นักสิทธิมนุษยชนโวยคำสั่งให้ ปชช.ชายแดนใต้ ลงทะเบียนซิมการ์ดพร้อมถ่ายรูป
2019.06.24
ปัตตานี
ในวันจันทร์นี้ กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน และ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงความกังวลว่า คำสั่งของทางการที่ให้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในสามจังหวัดภาคใต้ไปแสดงอัตลักษณ์ต่อผู้ให้บริการโดยต้องถูกถ่ายรูปไว้นั้น ว่าเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล โดยขอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคสี่ ชี้แจงเรื่องดังกล่าว
โดยเหตุผลส่วนหนึ่ง พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ชี้แจงว่า เป็นการป้องกันการใช้ซิมการ์ดมือถือเพื่อการจุดระเบิด
“เราพบว่ามีการสั่งซิมการ์ดผ่านอินเทอร์เน็ตจากนอกพื้นที่เเละประเทศเพื่อนบ้านมาก่อเหตุระเบิด เช่น เหตุระเบิดรูปปั้นนางเงือก ที่เเหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ต้องหาสารภาพว่าสั่งซื้อซิมจากอินเทอร์เน็ตจริง เเละยังพบว่า การก่อเหตุหลายครั้งผู้ก่อเหตุมันใช้ซิมการ์ดด้วยเบอร์ที่จดทะเบียนด้วยบัตรประชาชนผู้อื่น” พ.อ.ปราโมทย์ ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการของทางการเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ส่วนผู้เสียประโยชน์ คือ กลุ่มก่อความไม่สงบ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 กอ.รมน. ภาคที่ 4 ส่วนหน้า ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์โครงการ “2 แชะอัตลักษณ์ ลงทะเบียนมั่นใจ ปลอดภัย ไร้ปลอมแปลง” เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมลงทะเบียนซิมการ์ดตรวจสอบอัตลักษณ์ เพื่อปกป้องผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ป้องกันการปลอมแปลงการลงทะเบียนซิมการ์ดสวมทับสิทธิ์ โดยโครงการเริ่มจากวันที่ 1 มิถุนายน - 31 ตุลาคม 2562 นี้ และล่าสุด ได้มีการประกาศคำสั่งของ กสทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ตาม พรก.ฉุกเฉิน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นี้
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ต้องการให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ ชี้แจงเพิ่มเติมเรื่องการส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์ (SMS) เชิญชวนให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปลงทะเบียนซิมด้วยอัตลักษณ์ใบหน้า ซึ่งในกรณีของตนเอง ได้รับข้อความ ปรากฎชื่อผู้ส่งว่า ISOC4 ให้ไปลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า/อัตลักษณ์ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2562
“มีข้อความส่งมาโดย กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ใช่บริษัทผู้ให้บริการ ดิฉันสงสัยว่าเขาเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์ของเราได้ยังไง ดิฉันสงสัยว่าการลงทะเบียนอัตลักษณ์ใบหน้า ลงเฉพาะคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือใครก็ตามที่จะเดินทางไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การที่บริษัทจะเปิดเผยข้อมูล จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล” นางอังคณา กล่าว
“ดิฉันสงสัยว่าประชาชนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองข้อมูลยังไงบ้าง เพราะตอนนี้ บางคนใช้ข้อมูลอัตลักษณ์ใบหน้าแทนพาสเวิร์ดเข้าโทรศัพท์ ไอแพด หรือทำนิติกรรมกับธนาคาร ถ้าข้อมูลถูกนำไปใช้โดยหน่วยงานไหนที่เราไม่รู้ บริษัทผู้ให้บริการให้ข้อมูลหน่วยงานไหนบ้าง ยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจน สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลถูกจำกัดได้ แต่ต้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ กอ.รมน. และบริษัทผู้ให้บริการควรชี้แจง” นางอังคณา กล่าวระบุ
ด้าน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า หาก กอ.รมน. เก็บข้อมูลอัตลักษณ์ใบหน้าของประชาชนที่มาลงทะเบียนซิมการ์ดไปใช้เป็นฐานข้อมูล ถือว่าเป็นการกระทำที่เกินเลยจากประกาศ กสทช. ที่ระบุเพียงว่า ให้ผู้ให้บริการตรวจสอบใบหน้าของตัวบุคคลที่ซื้อซิมการ์ดว่าตรงกับบัตรประชาชนที่ใช้เป็นหลักฐานในการซื้อหรือไม่
“เข้าใจว่าเป็นการดำเนินการตามประกาศ กสทช. แต่ กสทช. ไม่ได้กำหนดวิธีการที่พิสูจน์และรับรองบุคคล แต่ กอ.รมน. ไปคิดเอง คือ การตรวจสอบอัตลักษณ์ใบหน้า ซึ่งดีแทคบอกว่าการยืนยันเป็นการถ่ายรูปเฉยๆ ไม่มีการบันทึกใบหน้าของผู้ซื้อซิม แต่ กอ.รมน. เหมือนจะบันทึกเป็นฐานข้อมูล ซึ่งเป็นการทำมากเกินไป เลยไปถึงสิทธิส่วนบุคคล” น.ส.พรเพ็ญ กล่าว
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจง
ในเรื่องนี้ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยระบบตรวจสอบอัตลักษณ์ใบหน้า เป็นการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 และปฏิเสธกรณีที่ว่า กอ.รมน. ได้ส่งข้อความทางโทรศัพท์เพื่อเชิญชวนคนมาร่วมลงทะเบียนดังกล่าว
“เราไม่มีเบอร์ของประชาชน เราจะส่งข้อความได้อย่างไร กอ.รมน. ไม่ได้ส่งให้ใครเลย เรื่องนี้ เป็นเรื่องของ กสทช. ที่ทำอยู่แล้ว กอ.รมน. แค่มาออกประกาศเพิ่มเติมในเรื่องของกรอบเวลา แค่นั้นเองและไม่ได้บังคับใคร แค่ขอความร่วมมือ ถ้าไม่ไปลงทะเบียน ก็แค่ไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้ถ้าถึงเวลา กอ.รมน. มีอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่สามารถทำได้อยู่แล้วไม่ต้องไปออกกฎหมายใหม่” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว
“การลงทะเบียนไม่ได้มีการจัดเก็บลายนิ้วมืออย่างที่มีความพยายามของผู้เสียผลประโยชน์ให้ข้อมูล มีเพียงการถ่ายรูปเจ้าของบัตร ที่เป็นเจ้าของซิมเท่านั้น เเละไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ทหาร เเละคนอื่นๆ ก็จะต้องอยู่ในระเบียบเดียวกันทั้งหมด เป็นการปกป้องสิทธิ์ของผู้บริสุทธิ์จากกลุ่มมิจฉาชีพ เเละกลุ่มก่อเหตุ ที่ใช้บัตรประชาชนคนอื่นไปซื้อซิม ไม่ได้มีเจตนาละเมิดสิทธิ์ เรื่องนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่บริษัทเอไอเอส ซึ่งมีลูกค้าในสามจังหวัดชายแดนใต้ราว 300,000 หมายเลข กล่าวว่า ได้มีลูกค้าทยอยมาแสดงตัวตนวันละ 200 คน นับตั้งแต่การประกาศวันลงทะเบียน