เรือประมงพื้นบ้านปัตตานีบูม หลังรัฐเข้มงวดไอยูยู
2018.07.24
ปัตตานี และ นราธิวาส
ชาวประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ความเข้มงวดของรัฐบาลไทยต่อการทำประมงเชิงพาณิชย์ หลังจากที่ได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรปให้แก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านหวนกลับมาประกอบอาชีพเดิมได้ เพราะมีทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมอาชีพการต่อเรือท้ายตัด และเรือกอและอีกด้วย
นายมะกะตา สะแม ประธานประมงพื้นบ้านอำเภอเมือง ปัตตานี กล่าวว่า หลังจากที่อียูออกมาตรการให้ประเทศไทยจัดการกับปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม และขาดการรายงาน (Illegal, unregulated and unreported fishing - IUU Fishing) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 และรัฐบาลไทยได้ปรับปรุงกฎหมายการประมงฉบับใหม่ เมื่อกลางปี 2560 โดยห้ามเรือใหญ่ใช้เครื่องมือทำลายล้างและห้ามเข้าใกล้ชายฝั่งเกิน 4 ไมล์ทะเล ทำให้ตัวอ่อนสัตว์น้ำไม่ถูกทำลาย จนมีปริมาณเพิ่มขึ้น
“หลังจากที่มีมาตรการแก้ไขไอยูยู เข้ามาควบคุมเรือประมงพาณิชย์ ทำให้สัตว์น้ำในอ่าวปัตตานีเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ ทำให้ชาวบ้านหันมาทำอาชีพประมงมากขึ้น มีเรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์” นายมะกะตา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายมะกะตา กล่าวว่า เมื่อก่อน มีเรือประมงพื้นบ้านเป็นเรือท้ายตัดและเรือกอและประมาณหนึ่งพันลำ ก่อนที่จะยุติการทำประมง เพราะเรือประมงพาณิชย์ที่เข้ามาหาปลาชายฝั่งและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ตัวอ่อนริมฝั่ง แต่หลังจากการใช้ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ ทำให้มีเรือประมงพื้นบ้านออกมาหาปลาเพิ่มขึ้นจากเดิม 200 ลำ เป็นประมาณ 400 ลำ
“ภาพรวมของเรือประมงพื้นบ้านในปัจจุบัน จะมีเรือประมาณ 400 ลำ จากอดีตมีพันลำ นับตั้งแต่หาดบางนรา จังหวัดนราธิวาส ยาวจนถึงปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา... คนหนึ่งที่ออกเรือไปจะได้วันละ 400 ถึง 500 บาท” นายมะกะตากล่าว
อียู ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยที่ล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม และขาดการรายงาน (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558
เจ้าหน้าที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า สหภาพยุโรปได้ตั้งข้อสังเกตและแนะนำให้ไทยดำเนินการในเรื่องสำคัญสามอย่างคือ หนึ่ง ให้มีกฏหมายที่ครอบคลุมการทำการประมงให้ถูกต้องและตรงตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง สอง การมีระบบควบคุมติดตามเรือและระบบตรวจสอบย้อนกลับ และสาม การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จากนั้น ได้มีการตั้งเงื่อนไขเรื่องแรงงานและเรื่องการค้ามนุษย์เพิ่มเติมอีกสองเรื่อง
จากมาตรการที่เข้มงวด ทำให้ชาวประมงพาณิชย์จำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพ ในขณะที่รัฐบาลได้รับซื้อเรือประมงเป็นการช่วยเหลือไปส่วนหนึ่ง โดยล่าสุดประธานการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย จะดำเนินการรับซื้อเรือ ตามแผนบริหารจัดการประมงทะเล ตามราคาสภาพจริงไม่เกินร้อยละ 50 ของราคากลางที่ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2558 จำนวน 680 ลำ ในวงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท
ชาวประมงพื้นบ้านซื้อเรือเพิ่มขึ้น
หลังจากที่ชาวประมงพื้นบ้านต้องประสบปัญหา เพราะเรือใหญ่และทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดลงในช่วงก่อน ปี 2558 จนต้องยุติการทำประมงจนเรือหลาย ๆ ลำต้องผุพัง เมื่อทรัพยากรกลับมาสมบูรณ์ ชาวประมงพื้นบ้านต่างได้ซื้อหาเรือใหม่อีกครั้ง
“ช่วงนี้ การต่อเรือมีตลอด ต่อยังไม่ทันเสร็จก็มีคนมาขอซื้อ อย่างเรือสองลำที่กำลังทำอยู่นี้ ก็มีคนจองแล้ว ขายในราคาลำละ 420,000 บาท ในราคานี้ เจ้าของเรือหรือคนที่ซื้อไปจะต้องไปทาสีและเขียนลวดลายเอง” นายอะหมัด อาลี ช่างต่อเรือประจำบ้านรูสะมิแล ในอำเภอเมือง ปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายอะหมัด ซึ่งเรียนรู้การต่อเรือท้ายตัดมาจากบิดา กล่าวว่า ตนสามารถต่อเรือที่มีความยาว 12 เมตร ที่ทำจากไม้ตะเคียน ได้ปีละ 2 ลำ แต่ตนเองไม่ได้เรียนรู้การต่อเรือกอและ เพราะตนคิดว่า เรือท้ายตัดมีความเหมาะสมในการติดตั้งเครื่องยนต์ด้านท้าย และมีความจุมากกว่าเมื่อเทียบกับเรือขนาดกอและที่ยาวเท่ากัน ในขณะเรือกอและที่มีท้ายยื่นยาวเหมือนกับส่วนหัว และราคาแพงกว่า
“ในปัตตานี เรือท้ายตัดจะได้รับความนิยมมากกว่าเรือกอและ เพราะจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่า อีกทั้งราคาเรือท้ายตัดจะถูกกว่า แต่ก็มีกลุ่มที่นราธิวาสแถวบางนรา ที่ยังมีความพยายามอนุรักษ์เรือกอและอยู่” นายอะหมัดกล่าว โดยราคาเรือกอและมีราคาในเรือนหนึ่งล้านบาท
สำหรับชาวนราธิวาสนั้น ยังนิยมใช้เรือกอและ ที่มีการวาดลวดลายสี่วัฒนธรรม คือ อาหรับ มลายู จีน และโปรตุเกส อย่างสวยงาม เพราะมีการแข่งขันชิงพระราชทานมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
นายสมมาตร ดารามั่น ปราชญ์ชุมชนด้านเรือกอและ ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตำนานเรือกอและ ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Jong พบในแถบคาบสมุทรมลายู ใกล้ๆ กับสิงคโปร์ เมื่อพิจารณาจากหลักฐาน พบว่าสัดส่วนจริงของ Jong มีความใกล้เคียงกับเรือกอและ (Kolek) เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงลักษณะการต่อเรือที่ส่งอิทธิพลต่อกัน ในปัจจุบันเรือกอและ มีในเฉพาะพื้นที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาสเท่านั้น
“เรือกอและ เป็นพาหนะหนึ่งในการนำชาวประมงออกจับสัตว์น้ำ เพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัว และยังความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น การเขียนลวดลายบนเรือกอและ” นายสมมาตรกล่าว