ศาลฎีกาสั่งจำคุกธาริต 1 ปี ฐานแถลงข่าวหมิ่นสุเทพเรื่องโรงพักร้าง
2018.12.14
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดคดีหมิ่นประมาท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จากการแถลงข่าวพาดพิงนายสุเทพ ว่าเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งทั่วประเทศ มูลค่าเกือบหกพันล้านบาท
ที่ห้องพิจารณาคดีของศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ อ.495/2556 ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุว่า นายสุเทพโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 21 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2556 นายธาริต ขณะดำรงตำเเหน่งอธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวกล่าวหา นายสุเทพ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นผู้สั่งการไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่ง เป็นรายภาค ตามที่ สตช.เสนอ แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเพียงรายเดียว ทำให้บริษัท พีซีซี ดิเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จทันตามกำหนด ซึ่งล้วนเป็นเท็จ
“ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง สั่งจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่า ในการให้สัมภาษณ์ของจำเลยไม่ใช่หน้าที่ที่จะตรวจสอบ และชี้มูลว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งหน้าที่ตรงนี้ของ ป.ป.ช.” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษา
อย่างไรก็ตาม แต่เดิมศาลฎีกามีกำหนดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 24 ตุลาคม 2561 แต่นายธาริตได้ให้ทนายความแจ้งต่อศาลว่า ไม่สามารถมาฟังคำพิพากษาได้ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ และได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ศาลพิจารณา ศาลจึงสั่งให้เลื่อนวันนัดอ่านคำพิพากษา และต่อมาในวันที่ 7 ธันวาคม 2561 นายธาริตได้ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอถอนคำให้การปฏิเสธเดิม และเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ และขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ออกไปก่อน 60 วัน แต่ศาลไม่อนุญาต
นอกจากนั้น นายธาริต ได้ขอขมาต่อนายสุเทพ โดยมีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด รับเป็นคนกลางในการเจรจา ทำหนังสือแสดงความสำนึกผิด และขอขมาลาโทษ เเละยื่นขอให้การใหม่ พร้อมทั้งส่งบันทึกรับรองข้อเท็จจริง ผลการเจรจาประนีประนอมฯ ที่นายคณิตได้รับรองยื่นต่อศาล รวมทั้งให้ทนายความยื่นคำร้องพร้อมวางเงิน 1 เเสนบาทต่อศาล เพื่อเยียวยาบรรเทาผลร้ายต่อโจทก์
“จำเลยขอถอนคำปฏิเสธ และยื่นรับสารภาพ ไม่สามารถกระทำได้ในชั้นฎีกา และเรื่องจำเลยอ้างว่าได้มีการเยียวยา และไกล่เกลี่ยผู้เสียหายเป็นผลสำเร็จนั้น ศาลเห็นว่า ขั้นตอนการไกล่เกลี่ยยังไม่สำเร็จ ซึ่งผลการไกล่เกลี่ยจะต้องเป็นที่ยุติของทั้งสองฝ่าย ไม่เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” คำพิพากษา ระบุ และหลังมีคำพิพากษา นายธาริต ถูกนำตัวไปจำคุกที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ทันที
ด้านนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังการฟังคำพิพากษา ซึ่งนายสุเทพไม่ได้เดินทางมาด้วยตัวเองว่า นายสุเทพปฏิเสธคำขอให้ถอนฟ้องของนายธาริต เนื่องจากเห็นว่า ยอมถอนฟ้องไม่ได้
“ศาลเห็นว่าเป็นกรณีที่หมิ่นประมาท มีการใส่ความโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย พิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญา ท่านสุเทพบอกว่า ท่านไม่ยอม การขมา การถอนฟ้องไม่ยอมอะไรทั้งสิ้น ท่านสุเทพตัดสินใจแล้วว่า ยอมไม่ได้ เพราะทุกอย่าง การยอมความ ต้องคุยกันสองฝ่าย ท่านสุเทพบอกชัดเจนแล้วว่า ต้องปรึกษาทีมทนาย ไม่ใช่ใครบอกอะไรแล้วต้องยอม” นายสวัสดิ์ กล่าว
ต่อมา พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะปฏิบัติกับนายธาริต เช่นเดียวกันผู้ต้องขังรายอื่นๆ
“ผู้ต้องขังทุกรายมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆทั้งสิ้น จากนั้นจะนำตัวควบคุมไว้ภายในแดนแรกรับ เพื่ออบรมระเบียบวินัย และชี้แจงกฎของเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังใหม่ปรับตัวไม่กระทำผิดวินัยหรือฝ่าฝืนกฎระเบียบของเรือนจำ ซึ่งถือเป็นปกติที่ผู้ต้องขังใหม่จะต้องใช้เวลาปรับตัว ทำใจรับสภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำ และเพื่อนผู้ต้องขัง เบื้องต้นจะอยู่ในแดนแรกรับประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงจะจำแนกแยกแดนให้ไปแดนคุมขังตามความเหมาะสมต่อไป” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว
สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษา ยกฟ้องโดยเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้เพียงพอให้รับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
นายธาริต ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 3 เมษายน 2560 ได้ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติว่า นายธาริต ร่ำรวยผิดปกติ ระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ มีทรัพย์สินมูลค่า 346.65 ล้านบาท มีพฤติการณ์โยกย้ายทรัพย์สินบางส่วนไปอยู่กับคนใกล้ชิด กรณีการตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติ สืบเนื่องจากมีประชาชนได้ร้องให้รัฐบาลทำการตรวจสอบบ้านซึ่งปลูกสร้างใกล้ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในจังหวัดนครราชสีมา และเมื่อมีการตรวจสอบพบว่า เป็นบ้านของนางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ภรรยาของนายธาริต นำไปสู่การตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติของอดีตอธิบดีดีเอสไอรายนี้
ขณะที่คดีทุจริตโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 หลัง ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงินค่าก่อสร้างรวม 5,848 ล้านบาท มีบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ตามสัญญาเลขที่ ยธ.13/2554 ลว. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 17 มิถุนายน 2555 ก่อนมีการขยายสัญญาให้ส่งมอบงานในวันที่ 14 มีนาคม 2556 อย่างไรก็ตาม สถานีตำรวจไม่แล้วเสร็จตามสัญญา พบข้อสังเกตว่า สัญญาการว่าจ้าง จากที่ สตช. เสนอให้มีการจ้างผู้รับเหมารายภาค แต่ถูกทำให้เป็นสัญญาว่าจ้างเดียวทั่วประเทศ ดีเอสไอ ตรวจสอบพบ นายสุเทพ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี อาจมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสัญญา ซึ่งนำมาสู่ความเสียหายของโครงการ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบ และส่งต่อให้ ป.ป.ช. ปัจจุบัน คดีดังกล่าวอยู่ในชั้นการตรวจสอบของ ป.ป.ช.