ภาคประชาสังคมนราฯ ร่วมเสนอโรดแมปสันติภาพแดนใต้ ต่อรัฐไทย-มาราปาตานี

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.12.28
นราธิวาส
TH-CSO-620 กลุ่มสตรีจังหวัดนราธิวาส กำลังบรรยายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ที่ห้องประชุมโรงแรมอิมพิเรียล นราธิวาส เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (28 ธ.ค. 2559) นี้ ภาคประชาสังคมในจังหวัดนราธิวาส ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมเนื้อหาสาระที่จะบรรจุลงในโรดแมป “สันติภาพแดนใต้” ฉบับประชาชน ที่เมื่อแล้วเสร็จจะนำเสนอให้กับทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขและองค์กรมาราปาตานี ของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ

การประชุมฯ ครั้งนี้ จัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และเครือข่ายภาคประชาสังคม จังหวัดนราธิวาส มีกลุ่มองค์กรประชาชน-ศาสนาต่างๆ เข้าร่วม 35 องค์กร เช่น กลุ่มสตรีจังหวัดนราธิวาส กลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและปอเนาะ กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ รวมทั้ง กลุ่มตัวแทนชมรมสื่อมวลชนเพื่อสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

ภาคประชาสังคม มีข้อสรุปว่า ต้องการผลักดันกระบวนการสันติภาพให้เป็นรูปธรรม โดยจะรวบรวมข้อเสนอจากภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนใต้ จะนำมาทำเป็นโรดแมปที่มีระยะการดำเนินการที่ชัดเจน

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชายทั่วไป นักศาสนา และนักการเมืองท้องถิ่น ที่ร่วมประชุม ได้เสนอเนื้อหาที่สำคัญที่ต้องพูดถึงไว้ดังนี้ คือ มี 1. กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน 2. การเปิดพื้นที่กลางเพื่อผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพให้เป็นรูปธรรม 3. การเสริมสร้างบทบาทของภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง 4. การเปิดโรงเรียนสอน ให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องมาปฎิบัติงาน ในพื้นที่ 3 จชต. โดยใช้หลักสูตรบังคับที่ครอบคลุมการศึกษาด้านวัฒนธรรม ศาสนา และอัตลักษณ์ ตลอดจนวีถิชีวิตของคนพื้นที่ 5. เพิ่มบทบาทตัวแทนภาคประชาชนให้มีส่วนร่วม ในกระบวนการสอบสวนคดีความมั่นคง เพื่อสร้างความโปร่งใส 6. การสร้างเสริม ให้ประชาชนในพื้นที่รู้กฎหมาย สิทธิและหน้าที่ 7. ส่งเสริมโรงเรียนปอเนาะและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ให้เป็นต้นแบบด้านศีลธรรม 8. วางข้อกำหนดพื้นที่ปลอดภัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ชัดเจน

ทางด้านกลุ่มสตรีที่เข้าร่วมประชุม ได้เสนอให้เน้นในเรื่องการเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง หยุดการแพร่ระบาดยาเสพติด การปกป้องสตรี เด็ก และผู้บริสุทธิ์ จากเหตุรุนแรง

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นไปตามโครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีการจัดทำแผนที่ (mapping) ระดับจังหวัดนราธิวาส ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการจัดขึ้นที่จังหวัดยะลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะจัดการประชุมฯ ลักษณะเดียวกันอีกครั้งที่จังหวัดปัตตานี

โดยนายฆอซาลี อาแว นักวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการ กล่าวว่า จากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระยะเวลา 12 ปี มีผู้เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงมากกว่า 5,000 คน บาดเจ็บจำนวนมาก คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในทุกๆ ด้าน คือ คนในพื้นที่

“ที่ผ่านมา มีหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ และประชาชน พยายามขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งผู้เกี่ยวข้อง มี 3 ฝ่าย คือ หนึ่ง กลุ่มผู้เห็นต่าง สอง รัฐบาล และสาม ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะภาคประชาสังคม ได้มีความพยายามเกื้อหนุนทุกฝ่ายเพื่อสร้างสันติภาพมาโดยตลอด การที่องค์กรภาคประชาชนทุกภาคส่วนมารวมตัว มาให้ข้อคิดเห็น และเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จะเป็นประโยชน์อย่างมาก” นายฆอซาลี กล่าวต่อที่ประชุม

“ครั้งนี้ จะนำข้อเสนอของภาคประชาชนทุกฝ่าย มาทำเป็น MAPPING จัดทำเป็นแผน เพื่อนำมากำหนดเป็นโรดแมป กำหนดระยะเวลากระบวนการสร้างสันติภาพ ที่เป็นคู่ขัดแย้ง คือ รัฐบาลไทย กับกลุ่ม MARA หรือ BRN จะเป็นโรดแมป นำเสนอแบบฉบับจากภาคประชาสังคม ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส” นายฆอซาลี กล่าวเพิ่มเติม

นายนัจมุดีน อูมา ที่ปรึกษาภาคประชาสังคม จังหวัดนราธิวาส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า สมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ริเริ่มพูดคุยกระบวนการสร้างสันติภาพ ทำให้ประชาชนมีความหวังถึงความสงบสุข แต่เมื่อมีการปฎิวัติยึดอำนาจ โดย คสช. กระบวนการพูดคุยสันติภาพหยุดลงในระยะหนึ่ง แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้ส่งสัญญาณเปิดการเจรจาสันติภาพอีกครั้ง กับผู้เห็นต่าง ซึ่งขณะนี้ ยังเป็นกลุ่มมาราปาตานี แม้บางคนจะตั้งคำถามว่า มาราปาตานี เป็นตัวจริงหรือไม่ นั่นคือปัญหาของรัฐบาลที่ต้องค้นหา

“แต่ในทางปฎิบัติถือว่าเป็นนัยยะที่ดี ทุกฝ่ายมองปัญหาความไม่สงบจะคลี่คลายได้ด้วยกระบวนการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพ และการขับเคลื่อนภาคประชาสังคม ถือว่า สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล คสช. ที่แต่งตั้งคณะทำงาน ครม.ส่วนหน้า ลงทำงานในพื้นที่เป็นการเฉพาะ ให้ความสำคัญเพื่อแก้ปัญหาให้เกิดความมั่นคงและความสงบสุข” นายนัจมุดีน กล่าว

ด้านนางแยะนะ สะแลแม ผู้นำสตรีจังหวัดนราธิวาส ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุสลายม็อบตากใบ ปี 2547 กล่าวว่า เหตุความรุนแรงในพื้นที่ เหตุยิงและระเบิดที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก สตรี และผู้บริสุทธิ์ ตนจึงเห็นว่า หากเหตุความรุนแรงยุติได้จริง และนำความสงบกลับคืนได้ ประชาชนชาวไทยพุทธ หรือมุสลิม จะอยู่อย่างสงบสุข ซึ่งทุกฝ่ายควรรับฟังรอบด้านว่าประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เขาคิดอย่างไร

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง