เจ้าหน้าที่ จชต. เพิ่มความระมัดระวัง วันครบรอบสนธิสัญญาแองโกลสยาม 1909
2019.03.08
ปัตตานี
เจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ หลังจากมีกลุ่มต้องสงสัยว่าเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ฉีดสเปรย์ คำว่า PATANI110 อันหมายถึงการครบรอบ 110 ปี วันลงนามในสนธิสัญญากรุงเทพ หรือสนธิสัญญาแองโกลสยาม 1909 (Anglo-Siamese treaty 1909) ที่ระบุว่าไทยต้องคืนดินแดนบางส่วนคืนให้กับอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเหนือดินแดนมาเลเซีย
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวในวันศุกร์นี้ว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ ได้มีการพ่นสีบนพื้นถนน และสะพาน หลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีข้อความว่า PATANI110 ซึ่งเป็นวันเซ็นสัญญาจะครบรอบ 110 ปี ในวันที่ 10 มีนาคม นี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง ถือเป็นปีแรกที่มีการพูดถึงเรื่องนี้เพราะหมดมุขอื่นแล้ว
"ขบวนการควักทุกวิถีทางออกมาหมดแล้ว จึงต้องย้อนไปหาเรื่องเก่าๆ สมัยเกินกว่าร้อยปีมาเป็นประเด็น ทางเจ้าหน้าที่ก็พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์อย่างเต็มที่อย่างหมดแม็ค" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ในส่วนของกลุ่มที่ออกมาพ่นสี ก็ถือว่าผิดตามกฏหมาย รวมถึงผู้ที่ให้ที่หลบซ่อนตัว ก็จะมีความผิดด้วย เรายืนยันว่าจะบังคับใช้กฏหมายอย่างเต็มที่” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติม
พ.อ.ปราโมทย์ อธิบายว่า PATTANI110 หมายถึง การครบรอบ 110 ปี การลงนามในสนธิสัญญากรุงเทพหรือสนธิสัญญาแองโกลสยาม 1909 (Anglo-Siamese treaty 1909) เป็นข้อตกลงปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยาม โดยมีการลงนามกันระหว่างหม่อมราชวงศ์ ทิวาวงศ์ วโรปกรณ์ รัฐมนตรีต่างประเทศสยาม เจนเซิล เวสเตนการ์ด (Jensle Westengard) เป็นผู้แทนฝ่ายสยาม กับผู้สำเร็จราชการในมลายูของอังกฤษ คือ นายราล์ฟ พาเกท (Ralph Paget) ซึ่งครบรอบ 110 ปี ในวันที่ 10 มีนาคม 2019
ในสนธิสัญญาดังกล่าว มีข้อตกลงที่สำคัญ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1. เมืองมลายู เคดะห์ กลันตัน เปอร์ลิส ตรังกานู เกาะลังกาวีและบางส่วนของรามัน-ระแงะ ให้มอบคืนแก่รัฐบาลอังกฤษ 2. บันทึกที่เคยลงนามกันระหว่างอังกฤษ-สยาม เมื่อ 6 เมษายน 1897 ให้ถือเป็นข้อตกลงลับต่อไป 3. สยามจะไม่มอบดินแดนใดๆ ให้แก่มหาอำนาจใดตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาตามข้อ 2 4. สยามสัญญาว่า จะให้ความยุติธรรมแก่พลเมืองชาวอังกฤษในสยาม ตลอดจนการรักษาความปลอดภัยแก่ตุลาการและที่ปรึกษาด้านกฏหมายที่เป็นชาวยุโรป หากจำเป็นจะต้องมีที่ดินไว้และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับชาวอังกฤษที่อยู่ในสยาม 5. รัฐมลายูของอังกฤษ จะรับผิดชอบในปัญหาหนี้สินที่หากจะมีอยู่ของเมืองมลายูที่มอบให้อังกฤษ รวมทั้งเงินกู้ต่างๆและงานก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ของสยาม 6. อังกฤษสัญญาว่าจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองในดินแดนที่มอบให้กับสยาม เช่น สตูลและปาตานี ผลของสนธิสัญญานี้ส่งผลดีให้กับรัฐมลายูที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้รับเอกราช
"แต่ที่ครั้งนี้ ฝ่ายขบวนการเขาได้ออกมาแสดงสัญลักษณ์ อาจเพราะว่าครบ 110 ปี และเป็นการย้ำเตือนทุกฝ่ายให้เข้าใจและรำลึกถึงสาเหตุนี้ ที่ยังไม่ได้ถูกแก้ไข" สมาชิกขบวนการที่ระบุชื่อเล่นว่านายโฮป กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องใหม่ ที่ในปีนี้เป็นปีแรกที่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็น
“แต่โดยรวมก็ยังถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ยังไม่ถูกแก้ไข นั่นคือ เรื่องประวัติศาสตร์ในอดีตมันก็เป็นปัญหามายาวนาน ที่อาจจะหยิบยกมาพูดถึงเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรประมาทเรื่องนี้ วันที่ 10 มีนาคมนี้ อาจเกิดเหตุหรือไม่เกิดก็ได้ แต่ฝ่ายรัฐต้องไม่ประมาท" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์