ประชาชนรวมตัวรำลึก 11 ปี รัฐประหาร 2549 ในกรุงเทพ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.09.19
กรุงเทพฯ
170919-TH-demonstrator-1000.jpg นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นำประชาชนรำลึกการรัฐประหาร 2549 ครบรอบ 11 ปี ที่สกายวอล์คหน้า หอศิลป์กรุงเทพฯ 19 กันยายน 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวาระครบรอบ 11 ปี ของการทำรัฐประหารในปี 2549 (19 กันยายน 2560) นี้ ประชาชนจำนวนประมาณ 30 คน ได้รวมตัวกันที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อขับไล่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ายึดอำนาจและปกครองประเทศไทยตั้งแต่ปี 2556 โดยระบุว่า จะไม่ยอมให้ คสช.ปกครองประเทศจนครบ 4 ปี ด้านนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีทวีตข้อความระลึกถึงการถูกยึดอำนาจเมื่อ 11 ปีก่อน

นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ "จ่านิว" นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าวปราศรัยในวาระครบรอบ 11 ปี ของการยึดอำนาจโดย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่า ประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหารโดยทหาร ทั้งการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และความตกต่ำทางเศรษฐกิจ จึงอยากให้ รัฐบาล คสช.ลงจากอำนาจ และคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน

“ต่อจากนี้อีกไม่นาน เราจะส่งเสียงขับไล่เผด็จการที่ครอบงำ และทำให้ประเทศเราเฮงซวยมากว่า 11 ปี ผมประกาศ ณ จุดนี้ว่า เราจะต้องไม่ให้มีปีที่ 4 ของ คสช. 3 ปี มันเกินพอ มันเกินทนแล้ว มันถึงจุดอิ่มตัวที่ประชาชนจะทนแล้ว ทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชน และเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงทุกวัน” นายสิรวิชญ์กล่าว

“หยุดความเฮงซวย ลบล้างวงจรอุบาทว์ ทั้ง คสช. และ คมช. หรือไม่ว่าใครก็ตามที่คิดจะยึดอำนาจของประชาชน วันนี้เราจะไม่ยอม หลักการนิติรัฐ นิติธรรมย่อมเกิดไม่ได้จากการรัฐประหาร ประชาธิปไตยย่อมไม่เกิดจากกระบอกปืนแน่นอนอยู่แล้ว... เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” นายสิรวิชญ์กล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา พิธีกรรายการโทรทัศน์ช่องวอยซ์ทีวี ระบุว่า ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลทหารทำให้ กระบวนการยุติธรรมขาดความยุติธรรม มีการถูกเลือกปฎิบัติ ซึ่งสร้างความเจ็บช้ำให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดี

“ความเจ็บช้ำน้ำใจจากรัฐประหาร คือ ประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิทางการเมือง และสิทธิพลเมือง เราไม่ได้รับอนุญาตให้มีการเลือกตั้ง แม้แต่การทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ก็เป็นการให้ข้อมูลแค่ฝ่ายเดียว เป็นประชามติที่ปิดปากประชาชน ยังมีน้องนักศึกษาอีกมากมายที่ถูกดำเนินคดี” น.ส.ณัฏฐากล่าว

การรวมตัวจัดกิจกรรมของกลุ่มประชาชนครั้งนี้ มีคนเข้าร่วมกว่า 30 คน โดยใช้เวลาดำเนินกิจกรรมราว 1 ชั่วโมง มีการใช้เครื่องเสียงปราศรัย บนทางเชื่อมของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม กับสนามกีฬาแห่งชาติ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเฝ้าสังเกตการณ์ ในบริเวณใกล้ๆ แต่ไม่ได้มีการขัดขวางการจัดกิจกรรมแต่อย่างใด

ในวันเดียวกัน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ถึง วันครบรอบ 11 รัฐประหาร คมช. เช่นกัน โดยระบุว่า “ผมหวังว่า คนไทยจะไม่หลงลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 11 ปีที่แล้ว” และ “ผมยังคงเป็นห่วงความเป็นอยู่ของชีวิตประชาชนไทย และจะห่วงตลอดไป”

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัชญาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น นำผู้บัญชาการเหล่าทัพ

ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ซึ่งถูกต่อต้านโดยประชาชนบางกลุ่ม โดยอ้างเหตุผลว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการ ได้ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างรุนแรง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างกว้างขวาง ทั้งยังมีพฤติกรรมแทรกแซงอำนาจขององค์กรอิสระจนไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ หรือแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติให้ลุล่วงไปได้

“หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางโอกาส ยังหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… จึงมีความจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจจากการปกครองแผ่นดิน เพื่อควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ของประเทศให้กลับคืนสู่สถานะปกติ” พล.อ.สนธิระบุ ในตอนหนึ่งของประกาศยึดอำนาจ

หลังการยึดอำนาจ พล.อ.สนธิ เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และบริหารประเทศจนถึงวันที่ 29 มกราคม 2551 ต่อมานายสมัคร สุนทรเวช ตัวแทนพรรคพลังประชาชน ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550

ขณะที่ คสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และบริหารประเทศจนถึงปัจจุบัน โดยยังไม่มีการระบุวันเลือกตั้ง หรือคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน

นักรัฐศาสตร์มอง ยิ่ง คสช. อยู่นาน ยิ่งยากที่จะคืนประชาธิปไตย

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนา “อย่าให้เสียของ?: ประชาธิปไตย 99% และประชารัฐในระบอบรัฐประหาร 2557” วันเดียวกันว่า จากการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยพบว่า หากรัฐบาลทหารอยู่ในอำนาจยาวนาน จะทำให้การยอมการกลับสู่ประชาธิปไตยของประเทศ ทำได้ยาก โดยยกตัวอย่าง การยึดอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งสืบทอดอำนาจต่อถึง จอมพลถนอม กิตติขจร และการยึดอำนาจของ พล.อ.สงัด ชลออยู่ ซึ่งนำไปสู่อำนาจในลักษณะที่เรียกว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบ

“ทำยังไงที่จะไปสู่การเลือกตั้ง เผด็จการตายเอง ลุกฮือ เผด็จการปฏิวัติตัวเอง ไม่มีการเลือกตั้งง่ายๆ ถ้าอยู่นาน เขาไม่ให้กันง่ายๆ ประชาธิปไตยเต็มใบ นี่คือบทเรียนจากประวัติศาสตร์... มีการคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้ง มี.ค.-พ.ย.ปีหน้า ซึ่งมีเงื่อนไขว่ากฎหมายลูกต้องเสร็จ ก็เถียงกันว่าจะเสร็จกี่ฉบับ เราไม่แน่ใจว่าจะเกิด เพราะว่า อาจจะเลื่อนไปด้วยอภินิหารทางกฎหมาย หรืออภินิหารทางอำนาจอื่นๆอีก” ผศ.ดร.พิชญ์กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง