับเบิ้ล ไนน์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด กล่าวว่า วันนี้ ทางโรงงานมาทำข้อตกลงจะรับซื้อไผ่และพืชอื่น ๆ โดยจะซื้อไม้ไผ่ที่สับแล้วในราคา 1,000 บาท ต่อตัน
“เราจะทำงานร่วมกัน จะพัฒนาโครงการวิสาหกิจชุมชนด้วยลักษณะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน อนาคตเรารอรัฐบาลเปิดโรงไฟฟ้าชุมชน เราจะขยายงานลงสามจังหวัดด้วย” นายอุดมศักดิ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังได้กล่าวว่า สำหรับแผนงาน ปี 2564 จะมีการสร้างโรงงานสับไม้ เพื่อใช้เป็นไม้เชื้อเพลิง ที่วิสาหกิจชุมชน เปิดศูนย์เรียนรู้พืชพลังงานและแปลงขยายพันธุ์ 10 ศูนย์ การสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน โรงเผาถ่าน โรงงานผลิตอิฐมวลเบา การสร้างโรงงานทำไม้ตะเกียบ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ในวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ต่อไป