กอ.รมน.ภาค 4 ปฏิเสธรายงาน ไทยใช้กล้องวงจรปิดเอไอ
2020.11.16
ปัตตานี
พันเอก วัชรกร อ้นเงิน รองโฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ปฏิเสธถึงรายงานของเจ้าหน้าที่ผู้ทำรายงานด้านเสรีภาพทางด้านศาสนา ขององค์กรสหประชาชาติ ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ใช้การสอดแนมกลุ่มประชาชนชาวมุสลิม ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศนั้นว่า ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมานี้ นายอาฮ์เม็ด ชาฮีด (Ahmed Shaheed) เจ้าหน้าที่ผู้ทำรายงานด้านเสรีภาพทางด้านศาสนาและความเชื่อ องค์กรสหประชาชาติ ได้เสนอรายงานเรื่องการปกป้องเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ เพื่อวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2030 (Report on safeguarding freedom of religion or belief for the successful implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development) ต่อที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ
ในรายงานฉบับนั้นมีข้อความระบุว่า “มีรายงานว่า ทางการไทยได้ใช้การสอดแนมต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม โดยใช้ทีวีวงจรปิดที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ระบบข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลหรือชีวมิติ (biometric data) และการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเขาเหล่านั้น”
ในเรื่องนี้ นางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นผู้ส่งรายงานเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ ผู้ทำรายงานด้านเสรีภาพทางด้านศาสนาและความเชื่อ องค์กรสหประชาชาติ ระบุว่า ทางกลุ่มได้รายงานถึงการดำเนินการต่าง ๆ ของทางการไทย ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ
“เรื่องที่เรารายงานไปล่าสุด เป็นเรื่องของการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ ที่ผ่านมาทางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการใช้มาตรการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศโดยใช้ระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นดีเอ็นเอ การถ่ายภาพเจ้าตัวกับบัตรประชาชนเวลาผ่านด่าน เฉพาะที่เป็นมลายูมุสลิม การลงทะเบียนโทรศัพท์ซิมการ์ด โดยมีการใช้ระบบการจำใบหน้า ซึ่งยังเป็นที่เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ จำกัดการใช้ควบคุมการใช้ แต่ไม่ได้กระทำในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ” นางสาวอัญชนา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
อย่างไรก็ตาม นางสาวอัญชนา กล่าวว่า ตนยังไม่สามารถระบุได้ว่า ทางการไทยมีการใช้กล้องทีวีวงจรปิดที่ใช้ระบบเอไอ ระบุตัวตนบุคคลหรือไม่ หรือใช้อย่างกว้างขวางอย่างไร แต่การบังคับให้ลงทะเบียนอัตลักษณ์ สำหรับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นการนำไปรองรับระบบเอไอ
พ.อ. วัชรกร ได้กล่าวถึงเรื่องนี้แก่เบนาร์นิวส์ว่า ไม่มีมูลความจริง
“เรื่องการใช้ระบบเอไอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามหรือตรวจสอบบุคคลต่าง ๆ ในพื้นที่ ยืนยันว่าไม่มีระบบดังกล่าว ในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายมาโดยตลอด ฉะนั้น เราจะพยายามหลีกเลี่ยงในการดำเนินการใด ๆ ก็ตามที่จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน และสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในทุกโอกาส ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ท่านให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก” พ.อ.วัชรกร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
โดยทั่วไป ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่มีการนำมาใช้ประกอบกับระบบทีวี เพื่อรักษาความปลอดภัยนั้น จะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถช่วยวิเคราะห์เสียงและภาพที่ได้จากกล้องวีดีโอ เพื่อระบุตัวบุคคล ยานพาหนะ วัตถุ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ นางสาวอัญชนา ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจเลือกตรวจบัตรประชาชนผู้ชาย ซึ่งส่วนใหญ่ใส่ชุดโต๊ป นุ่งโสร่ง หรือเป็นเด็กวัยรุ่นมลายูมุสลิม
“แต่การจดทะเบียนถือว่าใช้เอไอ การถ่ายรูปตามด่าน บัตรประชาชนพร้อมใบหน้า ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ แต่ไม่แน่ใจว่าใช้ระบบเอไอหรือไม่ เรื่องของกล้องวงจรปิดที่จะเก็บภาพ มันต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความมั่นคงปลอดภัยของประเทศกับความเป็นส่วนตัวของประชาชนในพื้นที่” นางสาวอัญชนากล่าว
พ.อ. วัชรกร กล่าวชี้แจงว่า การใช้เอไอระบุตัวตน ไม่เหมาะในทางปฏิบัติ
“การใช้นำระบบลงทะเบียนซิมการ์ดเพื่อยืนยันตัวตน หรือการใช้เอไอที่ว่ามีในพื้นที่ มันเป็นแค่การกล่าวว่า เอาเรื่องเชื่อมโยงกัน ซึ่งมันไม่ทำให้เกิดการง่ายในการปฎิบัติการของเจ้าหน้าในการหาข้อมูลเลย จะเชื่อในตัวเครื่องนี้ทั้งหมดไม่ได้ มันจะเกิดการผิดพลาดได้ง่าย และทุกครั้งที่เจ้าหน้าต้องการตรวจดีเอ็นเอ เรายืนยันมาตลอดว่า ต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนก่อน” พ.อ.วัชรกร ชี้แจง
“ที่ว่ามีการลิดรอนสิทธิทางศาสนาในพื้นที่ สวนทางกับการดำเนินงานของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ในห้วงที่ผ่านมา มีการสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาจำนวนมากให้แก่พี่น้องไทยพุทธ และพี่น้องไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม” พ.อ.วัชรกร กล่าว
นับตั้งแต่เกิดการปล้นปืนกว่า 400 กระบอก จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนมกราคม 2547 ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งชาวพุทธและมุสลิมแล้วกว่า 7,000 คน โดยเจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระบุว่า เซลปฏิบัติการของคนร้ายหรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบางส่วน จะอยู่ปะปนกับชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ ทำให้ยากต่อการแยกแยะหรือติดตามจับกุม
ชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
ในส่วนของชาวบ้านที่เบนาร์นิวส์ได้สัมภาษณ์นั้น ต่างกล่าวว่าตนเองไม่มีความรู้ว่า เอไอ คืออะไร แต่มีความเห็นร่วมกันว่ายังมีความคลางแคลงใจในหลายมาตรการความมั่นคงที่รัฐดำเนินการ
“เรื่องระบบเอไอไม่เข้าใจหรอก ไม่รู้เรื่องอะไรเลย รู้แค่เรื่องดีเอ็นเอ เรื่องจดทะเบียนซิม และก็ได้ยินชาวบ้านในพื้นที่คุย ๆ กันว่ามันละเมิดสิทธิ์ชาวบ้าน เอาข้อมูลไปทำในทางไม่ดี คนเขาก็ด่ากันทั่ว ผมเองก็ว่ามันมั่วจนชาวบ้านแยกไม่ออกเลยเรื่องนี้ เพราะเขาทำให้ชาวบ้านชินกับการต่อต้านรัฐบาล ที่ชาวบ้านรู้จักรัฐจึงไม่เคยเป็นบวก” นายฮัสบูลเลาะ อีแตดำ ชาวจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ส่วนนางแซะเราะ วาสอฮะ ชาวบ้าน ในจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ตนเองไม่มีความรู้เช่นกัน
“ไม่เข้าใจหรอกเอไอแบบไหน ไม่รู้เรื่องหรอก แต่เรื่องลงทะเบียนพอรู้เรื่อง เขาให้ไปลงทะเบียน รู้สึกว่าทหารที่ให้ไปลง หลายคนก็ไปลงทะเบียนหลายคนก็ไม่ได้ไปลง นอกจากนี้ เรื่องตรวจดีเอ็นเอ ก็ได้ยินตลอดในพื้นที่ เขาบอกว่าทหารละเมิดชาวบ้าน ตรวจทั้งเด็กและคนแก่ ๆ ที่ไม่เกี่ยวอะไร อีกอย่างมีการบังคับแบบต้องทำ” นางแซะเราะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ส่วนตัวมองว่า เจ้าหน้าที่ควรใช้จิตวิทยามากกว่าจะไปบังคับชาวบ้านแบบนั้น คือชาวบ้านพร้อมให้ความร่วมมือนะ แต่ที่เป็นปัญหาเพราะเขาไม่เข้าใจ ทุกเรื่อง ถ้ามีความเข้าใจทุกอย่าง ก็จะไม่เกิดปัญหา”
รองเลขานุการสำนักจุฬาราชมนตรีระบุเจ้าหน้าที่ติดตามกิจกรรมใกล้ชิด
นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งยังมีตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิก และอาจารย์ประจำสถาบัน สันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกด้วย ไม่ได้ตอบคำถามว่ามีการใช้กล้องซีซีทีวีที่มีประบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ หรือไม่ แต่กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า มีบางพื้นที่ มีการถ่ายรูป ตัวเองกับบัตรประชาชน และมีการตรวจดีเอ็นเอ เนื่องจากพื้นที่เคยเกิดเหตุการณ์ ไม่ได้เก็บทุกพื้นที่
“ท่านจุฬาฯ จะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้... เรื่องการละเมิดสิทธิ ก็มีการละเมิดอยู่จากความมั่นคง เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ควรระมัดระวังมาก ยิ่งเกิดขึ้นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีพื้นที่ไหนที่หน่วยงานทหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่เข้าไปสอดส่องดูแล ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมของโรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนเด็กเล็ก) อันนี้ ก็เป็นสิ่งต้องระมัดระวังมาก เพื่อไม่ให้มันเกิดความผิดพลาดและอาจกระทบกระเทือนความรู้สึกของทุกคน จะไปสร้างช่องว่าง เพราะความไว้ใจซึ่งกันและกันระหว่างรัฐกับประชาชน ยิ่งไม่ควรเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีปัญหา” นายซากีย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์