เจ้าหน้าที่จับยาบ้ามูลค่า 100 ล้านบาท ในชายแดนใต้

มารียัม อัฮหมัด
2018.10.23
ปัตตานี
181023-TH-drugs-deepsouth-800.jpg พล.ต.ปิยพงษ์ วงศ์จันทร์ ผบ.ฉก.ปัตตานี (คนที่สองจากซ้ายมือ) พร้อมด้วยนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผวจ.ปัตตานี (คนกลาง) และเจ้าหน้าที่ระดับสูง แสดงของกลางเป็นยาเสพติดและอาวุธปืน ที่มณฑลทหารบกที่ 46 จ.ปัตตานี วันที่ 23 ต.ค. 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

พล.ต.จตุพร กลัมพสุต รองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวถึงผลการกวาดล้างยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในห้วงเวลาระหว่างวันที่ 18-23 ตุลาคม 2561 นี้ว่า เจ้าหน้าที่สามฝ่ายสามารถจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดรายใหญ่ได้ 4 คน ในการจับกุมสองเหตุ และสามารถยึดของกลางเป็นยาบ้า 3 แสนเม็ด รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการปราบปรามภัยแทรกซ้อน

พล.ต.จตุพร กลัมพสุต รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การกวาดล้างครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ทราบเบาะแสจากสายข่าวว่าจะมีการลำเลียงยาเสพติดจากภาคเหนือของประเทศไทย มาจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ขยายผลจับกุม โดยรายแรกสามารถจับกุมสมาชิกแก๊งค์ค้ายาได้สามรายที่อำเภอสายบุรี ปัตตานี เมื่อเวลาเกือบสามทุ่ม ของวันที่ 18 ตุลาคม 2561

“ตำรวจได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า จะมีการลำเลียงยาเสพติดจากชายแดนทางภาคเหนือ เพื่อมาจำหน่ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่าง 18 ตุลาคม จนถึงวันนี้ จึงได้ดำเนินการจับกุม... ทหาร ตำรวจ และปกครอง ได้ร่วมกันทำการสืบสวน จนทราบว่าจะมีการลำเลียงยาเสพติดโดยรถยนต์บรรทุกหัวลาก สีขาว จึงได้ร่วมกันวางแผนตรวจยึดของกลาง มูลค่าราว 100 ล้าน” พล.ต.จตุพร กล่าว

“พบรถบรรทุกลักษณะตามแหล่งข่าว จึงได้ทำการตรวจพบ นายอานุวี ดอเลาะ อายุ 30 ปี ชาวจังหวัดนราธิวาส ผู้ขับขี่ และยาบ้าของกลาง 200,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในรถยนต์คันดังกล่าว เขาให้การสารภาพว่า รับจ้างในราคา 100,000 บาท ให้นำของกลางส่งต่อให้กับชาวบ้านที่นราธิวาส” พล.ต.จตุพร กล่าวเพิ่มเติม

หลังการจับกุมนายอานุวี เจ้าหน้าที่จึงได้สืบสวนขยายผล และสามารถจับกุมนายสุริยา เซ็งแม อายุ 29 ปี ชาวจังหวัดปัตตานี และนายซารีฟ อับดุลลา อายุ 26 ปี ชาวจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นผู้มารอรับยาเสพติดเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ และได้ยึดของกลางจากผู้ต้องหาทั้งหมดได้เป็น ยาบ้า 200,000 เม็ด รถยนต์บรรทุกหัวลากเทรลเล่อร์ 1 คัน รถยนต์เก๋ง 1 คัน รถจักรยานยนต์ 1 คัน และโทรศัพท์มือถือ 5 เครื่อง เพื่อเอาไว้ตรวจสอบ

“เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา บุคคลทั้งหมดในความผิดร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย” พล.ต.จตุพร ระบุ

พล.ต.จตุพร กล่าวอีกว่า ในวันที่ 19 ตุลาคม 2561 เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมนายกำแพง ชาธิพา อายุ 43 ปี ชาวจังหวัดสงขลา พร้อมของกลางเป็นยาบ้าซึ่งถูกซุกซ่อนในกล่องกระดาษจำนวน 1 แสนเม็ด บริเวณแยกคลองหวะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยผู้ต้องหารับสารภาพว่า ได้ค่าจ้าง 100,000 บาท เพื่อนำมาส่งให้กับเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อกล่าวหา มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

สรุป การจับกุมทั้งสองครั้ง เจ้าหน้าที่สามารถคุมตัวผู้ต้องหาได้ 4 ราย พร้อมของกลางเป็นยาบ้า 3 แสนเม็ด รวมมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท

นอกจากนั้น มีการตรวจค้นบ้านของผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติดรายย่อย ในอำเภอต่างๆ ของปัตตานี อีก 7 เป้าหมาย สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้อีก 4 ราย พร้อมทั้งยึดของกลางเป็นยาเสพติด และอาวุธปืนพร้อมด้วยเครื่องกระสุนปืนขนาดต่างๆ และระเบิดลูกเกลี้ยงอีก 2 ลูก

ด้าน พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ มีนโยบายปราบปรามยาเสพติด นำมาสู่การจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจำนวนมาก ในห้วงเวลานี้ โดยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่งระบุว่า ปัญหายาเสพติด คือปัญหาเร่งด่วนที่จะแก้ไขในช่วง 3 เดือนแรกของการรับตำแหน่ง

“จากการพบปะผู้คนหลากหลาย ทั้งพี่น้องพุทธ มุสลิม ยืนยันชัดเจนเสียงเดียวว่ายาเสพติดขณะนี้แพร่ระบาดมาก เป็นความทุกข์ยากในใจพี่น้องประชาชน จะเน้น 3 เดือนนี้โดยเร่งด่วน หัวใจหลักในการเอาชนะยาเสพติดพื้นที่ คือ ตั้งศูนย์อำนวยการอำเภอ” พล.ท.พรศักดิ์ กล่าวในขณะนั้น

ในวันนี้ พล.ท.พรศักดิ์กล่าวว่า "เราต้องกำจัดผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยที่อยู่ในทุกๆ หมู่บ้านทุกๆ ตำบลให้หมดไปเพื่อให้การซื้อขายยาเสพติดเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ฉะนั้น กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ต้องเป็นหลักเพื่อแก้ปัญหาลูกบ้านในทุกๆ บ้าน ส่วนเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป”

ขบวนการค้ายาหนุนขบวนการก่อความไม่สงบ

พล.ต.จตุพร กลัมพสุต สมัยดำรงตำแหน่ง ผบ.ฉก.ปัตตานี เคยเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561ว่า ขบวนการค้ายาเสพติด ได้เอื้ออำนวยผลประโยชน์กับขบวนการก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานาน

"ขบวนการยาเสพติดกับขบวนการก่อความไม่สงบจากหลักฐานที่ได้หลายครั้ง สามารถยืนยันได้ว่ามีส่วนเกี่ยวโยงกัน พวกเขาเอื้อประโยชน์กัน... แต่การติดตามหาหลักฐานของขบวนการเหล่านี้มีความซับซ้อนยากลำบาก และมีการตัดตอน ดังนั้นการใช้กฏหมายร่วมกัน ก็จะสามารถทำให้พบข้อมูลได้” พล.ต.จตุพรกล่าว

พล.ต.จตุพรกล่าว ได้ยกตัวอย่างข้อมูลที่เกิดขั้นในปี 2556 ว่ามีพ่อค้ายาจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้แก่กลุ่มก่อเหตุชายแดนใต้ ฟอกเงิน หรือจ้างวานให้ยิงสังหารคู่กรณีเมื่อเกิดความขัดแย้งในการค้ายาเสพติด

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในปี 2556 ได้มีการจับกุมขบวนการยาเสพติด จับพ่อค้ายาเสพติดรายหนึ่งที่สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส คือนายมะ โคลัมเบีย เขายอมสารภาพว่าได้จ่ายเงินค่าคุ้มครองให้กับผู้ก่อเหตุหลายครั้ง ผู้ก่อเหตุรุนแรงที่รับเงินไป คือ นายมาหามะสิดิก อาลี และนายมะคอยรี สือแม ซึ่งคนกลุ่มนี้ เขาเปิดโรงเรียนสอนอ่านคัมภีร์อัลกุรอานบังหน้าอยู่ในประเทศมาเลเซีย” พล.ต.จตุพรกล่าว

“พวกเขาจะใช้ช่องทางการบริจาคและใช้ขบวนการฟอกเงิน โดยใช้เครือข่ายเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง เป็นผู้ดำเนินการผ่านขบวนการโอนเข้าบัญชีขององค์กรการกุศลบังหน้า สมมุติว่าเขาโอนเงินมาหนึ่งล้านบาท องค์กรการกุศลก็จะได้สองแสนบาท ขบวนการเอาไปแปดแสน นี่คือกระบวนการการฟอกเงิน” พล.ต.จตุพร อธิบาย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง