อับดุล ราฮิม นูร์: การพูดคุยเพื่อสันติสุข อาจเริ่มใหม่ในสองสัปดาห์หน้า

มารียัม อัฮหมัด
2019.06.14
ปัตตานี
190614-TH-noor-800.jpg นายอับดุล ราฮิม นูร์ (ขวา) ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุขและคณะ จากมาเลเซีย เข้าพบปะพูดคุยกับ นายแวดือราแม มะมิงจิ (ซ้าย) ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามปัตตานี ที่จังหวัดปัตตานี วันที่ 14 มิถุนายน 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุข มาเลเซีย และคณะ เดินทางมารับทราบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ไทย และภาคประชาชน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ของประเทศไทย ในห้วงเวลาสี่วันที่ผ่านมา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพูดคุยสันติสุข พร้อมสำรวจความเป็นไปได้ที่จะเริ่มการพูดคุยฯ อีกครั้ง

อับดุล ราฮิม นูร์ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวในปัตตานี หลังสิ้นสุดภารกิจในวันศุกร์นี้ ว่า หากไม่มีอุปสรรค การพูดคุยรอบหน้าจะมีขี้นได้ในสองสัปดาห์ข้างหน้านี้ ที่เกาะปีนัง

ทั้งนี้ นายราฮิม นูร์ ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุข เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังจากได้รับความไว้วางใจจากนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้รับบทบาทนี้ โดยได้เคยเดินทางมาพบปะกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และพลเอก อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ในก่อนหน้านี้แล้วสองครั้ง และได้เดินทางเยี่ยมเยียนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นครั้งแรก

“ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก เราต้องการทราบความตั้งใจของพวกเขา (รัฐบาลไทย มาราปาตานี และขบวนการติดอาวุธ) ในการสนทนากัน ซึ่งจะมีในเวลาไม่ช้านี้ หากไม่มีอุปสรรค การพูดคุยรอบหน้าจะมีในสองสัปดาห์ข้างหน้าที่ปีนัง” นายราฮิม นูร์ กล่าวแก่เบอร์นามา สำนักข่าวแห่งชาติของประเทศมาเลเซีย

นายราฮิม นูร์ พร้อมคณะรวม 5 คน ได้เดินทางมายังสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่อังคารและสิ้นสุดภารกิจในวันนี้ โดยได้เข้าพบ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้นำอิสลาม นักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อรับทราบข้อมูลในเรื่องต่างๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการพูดคุย

เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามรายหนึ่ง กล่าวว่า ในระหว่างการพูดคุยกับ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามปัตตานี ทางคณะมาเลเซียฯ ได้ให้ความสนใจสอบถามถึงความเป็นมาและบทบาทของคณะกรรมการอิสลามทั่วประเทศ และในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาการถูกชักจูงบิดเบือนเป็นแนวร่วมขบวนการ

นอกจากนั้น ยังได้สอบถามถึงเรื่องต่างๆ เช่น ความเชื่อมโยงของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกับภาคประชาสังคม เงินทุนในการก่อเหตุรุนแรง เป็นต้น

เจ้าหน้าที่รายเดียวกันกล่าวอีกว่า นายราฮิม นูร์ ได้สอบถามแนวทางมาตรการรองรับของคณะกรรมการอิสลามจังหวัด หากมาเลเซียจะผลักดันขบวนการที่พักพิงอยู่ในมาเลเซีย กลับเข้าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ตัน สรี อับดุล ราฮิม ได้สอบถามแนวทางมาตรการรองรับของคณะกรรมการอิสลามจังหวัด หากมาเลเซียจะผลักดันขบวนการที่พักพิงอยู่ในมาเลเซียกลับเข้าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่นายแวดือราแม มะมิงจิ และคณะกรรมการ อิสลามจังหวัดปัตตานี ที่เข้าร่วมพูดคุย ไม่ได้ตอบคำตอบถามใดๆ” เจ้าหน้าที่รายเดียวกันกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องระดับนโยบายที่ฝ่ายไทยมีโครงการรองรับอยู่แล้ว และกำลังผลักดันการแก้ไข พรบ. ความมั่นคงเพื่ออำนวยความสะดวกอีกด้วย

“เรามีโครงการพาคนกลับบ้านที่รองรับอยู่ ให้เห็นว่าคนที่กลับตัวกลับใจอย่างน้อยรัฐบาลที่ผ่านมา มีแนวทางที่ดูแลเป็นขั้นเป็นตอนอยู่ ก็ต้องดูว่าคนที่กลับมาเป็นคนแบบไหน มีหมายจับ ไม่มีหมายจับ เป็นคนที่หลงผิดเฉยๆ อันนี้ ก็ต้องแยกเป็นกรณีไป... ที่ผ่านมาก็มี มาตรา 21 ของพ.ร.บ. ความมั่นคง ในเรื่องของนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมามีการพูดคุยเป็นคณะกรรมการแต่ละระดับ” นายไกรศร กล่าว

นอกจากนั้น คณะนายราฮิม นูร์ ได้พบกับตัวแทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถิติเหตุการณ์ความรุนแรงและสูญเสีย รูปแบบการก่อเหตุ สถิติคดีความมั่นคง และสภาพหมู่บ้านจัดตั้ง ตั้งแต่ปี 2547-ปัจจุบัน โดยคณะฯ ได้ให้ความสนใจสอบถามเพิ่มเติม ประเด็นสาเหตุของสถิติเหตุรุนแรงที่ลดลง ตั้งแต่ปี 2556 ภายหลังการลงนาม General Consensus on Peace Dialogue Process 2013 ที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

“เขาถามถึงวัสดุอุปกรณ์การก่อเหตุรุนแรงที่มาจากมาเลเซีย ความเชื่อมโยงระหว่าง CSOs กับสมาชิกแนวร่วมผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ และแหล่งทุนตะวันตกอีกด้วย" เจ้าหน้าที่รายเดียวกันกล่าวกับเบนาร์นิวส์

นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวสรุปว่า การเดินทางนายอับดุลราฮิม นูร์ เป็นการแสดงความก้าวหน้าของความพยายามในการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างชัดเจน

“ผมมองว่า ตรงนี้ เป็นการพัฒนาความก้าวหน้าของการพูดคุยสันติสุขในระดับนโยบาย ทำให้เห็นมีรูปธรรมมากขึ้น เพราะว่าผู้อำนวยการความสะดวกเข้ามารับรู้ข้อมูลในพื้นที่ และจากการรับรู้ข้อมูลในพื้นที่มีจากบุคคลต่างๆ ทั้งผู้นำฝ่ายราชการและผู้นำท้องถิ่น ผู้นำที่เป็นผู้แทนประชาชนมาให้ข้อมูลในพื้นที่ เป็นการพัฒนาความก้าวหน้าของการพูดคุยสันติสุขที่ชัดเจน" นายไกรศร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

นับตั้งแต่การที่กลุ่มก่อความไม่สงบปล้นปืนกว่าสี่ร้อยกระบอกไปจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส ในวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุจัน มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 7,000 คน ในขณะที่การพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างได้สะดุดลงอีกครั้งเมื่อต้นปีนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ นายมะสุกรี ฮารี ได้ลาออกจากหัวหน้าคณะพูดคุยของมาราปาตานี แต่ยังคงเป็นสมาชิกของมาราปาตานี ซึ่งนายราฮิม นูร์ กล่าวว่าการดำเนินการเจรจาจะมีต่อไป

“ผมไม่ทราบว่า ทำไมสุกรีจึงลดตำแหน่งลง แต่ไม่ว่าใครจะมาแทนเขา การพูดคุยก็จะยังมีอยู่ต่อไป” นายราฮิม นูร์ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง