ภรรยาของนายอับดุลเลาะ ระบุ มีความหวังคลี่คลายปมสามีเสียชีวิต

มารียัม อัฮหมัด
2020.11.25
ปัตตานี
201125-TH-deepsouth-custody-death-1000.jpg ชาวบ้านร่วมพิธีฝังศพนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่กุโบร์บ้านเจาะกีแย ในตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี ปัตตานี วันที่ 25 สิงหาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

นางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่หมดสติภายในศูนย์ซักถามค่ายอิงคยุทธบริหาร และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในเวลาต่อมา กล่าวในวันพุธนี้ว่า ตนเองเริ่มมีความหวังในการค้นหาสาเหตุการตายของสามีมากขึ้น หลังจากที่ศาลจังหวัดสงขลาเริ่มการไต่สวนผู้เกี่ยวข้องนัดแรก เป็นเวลาสามวัน

ทั้งนี้ เริ่มจากตอนเช้าวันอังคารที่ผ่านมานี้ ศาลจังหวัดสงขลา ได้เริ่มสอบปากคำภรรยาของผู้เสียชีวิต นายจ้างของผู้เสียชีวิต หัวหน้าศูนย์ซักถาม เจ้าหน้าที่ทหารที่รับตัวนายอับดุลเลาะ เข้าศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ส่วนในช่วงบ่าย ได้สอบปากคำ นายโมฮำมัดรอฮมัด มามุ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ แพทย์ประจำโรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่ให้การรักษานายอับดุลเลาะ และจะสอบปากคำพยานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องรายอื่น ๆ ไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน นี้

“ฉันเริ่มมีความหวังมากขึ้นเมื่อกระบวนการเดินไปตามขั้นตอน การขึ้นศาลก็ตื่นเต้นเป็นเริ่องปกติ เพราะไม่เคยขึ้นศาลมาก่อน” นางสาวซูไมยะห์ กล่าวแสดงความรู้สึกต่อผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ เพียงสั้น ๆ ในวันพุธนี้

นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ศาลจังหวัดสงขลา จะดำเนินการไต่สวนหาสาเหตุการตายของนายอับดุลเลาะ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2563 แล้วจะส่งผลไปให้อัยการจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นผู้ร้องขอให้ศาลฯ ไต่สวนการตาย เพื่อประกอบการดำเนินคดีอาญาตามที่ทางญาติแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองจิก ไว้ก่อนแล้ว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ด้วย

นอกจากนี้ นายสากีมัน กล่าวว่า นอกจากได้ให้ปากคำ ในฐานะภรรยาผู้ตายแล้ว นางสาวซูไมยะห์ ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้ร้องซักถาม โดยแต่งตั้งทนายความเพื่อซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำมาเบิกความต่อศาลอีกด้วย

นายสากีมัน กล่าวว่า ศาลจังหวัดสงขลา ได้สืบพยานไปแล้วรวมสี่ปาก และจะสืบพยานต่ออีกสามปาก ในวันพฤหัสบดีนี้ ส่วนที่เหลือจะนัดอีกครั้ง ในวันที่ 15 ถึง 18 เดือนธันวาคม

นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 โดยแพทย์ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจาก อาการปอดอักเสบ ติดเชื้อ และมีภาวะเป็นพิษจากการติดเชื้อ หลังจากที่พบว่าหมดสติอยู่ในห้องน้ำ ในศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อเวลาประมาณ 03.00 นาฬิกา ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ก่อนที่จะถูกนำส่งตัวไปรับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และถูกส่งไปรักษาตัวต่อ ณ อาคารผู้ป่วยวิกฤติ โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตามลำดับ

ทั้งนี้ นายอับดุลเลาะ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยหลังจากที่นายอิบรอเฮงระ มะเซ็ง ซึ่งมีหมายจับคดีความมั่นคง 4 หมาย ให้การซัดทอดว่า นายอับดุลเลาะ เป็นผู้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี หลายครั้ง

ด้านนายโมฮำมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ ซึ่งให้ปากคำต่อศาลเมื่อวันอังคารนี้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันพุธนี้ว่า ศาลได้สอบปากคำตนเองถึงข้อมูลของนายอับดุลเลาะ เช่น เรื่องสุขภาพร่างกาย อุปนิสัย หน้าที่การงานของนายอับดุลเลาะ และว่ามีร่องรอยบาดแผลบนร่างกายของนายอับดุลเลาะหรือไม่ รวมทั้งมีความสงสัยในบุคคลใดว่าเป็นผู้กระทำให้นายอับดุลเลาะถึงแก่ชีวิตหรือไม่ และทางครอบครัวและญาติได้ไปร้องเรียนที่ใดบ้าง และมีความคืบหน้าอย่างไร

นอกจากนี้ นายโมฮำมัดรอฮมัด ระบุว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ให้การว่านายอับดุลเลาะ มีสุขภาพแข็งแรง แต่มีอาการเครียดอย่างชัดเจน

“พยานคนที่สอง ต่อจากผมที่ศาลสอบปากคำ คือ หัวหน้าศูนย์ซักถาม ฉก.43 ศูนย์ซักถามแห่งใหม่ มีการสอบถึงกล้องวงจรปิดยังไม่ได้ส่งมอบ การติดตั้งกล้องวงจรปิดไม่ใช่กฎระเบียบของศูนย์ซักถาม แต่ติดตั้งเพื่อรักษาความปลอดภัย กลัวผู้ต้องสงสัยทำร้ายตัวเอง... อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ได้เข้าตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธฯ ก่อนเข้าสู่กระบวนการซักถาม และผลตรวจ อับดุลเลาะ ไม่มีรอยแผลใด ๆ พยานบอกว่าอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ได้บอกกับพยาน (หัวหน้าศูนย์ซักถาม) ว่ามีโรคหอบหืด และเขาได้ถามอับดุลเลาะว่า เมื่อกี้ทำไมอับดุลเลาะไม่บอกกับทางโรงพยาบาล อับดุลเลาะเงียบ” นายโมฮำมัดรอฮมัด กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“นายอับดุลเลาะ มีความเครียด สังเกตุได้จากการบิดข้อมือไปมา เมื่อถามประเด็นการก่อเหตุความรุนแรง ซักถามอับดุลเลาะ เสร็จตอนสามทุ่ม และพาตัวไปยังห้องควบคุมตัว ห้องที่ 1 เวลา 02.00 น. อับดุลเลาะ เดินไปเดินมาในห้อง เมื่อถึง เวลา 03.00 น. เจ้าหน้าที่ พบอับดุลเลาะนอนหมดสติในห้องน้ำ จากนั้นส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธและส่งต่อโรงพยาบาลปัตตานี” นายโมฮำมัดรอฮมัด กล่าวเพิ่มเติม

หลังการเสียชีวิตของอับดุลเลาะ พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า (ในขณะนั้น) ระบุว่า กองทัพได้ตั้งคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้แทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา นักวิชาการ และภาคประชาชนขึ้นมา เพื่อตรวจสอบอย่างโปร่งใสในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบทางวินัย ในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่กระทำผิด

จากนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า กองทัพซ้อมทรมานประชาชน และระบุว่า รัฐบาลไม่อนุญาตให้ใช้ความรุนแรงในกระบวนการซักถาม

อนึ่ง เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ กรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงผลการตรวจของแพทย์ระบุว่า ไม่พบร่องรอยการถูกซ้อมทรมาน บนร่างกายของนายอับดุลเลาะ

“แพทย์ที่เกี่ยวข้องพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตมาจากอาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง และมีภาวะพิษจากการติดเชื้อ สาเหตุนำคือ ภาวะสมองขาดเลือด และขาดออกซิเจน การไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง อาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำ อย่างที่มีการกล่าวอ้างว่า มีการใช้ถุงคลุม การใช้ผ้าเปียกปิดหน้าแล้วเทน้ำใส่ หรือแม้กระทั่งตัวผู้ป่วยหมดสติ และมีภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร” นายอับดุลอซิซ กล่าว

“แพทย์ชี้ให้เห็นว่า หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น จะต้องมีการแสดงออกถึงจุดที่เลือดออกบ้าง เช่น จะแสดงออกได้ชัดเจนที่ตา คือเยื่อบุหลอดเลือดจะแตก และมีเลือดออกตามตา เหงือก ริมฝีปากคล้ำ เยื่อบุจะขาด ใบหน้าบวมคล้ำ ผู้ที่ขาดออกซิเจนจะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนจากบริเวณริมฝีปาก ซึ่งในกรณีนายอับดุลเลาะไม่พบลักษณะดังกล่าว” นายอับดุลอซิซ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง