รัฐบาลยืดอายุ พรก.ฉุกเฉินสามจังหวัดชายแดนใต้อีกสามเดือน
2017.03.16
ปัตตานี
ในวันพฤหัสบดี (16 มีนาคม 2560) นี้ พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้มีประกาศเรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอแม่ลาน ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป
พ.อ.ยุทธนาม ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ได้อ่านคำประกาศว่า ตามที่ได้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอแม่ลาน ตามประกาศลงวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถขยายผลการปฏิบัติงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสามารถจับกุมตัวกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมทั้งสามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น แต่ปรากฏว่ายังคงมีการก่อเหตุการณ์ร้ายแรงเพื่อสร้างสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงสมควรขยายระยะเวลาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
“อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทุกอำเภอของจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอแม่ลาน ออกไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป" พ.อ.ยุทธนาม กล่าว
กฎหมายพิเศษกับสามจังหวัดชายแดนใต้
ในการสัมมนาเมื่อปลายเดือนมีนาคม ศกนี้ นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษคดีความมั่นคง จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงนั้น มีการบังคับใช้กฎหมายสามฉบับ คือ หนึ่ง กฎอัยการศึก สอง พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) และ สาม มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
พรก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ในทันที ในสถานการณ์ที่ไม่อาจขอหมายจับจากศาลได้ทันการณ์ และควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน ส่วนกฎอัยการศึก ทหารสามารถจับผู้ต้องสงสัย และนำขึ้นศาลทหารโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ญาติทราบ ซึ่งแตกต่างไปจากภาวะปกติที่ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ปกติต้องมีหมายจับจากศาลหรือให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้กระทำผิดซึ่งหน้า แต่ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง จากนั้น ต้องขออำนาจศาลฝากขัง
ส่วนมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มีการประกาศใช้ในพื้นที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี มีความยืดหยุ่นในการให้แนวร่วมขบวนการเข้ารับการอบรมแทนการลงโทษได้
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวภายหลังเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การตอบข้อซักถามต่อประเทศของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Committee – UNHRC) ในเรื่องการปฏิบัติทางด้านสิทธิมนุษยชน การปกป้องสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ของประเทศไทย (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคีของกติกาสากลฉบับนี้ว่า คณะกรรมการของยูเอ็น เห็นว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่คงอำนาจ พรก.ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึกไว้
"มีประเด็นคำถามที่น่าสนใจในการประชุมทบทวนรายงานของประเทศไทย คณะกรรมการของยูเอ็นได้ถามถึงเหตุผลในการประกาศกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตัวแทนฝ่ายความมั่นคงตอบว่ายังจำเป็นต้องใช้ เพราะยังมีสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงปรากฏอยู่ แต่คณะกรรมการของยูเอ็นเห็นว่าเหตุผลไม่เพียงพอ ขณะที่ตัวแทนรัฐบาลไทยระบุว่า รัฐบาลมีแผนผ่อนปรนและยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตลอดจนกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้" นางอังคณา กล่าว
เหตุรุนแรงวันนี้-ความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุข
ในขณะเดียวกัน ในตอนเช้าวันนี้ ได้มีเหตุการณ์ลอบยิงพนักงานจดมิเตอร์ไฟฟ้าจนเสียชีวิต และพี่สาวได้รับบาดเจ็บสาหัส ในอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี
ร.ต.อ.สมพงษ์ คงแก้ว ร้อยเวร สภ.แม่ลาน ได้รับแจ้งเกิดเหตุคนร้ายขี่รถจักรยานยนต์แล้วใช้อาวุธปืนยิงนายหัสนัย ไชยพันธ์ อายุ 28 ปี จนเสียชีวิต ส่วน น.ส.รุ่งรัตนา พลายหนู อายุ 39 ปี พี่สาวได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส ในขณะที่ทั้งสองขับขี่จักรยานยนต์ ในพื้นที่บ้านบินดิยอ ม.5 ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงระลอกใหม่เมื่อต้นปี 2547 ทางกอ.รมน.ภาคสี่ กล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 คน จากสถิติมีทั้งชาวพุทธและมุสลิม ทุกเพศทุกวัยตกเป็นเหยื่อความรุนแรง และทางการไทยได้พยายามเจรจากับตัวแทนฝ่ายแบ่งแยกดินแดนมาราปาตานี เพื่อสร้างความสงบสุขในพื้นที่ ซึ่งในการประชุมเต็มคณะ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ สองฝ่ายได้ มีข้อตกลงกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัยนำร่องหนึ่งพื้นที่ โดยจะเลือกจากพื้นที่ที่สองฝ่ายเสนอมาใน 5 อำเภอ ของ 3 จังหวัด
ล่าสุด เมื่อวันจันทร์นี้ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ได้รายงานผลการพูดคุยสันติสุขระหว่างทางการไทยและกลุ่มมาราปาตานี ที่ผ่านมา ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รับทราบแล้ว
"ส่วนจะไปพูดคุยในครั้งต่อไปเมื่อใดนั้น ต้องขออนุมัติจากนายกรัฐมนตรี และต้องให้คณะทำงานด้านเทคนิคพูดคุยตกลงกันก่อน จึงให้คณะใหญ่รับทราบ แล้วจึงจะไปพูดคุย ยืนยันการพูดคุยสันติสุขมีความคืบหน้าโดยลำดับมาตลอด ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ และไม่ใช่ต้นเหตุของเรื่องนี้ด้วย" พล.อ.อักษรา กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว