ศอ.บต. ขอครูภาษาจีนสอนภาษาให้เยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้
2017.05.31
ปัตตานี
ในวันพุธ (31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560) นี้ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าพบรองกงสุลใหญ่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในจังหวัดสงขลา เพื่อขอความสนันสนุนครูสอนภาษาจีนให้กับนักเรียนนักศึกษาไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ เพราะภาษาจีนมีความสำคัญต่อการติดต่อทางธุรกิจมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ ได้เข้าพบ จิ้น ยี่หลิน รองกงสุลใหญ่ ที่สถานกงสุลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดสงขลา และได้กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเห็นว่าสถานศึกษาบางแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหลักสูตรการสอนภาษาจีนอยู่หลายแห่ง และอยากจะส่งเสริมให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการขอครูสอนที่เป็นเจ้าของภาษามาช่วยสอนโดยตรง
“ศอ.บต. หวังที่จะให้ครูที่เป็นคนจีนแท้ๆ มาสอนภาษาจีนให้เยาวชนในพื้นที่โดยตรง เพื่อให้เยาวชนได้เรียนภาษาจีนจากเจ้าของภาษาและสื่อสารภาษาจีนอย่างคล่องแคล่วและถูกต้อง" นายศุภณัฐ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
“อยากจะสร้างโอกาสในการส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่หันมาเรียนภาษาจีนเพิ่มมากขึ้น และเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาจจะส่งเสริมต่อยอดในเรื่องของทุนการศึกษาเพื่อไปเรียนต่อยังประเทศจีน” นายศุภณัฐ กล่าวเพิ่มเติม
นายศุภณัฐ ได้กล่าวอีกว่า การเรียนภาษาจีนอย่างถูกต้องจะเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตด้วย เพราะภาษาจีนเป็นภาษาหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการสื่อสารพูดคุยมากที่สุด ทาง ศอ.บต. มีความต้องการที่จะส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเยาวชนมุสลิมได้เปลี่ยนมุมมองในเรื่องของภาษาโดยมุ่งเน้นไปที่ภาษาจีนให้มากขึ้น นอกเหนือจากภาษาอาหรับ
ทั้งนี้ จิ้น ยี่หลิน รองกงสุลใหญ่ กล่าวว่า “ยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือกับ ศอ.บต."
นายศุภณัฐ กล่าวอีกว่า ในอนาคตคาดว่าจะมีการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสถาบันการศึกษาของประเทศจีนอีกด้วย เพื่อขยายความสัมพันธ์ด้านการศึกษาไปยังประเทศอื่น นอกจากโลกอาหรับและประเทศมุสลิม
ด้านนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. จะประสานความร่วมมือให้มหาวิทยาลัยในจีนส่งนักศึกษาจีนมาฝึกสอนภาษาจีนให้กับเด็กเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอความร่วมมือด้านการประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษาเรียนต่อในประเทศจีนให้แก่นักเรียนนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
“เราจะให้สมาคมคนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนักศึกษาจากประเทศจีนที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยฟาตอนีที่มีมากกว่า 100 คน มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะกงสุลใหญ่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และเข้าร่วมกิจกรรมงานวันชาติจีนอีกด้วย” นายธีรุตม์ กล่าว
จากการสำรวจโรงเรียนในพื้นที่ มีโรงเรียนที่ต้องการครูมาสอนภาษาจีน เกือบ 100 โรงเรียน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก เพราะปัจจุบัน เด็กในพื้นที่ได้ไปเรียนอยู่ที่ประเทศจีนแล้ว ประมาณ 60 คน ซึ่งหลายโรงเรียนมองว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอนาคตของคนในพื้นที่
"รองกงสุลใหญ่ เป็นห่วงความปลอดภัยของครูจีนที่จะมาสอนอยู่ในพื้นที่ แต่เราก็ได้อธิบายไปว่าจะหาโรงเรียนที่อยู่ในเขตตัวเมืองเท่านั้น และสามารถดูแลความปลอดภัยได้ ก็ทำให้ท่านรองกงสุลใหญ่คลายความกังวล" นายธีรุตม์ กล่าวเพิ่มเติม
นายธีรุตม์ กล่าวอีกว่า จะนำข้อเสนอทั้งหมดนำเรียนกงสุลใหญ่ พร้อมขอให้ ศอ.บต. พิจารณาการออกหนังสือรับรองสำหรับโรงเรียนที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการออกวีซ่าต่อไปด้วย
นับอดีตจนถึงปัจจุบัน คนในพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีค่านิยมส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมุสลิม และโลกอาหรับ เพื่อหวังที่จะได้ความรู้และภาษาที่จะสามารถกลับมาสอนให้เด็กรุ่นใหม่ในพื้นที่ โดยนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนเฉพาะ ประเทศอียิปต์ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งในอดีตยังไม่มีมหาวิทยาลัยอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่รัฐบาล ได้ข้อมูลส่วนหนึ่งจากกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เยาวชนไปเรียนวิธีก่อการร้ายมาจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ที่เรียนจบในประเทศเหล่านี้ถูกเพ่งเล็ง
ส่วนใหญ่มักจะกลับมาเปิดโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเป็นครูหรืออุสตาซสอนตามโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่ ในขณะที่ ศอ.บต. มองว่า ปัจจุบันอาชีพเหล่านี้ประสบหนทางตัน จึงคิดหาแหล่งความรู้ใหม่ อย่างเช่น ประเทศจีน ที่กำลังได้รับความนิยมในด้านธุรกิจ
นอกจากนั้น ในอดีต คนในพื้นที่นิยมส่งบุตรหลานไปเรียนประเทศมุสลิม เพราะเมื่อก่อนไม่มีมหาวิทยาลัยอิสลามในประเทศ แต่ปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยฟาตอนี เปิดสอนและมีเด็กจากประเทศจีนมาเรียนที่นี่ด้วย
“เป็นการเปิดโอกาสที่ดีให้กับเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเป็นประเทศที่รัฐเลือกใหม่ ซึ่งไม่ต้องกังวลในมุมอื่นๆ ที่จะมาเป็นปัญหาในพื้นที่อย่างที่รัฐกล่าวหา” นายซาการียา (ขอสงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดปัตตานี อดีตนักศึกษาอียิปต์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์