ประธาน กก.อิสลามปัตตานี: ศูนย์ประสานงานฯ พูดคุยเพื่อสันติสุขพร้อมแล้ว

มารียัม อัฮหมัด
2018.04.24
ปัตตานี
180424-TH-safehouse-620.jpg อาคารของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ที่จะเป็นที่ตั้งของศูนย์พูดคุยเพื่อสันติสุข และเซฟเฮ้าส์ วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันอังคารนี้ว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้จัดความพร้อมของอาคารสองแห่ง ที่จะใช้เป็นศูนย์ประสานงานการพูดคุยเพื่อสันติสุข และเป็นที่พักสำหรับผู้ร่วมพูดคุยในการผลักดันการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย ตามที่ทางคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย ได้มาขออนุญาตใช้พื้นที่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายแวดือราแม กล่าวว่า อาคารทั้งสองแห่ง ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 63 บ้านทุ่งนเรนทร์ หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ติดกับศูนย์เสริมสร้างสมรรถนะอีหม่ามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะใช้ห้องประชุมในอาคารหลังหนึ่ง สำหรับเป็นศูนย์ประสานงานพูดคุยเพื่อสันติสุข ของฝ่ายรัฐบาลหรือปาร์ตี้-เอ กับฝ่ายมาราปาตานี หรือปาร์ตี้-บี โดยมีภาคประชาชนเข้าร่วม ส่วนอาคารอีกหลังหนึ่ง จะใช้เป็นที่พักของฝ่ายผู้เข้าร่วมพูดคุย

“เขาจะใช้ทั้ง 8 ห้อง ที่อยู่ชั้น 3 ของตึกสีครีม ที่ตั้งอยู่ติดกับศูนย์เสริมสร้างสมรรถนะอีหม่ามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี เป็นเซฟเฮ้าส์ นอกจากนั้น ถัดมาประมาณ 50 เมตร จะเป็นศูนย์พูดคุยสันติสุข 1 ห้อง ที่อาคารสีส้ม... ตอนนี้ ทางคณะพูดคุยทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายปาร์ตี้-เอ และ ปาร์ตี้-บี ก็พร้อม เราในฐานะผู้อำนวยการก็พร้อม ทางคณะพูดคุยฯ ได้รับกุญแจเซฟเฮ้าส์ไปแล้ว” นายแวดือราแม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นายแวดือราแม กล่าวว่า ในเซฟเฮ้าส์ ผู้ที่มีคดีความมั่นคง จำนวน 3 ราย ที่จะได้การพักโทษ โดย 2 ราย มาจากนราธิวาส และอีก 1 ราย มาจากจังหวัดยะลา โดยจะพักประมาณ 7-8 เดือน

เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถสอบถามความคืบหน้าในเรื่องนี้จาก พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข หรือ พลตรีสิทธิ ตระกูลวงศ์ได้

นายแวดือราแม ระบุว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ทำหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกตามที่ทางคณะพูดคุยฯ ต้องการ โดยมีทีมงานที่แต่งตั้งขึ้นมาประมาณ 10 คน ในการเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทางราชการ  ส่วนความคืบหน้าของการพูดคุยนั้น ทางคณะกรรมการอิสลามไม่ทราบข้อมูล

มาราปาตานี ยังไม่ได้ตอบตกลงในพื้นที่ปลอดภัย

นับตั้งแต่การปล้นปืนค่ายปิเหล็งเมื่อกว่า 14 ปีก่อน อันเป็นที่มาของเหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ระลอกปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงประมาณ 7,000 คน  รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากมาเลเซียในการจัดการพูดคุย เพื่อหาหนทางยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธีกับกลุ่มผู้ที่รัฐบาลเรียกว่า กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่รวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อ องค์กรมาราปาตานี ที่เปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2558

เมื่อเดือนมกราคม ปีนี้ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทย กล่าวว่า ทางคณะทำงานทางเทคนิคของไทยและของมาราปาตานี สามารถตกลงกันได้ในเบื้องต้นในการเลือกหนึ่งอำเภอ เพื่อจะจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ยังไม่ได้เปิดเผยชื่อในขณะนั้น เพราะเกรงการโดนโจมตีจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจากการพูดคุย รวมทั้ง การที่ยังต้องดำเนินขั้นตอนพิจารณาและอนุมัติร่วมกัน โดยคณะพูดคุยชุดใหญ่ของทั้งสองฝ่ายในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยที่จะเลือก

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เปิดเผยว่า จะมีการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยใน อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส แต่ทางมาราปาตานี โดยนายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮากิม กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ประชุมลงความเห็นร่วมกันในการเลือกอำเภอใดๆ

“ทางเรามีการประชุมกับหลายฝ่ายและมีการลงมติตกลงให้ใช้พื้นที่ จากนั้น คณะพูดคุยฯ รวมถึง พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้เดินทางมาดูสถานที่... ตอนนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า จะใช้จุดนี้ ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม” นายแวดือราแม กล่าวเพิ่มเติม

“ทางคณะผู้พูดคุยสองฝ่าย จะเข้ามาพักที่เซฟเฮ้าส์ก่อนเดือนรอมฎอนนี้ ประมาณกลางเดือนหน้านี้ ส่วนศูนย์พูดคุยสันติสุข น่าจะเปิดเป็นทางการตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศ” นายแวดือราแม กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง